xs
xsm
sm
md
lg

รายงานชี้ แม้ศก.จีนแซงญี่ปุ่น แต่รายได้เฉลี่ยฯ ต่อหัว ยังห่างกัน 10 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขาช็อปเดินอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าในกรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ (14 ก.พ.) ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนแซงหน้าญี่ปุ่นในปี 2553 ขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับสองของโลก เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวกอปรกับการบริโภคภายในอ่อนลงอย่างมาก (ภาพเอเฟพี)
โกลบอลไทมส์ - ช่วงเดือน ส.ค. ปี 2553 มีรายงานว่า เศรษฐกิจจีนแซงญี่ปุ่นขึ้นแท่นมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ตามทางฝั่งรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งจะเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2553ของตน รับวันวาเลนไทน์(14 ก.พ.) ที่ผ่านมานี้เอง

สถิติ 2 ชาติ เผยว่า ในปี 2553 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีของญี่ปุ่นอยู่ที่ 5.47 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าโตเฉลี่ยปีละ 3.9 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับจีนซึ่งอยู่ที่ 5.88 ล้านล้านดอลลาร์ ขยายตัวมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์

ยูคิโอะ เอดาโนะ ประธานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี เมื่อวันจันทร์ (14 ก.พ.) โดยกล่าวแสดงความเห็นตอบโต้ ว่า “การเปรียบเทียบด้วยจีดีพี ว่าจีนแซงหน้าญี่ปุ่นนั้น ไม่ค่อยชี้วัดอะไรมากนัก ผมเสนอให้เปรียบเทียบด้วยรายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรหรือ per-capita GDPs แทน และหากใช้การเทียบรายได้ฯ ก็จะพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนญี่ปุ่นมากกว่าคนจีนถึง 10 เท่า”

เอดาโนะ กล่าวต่อว่า “ประเด็นสำคัญสำหรับญี่ปุ่นตอนนี้คือ จะใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งของญี่ปุ่นร่วมมือกับการขยายตัวเศรษฐกิจจีนเพื่อลูกหลานในอนาคต เราไม่ต้องการชิงตำแหน่งทางเศรษฐกิจอย่างที่หลายคนคาดหวัง แต่เราต้องการให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมากกว่า”

เศรษฐกิจจีนกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า จีนจะแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกในอีกไม่ถึง 20 ปี ขณะที่บีบีซีรายงานว่า มีคำทำนายที่แรงกว่านั้นชี้ว่า จีนจะสามารถแซงสหรัฐฯได้ภายในอีกทศวรรษเท่านั้น

นักวิเคราะห์ของจีนยังคงสงสัยอยู่ไม่น้อย ว่าจะเป็นเช่นนั้นไปได้อย่างไร

ฉี่ว์ หงปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีฮ่องกง ให้สัมภาษณ์กับโกลบอลไทมส์ว่า “มันยังเร็วเกินไปสำหรับความฝันที่จีนจะครองแชมป์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาประชากรที่แออัดยัดเยียด กอปรกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวยังคงน้อยนิดจนมิอาจเทียบชั้นอเมริกาได้ ดังนั้นตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จีนจะมาอวดดีว่าตนได้เลื่อนตำแหน่งมหาอำนาจเศรษฐกิจ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่พุ่งพรวดนี้คงไม่มีความหมายเลย ถ้าประชาชนและสวัสดิการสังคมยังคงล้าหลัง”

โจว ซื่อเจี้ยน รองคณบดีประจำศูนย์วิจัยสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มหาวิทยาลัยชิงหวา ชี้ว่า “จีดีพี” เป็นเพียงเครื่องมือที่สหรัฐฯ ไว้ใช้หลอกล่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เพื่อต้องการสลัดทิ้งความรับผิดชอบของมหาอำนาจเท่านั้น

โจวชี้ว่า การคิดหาค่าจีดีพี ต้องคำนึงถึงค่า “เอฟดีไอ” หรือการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาเป็นตัวรับการลงทุนจากภายนอกมากกว่าที่จะออกไปลงทุนเอง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศนายทุนอยู่แล้ว ดังนั้นจีดีพีไม่ถือว่าชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ตามข้อมูลรัฐบาลจีนเดือน มี.ค. ปี 53 เอฟดีไอจีนเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทว่าของญี่ปุ่นเมื่อสิ้นปี 2552 อยู่ที่ 221,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง

โจวชี้ต่อว่า “การออกไปลงทุนนอกประเทศของจีนเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นยังสู้ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจะพิจารณาสถานะเศรษฐกิจของจีน เราควรใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีเอ็นพี ซึ่งจะไม่คิดรวมมูลค่าการลงทุนของบริษัทต่างชาติในจีน แต่จะคิดรวมมูลค่าที่บริษัทจีนออกไปลงทุนนอกประเทศ สรุปว่า จีเอ็นพี จะคิดทุกอย่างที่เป็นของจีนไม่เหมือนกับจีดีพี”

สำนักวิชาการเศรษฐอุตสาหกรรมจีนเผยว่า จีเอ็นพีของญี่ปุ่นในปี 2552 อยู่ที่ 5.75 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ของจีนอยู่ที่ 4.13 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น

โจวเสริมต่อว่า “ความจริงอีกประการที่ชี้ว่าจีนยังตามหลังญี่ปุ่นอยู่ ก็คือ หลังจากการปฏิรูปไอเอ็มเอฟในเดือน พ.ย.2553 จีนก็ยังคงอยู่ตำแหน่งรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในการได้รับอำนาจลงคะแนนเสียง ซึ่งตรงนี้สำคัญกว่าการพิจารณาจีดีพี”

ฉี่ว์เสริมว่า “เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาศาล หากมีการวางแผนให้ดี จีนก็สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้”

ฉี่ว์ ชี้ว่า นอกจากจะมองเรื่องการขยายตัวอย่างรวดเร็วแล้ว จีนยังต้องตัดสินใจเลือกหนทางการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพด้วย ฉี่ว์ยังทำนายด้วยว่า การขยายตัวเศรษฐกิจจีนจะค่อย ๆ ลดลงอยู่ที่ 8-10 เปอร์เซ็นต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

โจว แนะว่า “ประชาชนจีนควรใจเย็น ๆ และติดตามการเปลี่ยนแปลงต่อไป ขณะที่รัฐบาลจีนควรจะพยายามยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรให้เพิ่มขึ้น และควรจะช่วยให้ประชาชนมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น”

ฮารุโกะ ยาตาเบะ อาจารย์ชาวญี่ปุ่นโรงเรียนนานาชาติ ในโตเกียว ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเชื่อว่าศึกชิงอำนาจในรัฐบาลญี่ปุ่นและปัญหาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ก็ถือว่าช่วยจีนทางอ้อมให้แซงญี่ปุ่นไปได้ “นักการเมืองญี่ปุ่นหลายคนสนใจแต่คะแนนเสียงของตน พวกเขาไม่สนใจการพัฒนาระยะยาวของประเทศ นี่ช่างน่าผิดหวังนัก”

ซีเอ็นเอ็น รายงานวันจันทร์ (14 ก.พ.) เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซาเนื่องจากภาวะเงินฝืดราว 2 ทศวรรษ กอปรกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง เพราะใน 5 ปีนี้ ญี่ปุ่นเปลี่ยนนายกฯ ถึง 6 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น