ไชน่า เดลี่—เงินหยวนแข็งค่าเหนือระดับ 6.5 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกนับจากปี 2536 หรือเป็นการทุบสถิติในรอบ 18 ปี โดยการแข็งค่าครั้งนี้ เนื่องมาจากกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจีนจะใช้อัตราแลกเปลี่ยน ช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ ที่เรื้อรังฉุดไม่ลงมาสองปีแล้ว
เหรินหมินปี้ หรือค่าเงินหยวน บ่ายหน้าสูงขึ้นๆต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่เจ็ดแล้ว และอาจสงบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำอเมริกันต่อนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจีน ก่อนที่รองนายกรัฐมนตรี นาย หวัง ฉีซัน จะเดินทางไปกรุงวอชิงตันในเดือนหน้า เพื่อถกกิจการเศรษฐกิจกับขุนคลัง นาย ทิโมธี ไกธ์เนอร์
จีนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจรายใหญ่สุดของเอเชีย กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างสาหัส โดยราคาผู้บริโภคในเดือนมี.ค. ทะยานสูง 5.4 เปอร์เซนต์ จากปีก่อนหน้า เกินเป้า 4 เปอร์เซนต์ ที่รัฐบาลได้ตั้งไว้สำหรับปีนี้
สำนักงานกำกับดูแลด้านการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีน (China Foreign Exchange Trading System) เงินหยวนแข็งค่าขึ้น 0.16 เปอร์เซนต์ ปิดที่ 6.4910 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในตลาดเซี่ยงไฮ้ โดยก่อนหน้านี้ หยวนแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 17 ปี ที่ระดับ 6.4892 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ และในเดือนนี้ เงินหยวนแข็งค่า 0.9 เปอร์เซนต์ สำหรับในตลาดฮ่องกง เหรียญฮ่องกงต่อดอลลาร์ ดีดตัวขึ้น 0.28 เปอร์เซนต์ เท่ากับ 6.4645
ทั้งนี้ ธนาคารประชาชน หรือธนาคารกลางจีน ได้กำหนดค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยน ที่ 6.4990 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดของเงินหยวนนับจากปี 2548
“การที่ค่าเงินหยวนปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็วผิดปกติเช่นนี้ บ่งชี้ว่าผู้นำจีนกำลังใช้หยวนต่อสู้กับเงินเฟ้อแล้ว” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส นาย Dariusz Kowalczyk แห่ง Credit Agricole CIB ในฮ่องกงกล่าว
จากการติดตามข้อมูลของ บลูมเบิร์ก ระบุว่า ในเดือนนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 16 สกุลฯ ขณะที่เฟดรักษาอัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน ใกล้ระดับศูนย์ และอัดฉีดซับพลายสกุลเงินอเมริกันด้วยการซื้อพันธบัตร.