xs
xsm
sm
md
lg

ศาลจีนตัดสินโทษตายผู้ผลิต “สารเร่งเนื้อแดง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กำลังเก็บตัวอย่างปัสสาวะจากสุกรในมณฑลเหอหนัน หลังจากข่าวอื้อฉาวมีการเติมสารเคลนบูเทอรอล หรือสารเร่งเนื้อแดง ลงในอาหารเลี้ยงสุกร ซึ่งทำให้สัตว์เติบโตโดยไม่มีไขมันสะสม แต่สารเคลนบูเทอรอลเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ หากสารฯดังกล่าวสะสมในร่างกายเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความผิดปกติในโครงสร้างโครโมโซม และเกิดก้อนเนื้อร้าย (ภาพรอยเตอร์)
เอเยนซี - ศาลประชาชนชั้นกลางจีนในมณฑลเหอหนัน ตัดสินโทษประหารชีวิตผู้ผลิต “สารเร่งเนื้อแดง” ขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสารดังกล่าวอีก 4 คน ถูกตัดสินจำคุกตั้งแต่ 9 เดือน จนถึงตลอดชีวิต

ศาลประชาชนชั้นกลางเทศบาลเมืองเจียวโจว มณฑลเหอหนัน ได้ตัดสินโทษประหารชีวิต นายหลิว เสียง โดยรอลงอาญา 2 ปี ในข้อหาผลิตและขายสารเคมีต้องห้ามเคลนบูเทอรอล (clenbuterol) หรือ สารเร่งเนื้อแดง มากกว่า 2,700 กิโลกรัม ขณะเดียวกัน นายสี จงเจี๋ย ผู้ร่วมผลิตและจำหน่ายสารดังกล่าวถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากนี้ นายเฉิน อี้ว์เหวย และ นายเสี่ยว ปิง ถูกตัดสินโทษจำคุก 14 ปี และ 15 ปีตามลำดับ ในข้อหาจำหน่ายสาร ขณะที่ นางหลิว หงหลิน ภรรยาของ นายหลิว เสียง ถูกตัดสินจำคุก 9 ปี ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับสามีผลิตสารต้องห้ามดังกล่าว


นายหลิว และ นายสี ซึ่งเคยเป็นพนักงานบริษัทยาด้วยกันมาก่อน ได้ร่วมกันผลิตและจำหน่ายสารเร่งเนื้อแดงแก่บรรดาเกษตรกรในมณฑลต่างๆ 8 แห่ง รวมทั้ง อันฮุย ซานตง และ เหอหนัน โดย นายหลิว ได้เริ่มผลิตสารต้องห้ามดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2550 และมีโรงงานอยู่ที่อำเภอหนันจัง มณฑลหูเป่ย มีรายได้จากการขายสารดังกล่าวทั้งสิ้นมากกว่า 2.5 ล้านหยวน(ราว 11.5 ล้านบาท)

สำหรับ นายเสี่ยว ปิง ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสารเร่งเนื้อแดงในมณฑลเหอหนัน ได้ซื้อสารจากนายหลิวในราคากิโลกรัมละ 2,000 หยวน (ราว 9,200 บาท) มาขายให้เกษตรกรในมณฑลอันฮุย และ เหอหนัน ในราคากิโลกรัมละ 3,000-4,000 หยวน (ราว 13,800-18,400 บาท) มีรายได้โดยรวมจากการขายสาร 600,000 หยวน (ราว 2.7 ล้านบาท) ขณะที่ นายเฉิน อี้ว์เหวย ได้ขายสารต้องห้ามดังกล่าวไปมากกว่า 600 กิโลกรัม ได้เงินมามากกว่า 700,000 หยวน (ราว 3.2 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ศาลประชาชนฯ ได้ตั้งข้อหาทำลายความมั่นคงสาธารณะด้วยวิธีการอันตราย แก่จำเลยทั้ง 5 คน

เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สื่อจีนได้รายงานข่าวอื้อฉาวความปลอดภัยด้านอาหาร โดยนำภาพเกษตรกรเลี้ยงสุกรในมณฑลเหอหนัน กำลังผสมสารเคมีต้องห้ามดังกล่าวลงในอาหารสุกร นอกจากนี้ ยังได้เผยภาพกลุ่มผู้ตรวจสอบทำไม่รู้ไม่เห็นการละเมิดดังกล่าว หลังจากที่รับสินบนจากผู้เลี้ยง

ขณะที่สถานีโทรทัศน์กลางจีน หรือ ซีซีทีวี ได้เผยเมื่อเดือน มี.ค.ว่า บริษัท จี้หยวนซวงฮุ่ย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซวงฮุ่ย กรุ๊ป ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อหมูรายใหญ่สุดของประเทศจีน ได้รับซื้อสุกรจากฟาร์มสุกรที่เลี้ยงด้วยสารเร่งเนื้อแดงโดยไม่ตรวจสอบ และนำเนื้อสุกรปนเปื้อนสารไปขาย

หลังจากที่เหตุอื้อฉาวสุกรปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงดังกล่าวได้แพร่ออกไป ส่งผลให้บริษัท จี้หยวนซวงฮุ่ย ขาดทุนกว่า 30 ล้านหยวน (ราว 138 ล้านบาท) ยอดขายเนื้อหมูในช่วงปีที่ผ่านมาลดลงถึง 49.76 เปอร์เซ็นต์ และส่งผลให้ฟาร์มเลี้ยงสุกรหลายแห่งขาดทุนโดยรวมกว่า 160 ล้านหยวน (ราว 737 ล้านบาท)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศาลประชาชนชั้นกลางเมืองชิ่นหยัง มณฑลเหอหนัน ได้ตัดสินจำคุก 5-6 ปี อดีตเจ้าหน้าที่สถานีตรวจสอบโรคระบาดเมืองชิ่นหยัง จำนวน 3 คน ได้แก่ นายหวัง เอ๋อร์ถวน นายหยัง เจ๋อ และ นายหวัง หลี่หมิง ในข้อหาละเลยหน้าที่ จากกรณีที่ปล่อยให้เกษตรกรนำหมูไปขายกว่า 38,000 ตัว โดยไม่ตรวจสอบก่อน

ขณะที่รัฐบาลจีนได้สั่งพักงานเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าของสำนักงานดูแลปศุสัตว์ 3 แห่งในมณฑลเหอหนัน พร้อมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่อีกราว 30 คน จากการปล่อยให้มีการขายสุกรปนเปื้อนสารต้องห้ามดังกล่าว

ซวงฮุ่ย กรุ๊ป ได้ปลดพนักงานรวมทั้งผู้จัดการทั่วไปของบริษัท จี้หยวนซวงฮุ่ย เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งประกาศว่าจะทำลายเนื้อหมูที่ต้องสงสัยว่าปนเปื้อนสารดังกล่าวราว 3,800 ตัน

กระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานอาหารและยาของจีน ได้สั่งห้ามใช้สารเคลนบูเทอรอล ตั้งแต่เมื่อปี 2545 แต่เกษตรกรจำนวนมากเสี่ยงที่จะฝ่าฝืนกฎ เนื่องจากการขายสุกรที่เลี้ยงด้วยสารดังกล่าว ได้ผลกำไรดี

ทั้งนี้ เคลนบูเทอรอล หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “สารเร่งเนื้อแดง” เป็นสารที่ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตโดยไม่มีไขมันสะสม เพิ่มความแน่นของกล้ามเนื้อ ผู้เลี้ยงจึงชอบผสมในอาหารสัตว์ที่เลี้ยงเอาเนื้อ สำนักงานดูแลความปลอดภัยและคุณภาพอาหารแผ่นดินใหญ่ ได้ห้ามการใช้สารเคมีนี้ในการเลี้ยงสุกรเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน แขนขาหมดแรง มือสั่น เป็นต้น หากสารฯดังกล่าวสะสมในร่างกายเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความผิดปกติในโครงสร้างโครโมโซม และเป็นมะเร็ง อีกทั้งอาจทำให้เป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น