โกลบอลไทมส์ - นักเศรษฐศาสตร์โต้แย้งการทำนายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจจีนจะเบียดสหรัฐฯ ครองตำแหน่งชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกภายในห้าปีข้างหน้า
การทำนายดังกล่าวนำลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของไอเอ็มเอฟอย่างเงียบ ๆเมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจ (economic output) แดนมังกรจะแซงหน้ามะกันในปี 2559 โดยมีมูลค่าถึง 19 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อพิจารณาจากความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (purchasing power parity -PPP)
ไอเอ็มเอฟยังระบุว่า ในช่วงเริ่มการปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนมีส่วนแบ่งในผลผลิตทางเศรษฐกิจของโลกเพียง 2.2 % ในปี 2523 ต่อมาส่วนแบ่งได้ขยายถึง 7 % ในปี2543
ปัจจุบันจีนมีส่วนแบ่งที่ 14% และไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของจีนจะมีส่วนแบ่งสูงที่สุดในโลกในปี 2559 เป็น 18% ขณะที่สหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 17.7 %
นายดีเร็ก ซิสเซอร์ส นักวิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจเอเชียของสถาบันเฮริเทจ ฟาวเดชั่นในกรุงวอชิงตันโต้แย้งว่า การเปรียบเทียบเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ โดยพิจารณาตามทฤษฎีความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มาถูกทิศทางแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลุมพรางอีกมากมาย ที่อาจทำให้ผลการเปรียบเทียบบิดเบือนไปได้
เขาอธิบายว่า สำหรับชาติที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความหลากหลายอย่างจีนและสหรัฐฯ นั้น ความแตกต่างในอำนาจซื้อภายในแต่ละประเทศย่อมมีมากมายตามไปด้วย ฉะนั้น การหาราคาเฉลี่ยทั้งหมดในสหรัฐฯ หรือในจีนจึงเกือบไม่มีความหมาย นอกจากนั้น การเปรียบเทียบอำนาจซื้อในช่วงเวลาหนึ่งอาจทำให้หลงทางในอีกไม่กี่ปีต่อมา เนื่องจากราคาย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันในสถานที่ต่างกัน
ท่ามกลางการถกเถียงกันอย่างไม่หยุดหย่อนว่า เศรษฐกิจจีนจะโตแซงหน้าสหรัฐฯเมื่อใดนั้น ฝ่ายเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ของจีนเองกลับกล่าวเตือนอย่างสุขุมว่า จีนยังคงเป็นชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งเผชิญปัญหาต่าง ๆ มากมายในการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ เคยมีการทำนายก่อนหน้าโดยธนาคารโลก, บริษัทโกลด์แมนแซคส์ และสถาบันอื่น ๆ ว่า จีนอาจแซงหน้าสหรัฐฯ เป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลกในราวปี 2568
ด้านนายโจว ซื่อเจี้ยน นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนของมหาวิทยาลัยชิงหวาระบุว่า การทำนายของไอเอ็มเอฟเป็นความพยายามประจบยกยอจีนของชาติตะวันตก นอกจากนั้น ยังชี้ว่าสหรัฐฯ ยังมีข้อได้เปรียบจีน 3 ประการใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าจีนถึงเกือบ 3 เท่า, การลงทุนอย่างมหาศาลในด้านการวิจัยและพัฒนา ฉะนั้น จึงยังแข็งแกร่งมากในด้านนวัตกรรม ซึ่งจีนขาดอย่างมาก และข้อได้เปรียบผ่านทางเงินดอลลาร์ กล่าวคือสหรัฐฯ สามารถโยกย้ายความเสี่ยงไปยังชาติอื่น ๆได้ด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในกระทรวงการคลังของจีนยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตของจีนจะถูกเหนี่ยวรั้งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอย่างจำกัด และต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม