เอเยนซี - เมื่อเผชิญกับการกดดันเรื่องนโยบายควบคุมการเงินจากสหรัฐฯ ดูเหมือนว่าจีนจะเต็มใจปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าเร็วขึ้น เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาหนักใจชิ้นเขื่องของรัฐบาลจีนในขณะนี้
จีนได้ปรับขึ้นค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์อีก 5 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปี 2553 พร้อมส่งสัญญาณว่า อัตราแลกเปลี่ยนฯจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์เงินเฟ้อ โดยนำมาใช้คุมการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและการขยายตัวของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
จีน ในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจลำดับสองของโลก ได้เข้าร่วมประชุมระดับสูงด้านเศรษฐกิจที่กรุงวอชิงตันในวันจันทร์ (9 พ.ค.) โดยสหรัฐฯได้แสดงความต้องการชัดเจนให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าเร็วขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญก็คาดว่า จีนจะเพิ่มความเร็วการขึ้นค่าเงินหยวนด้วยตัวเอง และหากการส่งออกชะงักก็ต้องหามาตรการอื่นมาสำรองไว้
อลิสแตร์ ธอร์นตัน นักเศรษฐศาสตร์แห่ง IHS Global Insight ในปักกิ่งให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี ว่า “เศรษฐกิจจีนในสองเดือนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนจีนเห็นด้วยว่า อัตราแลกเปลี่ยนฯ เป็นเครื่องมือแก้เงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างมาก”
แพทริก โชวาเน็ก ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา กรุงปักกิ่งก็เห็นด้วย พร้อมชี้ว่า “ผู้นำจีนกำลังแก้ปัญหาไฟลามทุ่ง ซึ่งก็คือปัญหาเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดยผู้นำฯ เต็มใจที่จะปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าเพื่อสู้ปัญหาเงินเฟ้อ แต่ก็เพียงระดับปานปลางเท่านั้น”
สหรัฐฯวิจารณ์นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนอย่างแข็งกร้าว อ้างว่าจีนกดดันค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าสู้เงินดอลลาร์เกินความเป็นจริง ทำให้สินค้าส่งออกของจีนราคาถูกทะลักเข้าสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้า
เมื่อวันจันทร์ (9 พ.ค.) ธนาคารกลางจีนตั้งค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนไว้ที่6.4988 ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดของเงินหยวน นับแต่เดือนมิ.ย. ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ เดวิด โลวิงเจอร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงกรมธนารักษ์ ชี้เมื่อวันพฤหัส (5 พ.ค.) ว่า “เมื่อต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อหนักข้อขึ้น พวกเราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลจีนอย่างชัดเจน18 เดือนที่ผ่านมาอัตราแลกเปลี่ยนฯ ของจีนถูกแช่แข็ง แต่วันนี้มันมีการขยับแล้ว”
จีนกังวลว่า ปัญหาเงินเฟ้ออาจนำมาสู่การจลาจลในประเทศ จีนจึงได้พยายามจัดการปัญหาราคาอาหารและอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูง ถือเป็นเรื่องใหญ่สุดประจำปีนี้
นอกจากนั้นยังมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง พร้อมเข้มงวดกวดขันการปล่อยกู้ของธนาคาร และมีมาตรการควบคุมราคา ซึ่งก็ช่วยผ่อนคลายปัญหาเงินเฟ้อได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เงินเฟ้อในเดือนมี.ค. ยังคงสูงอยู่ที่ 5.4 เปอร์เซ็นต์ซึ่งนับว่าสูงสุดตั้งแต่ก.ค. 2551
นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่าของจีน ให้คำมั่นเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า “จะเพิ่มความยืดหยุ่นในอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเพื่อลดความกดดันทางราคา พร้อมแนะให้ผู้นำระดับสูงยอมรับการขึ้นค่าเงินเพื่อช่วยให้ราคาสินค้าในประเทศลดลง”
อีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าปักกิ่งเปลี่ยนท่าทีในนโยบายเศรษฐกิจก็คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติจีน โจว เสี่ยวชวน เผยเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า ขนาดของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมีมากเกินจำเป็น
ธอร์ตัน มองว่า ความเคลื่อนไหวและความเห็นทั้งหมดเป็นสัญญาณว่า ทางเดียวที่จีนจะควบคุมทุนสำรองระหว่างประเทศได้คือ การแข็งค่าเงินหยวนมากขึ้น
ขณะนี้จีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 3 ล้านล้านดอลลาร์ มากสุดในโลก (มี.ค.) การเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ในคลังมาก ๆ และเพิ่มเงินหยวนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจภายในนั้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
โลวินเจอร์ชี้ว่า สหรัฐฯจะกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนของจีนเป็นธรรมมากขึ้น โดยให้จีนขึ้นค่าเงินหยวนให้เร็วกว่านี้ ขณะที่จีนได้ประกาศชัดเจนเมื่อวันศุกร์ (6 พ.ค.) ว่าจีนจะไม่ขึ้นค่าเงินเร็วในขนาดที่สหรัฐฯต้องการ แต่จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป