เอเอฟพี - สำนักสถิติแห่งชาติจีนแถลงวันนี้ (20 ม.ค.) เศรษฐกิจจีนปีที่ผ่านมา (2553) เติบโต 10.3 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นระดับที่ขยายตัวเร็วสุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจฯ ปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน
ตัวเลขการเติบโตฯนี้ทำให้หลายฝ่ายมีความหวังมากขึ้นว่า ค่าเงินหยวนจะแข็งค่ามากขึ้น ในขณะที่จีนระดมมาตรการหลากหลายมายับยั้งเงินเฟ้อที่บานปลายทะลุเป้าของรัฐบาล นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำสหรัฐฯก็ได้เรียกร้องประธานาธิบดีหู จิ่นเทาที่มาเยือนวอชิงตันสัปดาห์นี้ เร่งการปรับค่าเงินหยวน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ไตรมาส 4 ปี 2553 อยู่ที่ 9.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเทียบกับปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 9.2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์ และชี้ให้เห็นพลังเศรษฐกิจจีนที่สามารถแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจลำดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ
หม่า เจี้ยนถัง คณะกรรมการสำนักสถิติแห่งชาติบอกกับนักข่าวว่า “ช่วงนี้ เศรษฐกิจอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากระยะฟื้นตัวไปสู่เสถียรภาพ”
หม่ากล่าวว่า จีนจะเร่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหม่าอ้างถึงแผนการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มาจากปัจจัยการบริโภคภายในมากขึ้น และลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากภายนอก ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับสิ่งที่ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา บอกกับผู้นำด้านธุรกิจสหรัฐฯระหว่างการเยือนวอชิงตันเมื่อวันพุธ (19 ม.ค.) ว่า จีนจะเน้นการฟื้นฟูอุปสงค์และการใช้จ่ายภายในประเทศ
หุ้นในตลาดเอเชียตกไปตาม ๆ กันหลังจากที่จีนแถลงตัวเลขอัตราเติบโตเศรษฐกิจปีที่ผ่านมา ได้แก่ ตลาดหุ้นโตเกียว ร่วง 1.13 เปอร์เซ็นต์ ตลาดเซี่ยงไฮ้ ลดไป 1.10 เปอร์เซ็นต์ และตลาดฮ่องกงตกลงมา 1.15 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งตลาดซิดนีย์ ตก 0.97 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนั้นรายงานฯ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคหรือค่าซีพีไอซึ่งเป็นปรอทชี้วัดเงินเฟ้อ สูงขึ้นถึง 3.3 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า เกินกว่าเป้าที่จีนตั้งไว้ทั้งปีคือ 3 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องจากราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธ.ค. 53 เงินเฟ้อจีนชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 4.6 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี ซึ่งเดือนก่อนหน้า (พ.ย. 53) อยู่ที่ระดับ 5.1 เปอร์เซ็นต์ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบสองปี โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงในเดือน ธ.ค. กระตุ้นให้ธนาคารกลางจีนปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และออกมาตรการคุมเข้มการปล่อยเงินกู้ของบรรดาธนาคารต่าง ๆ
หม่า สำทับว่า “เราควรจะมั่นใจว่า เราจะประสบความสำเร็จในปี 2554”
ส่วนตัวเลขผลผลิตจากบรรดาโรงงานและแหล่งผลิตต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 15.7 เปอร์เซ็นต์ เร็วกว่าปี 2552 เมื่อผู้ผลิตเร่งผลิตสินค้าให้ทันตามความต้องการของตลาดที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ พีพีไอ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดราคาของสินค้าจากโรงงาน กระโดดขึ้นมา 5.9 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่การลงทุนสินทรัพย์ถาวรในเมือง ซึ่งเป็นเครื่องมือชี้วัดการใช้จ่ายด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 24.5 เปอร์เซ็นต์ ช้ากว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีมูลค่าการค้าปลีก ซึ่งเป็นเครืองมือในการวัดการใช้จ่ายผู้บริโภค สูงขึ้น 18.4 เปอร์เซ็นต์