xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์กระตุ้นปักกิ่งปกป้องผลประโยชน์ในโลกอาหรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานจีนอพยพหนีเหตุจลาจลในลิเบียเดินทางถึงสนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2554 - ซินหัว
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - นักวิเคราะห์บนแผ่นดินใหญ่กระตุ้นรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉงกว่านี้ในการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในโลกอาหรับ แหล่งน้ำมันดิบมหาศาลของโลก ที่กำลังเกิด “การปฏิวัติดอกมะลิ” ลุกลามไปในหลายประเทศ ล่าสุดที่ลิเบีย ระบุจีนต้องเพิ่มแสนยานุภาพกองเรือในเขตทะเลหลวง

ศาสตราจารย์ หวัง ซัวเหลา ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการตะวันออกกลางของมหาวิทยาลัยปักกิ่งเสนอว่า รัฐบาลปักกิ่งควรเตรียมพร้อมเข้าแทรกแซงลิเบีย ภายหลังจากพันเอก มูอัมมาร์ กั๊ดดาฟี ผู้นำลิเบียหล่นจากอำนาจ และเข้าร่วมกับนานาชาติในการฟื้นฟูลิเบีย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจไปมากกว่านี้ หลังจากจีนได้ขาดทุนไปแล้ว ถึง 18,000 ล้านดอลลาร์จากสัญญาการก่อสร้าง ซึ่งยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อย ก็เกิดการจลาจลในลิเบียเสียก่อน นอกจากนั้น รัฐบาลปักกิ่งควรศึกษาการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนในชาติอาหรับ ซึ่งสถานการณ์การเมืองมักไร้ความแน่นอน ให้มากขึ้น และเรียนรู้การตอบโต้กับสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่

ขณะที่ดร. เหอ เหมาฉุน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาด้านการทูตเชิงเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยชิงหวาเห็นว่า จีนควรส่งเสริมขีดความสามารถของกองทัพเรือจีนในเขตทะเลหลวง และหาทางขยายอิทธิพลทางการเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนในภูมิภาคนั้น

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เรือฟริเกต “ซู่โจว ซึ่งติดตั้งขีปนาวุธ ได้เปลี่ยนภารกิจจากปฏิบัติการลาดตระเวนป้องกันโจรสลัดนอกชายฝั่งโซมาเลีย แล่นเข้ามาในน่านน้ำลิเบีย เพื่ออพยพพลเมืองจีน ซึ่งนับเป็นการใช้เรือรบในการขนพลเมืองจีนในต่างแดนเป็นครั้งแรกของกองทัพเรือแดนมังกร

ด้าน โกลบอล ไทมส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กึ่งทางการถึงกับเรียกร้องให้เร่งสร้างเรือบรรทุกเครื่องบิน เพื่อรักษาผลประยชน์ของจีนในทั่วโลก

นักวิเคราะห์บนแผ่นดินใหญ่ระบุว่า แม้การฟันธงว่าสถานการณ์นองเลือดในลิเบียจะกระตุ้นให้รัฐบาลปักกิ่งล้มเลิกนโยบายต่างประเทศ ซึ่งยึดหลักการไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่นอย่างที่จีนยึดถือมาโดยตลอดหรือไม่นั้น อาจเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป แต่สถานการณ์ในลิเบียก็กำลังบีบบังคับให้รัฐบาลจีนต้องประเมินกันใหม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ภูมิศาตร์การเมืองในภูมิภาค ซึ่งขายน้ำมันดิบให้จีนมากถึงราวครึ่งหนึ่งของการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดของจีนในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติคว่ำบาตรรัฐบาลลิเบีย จีน ซึ่งตามปกติมักคัดค้านการลงมติคว่ำบาตร แต่คราวนี้ก็ยกมือเห็นชอบด้วย
 
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันของจีนมองในแง่ร้ายมากกว่านักวิชาการเหล่านั้นสำหรับประเด็นที่ว่าจีนจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ประชาชนลุกฮือประท้วงขับไล่ผู้นำในชาติผู้ผลิตน้ำมัน

นายหวัง จวิน นักวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันของศูนย์เพื่อการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีนระบุว่า ราคาน้ำมันในจีนจะต้องพุ่งขึ้น หากราคาน้ำมันดิบโลกยังคงพุ่งทะยาน หลังจากปรับขึ้นไปแล้วอย่างน้อยร้อยละ 4 ในช่วง 22 วัน ที่ผ่านมา

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกผู้หนึ่งมองว่า อาจเกิดวิกฤตน้ำมันโลกขึ้นอีกครั้ง ถ้าสถานการณ์ขับไล่ผู้นำในลิเบีย บานปลายเป็นสงครามกลางเมือง และหากกองกำลังของชาติอื่นเริ่มเข้ามาแทรกแซงลิเบีย

นอกจากนั้น ไม่ว่าจีนจะเข้าแทรกแซงลิเบียหรือไม่ก็ตาม ภาพสถานการณ์โดยรวมสำหรับจีนก็จะไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือจีนยังต้องพึ่งพาน้ำมันดิบในตลาดโลกถึงร้อยละ 50 ของการใช้น้ำมันดิบในประเทศทั้งหมด และจีนยังต้องนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่มากจากประเทศ ซึ่งมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงเหล่านั้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น