เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - บรรดาผู้นำจีนผลักดันวัฒนธรรม เป็น “อุตสาหกรรมเสาหลัก” ของแดนมังกรภายใน 5 ปี หวังอาศัยวัฒธรรมจีนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ และเป็นอำนาจที่ “นุ่มนวล” (soft power) ในการขยายอิทธิพลของจีนบนเวทีโลก
ในการกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 12 ระหว่างปี 2554-2558 ซึ่งได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีนประจำปีเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ไปแล้วนั้น ได้รวมถึงการขยายอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน, สื่อสิ่งพิมพ์ , ภาพยนตร์, แอนิเมชั่น, ภาพยนตร์โทรทัศน์หลายตอนจบ และการแสดงในสาขาต่าง ๆ ซึ่งเป็นการขยายอุตสาหกรรมครั้งใหญ่โดยตั้งเป้าเพื่อการส่งออกอีกด้วย
คำว่า “อุตสาหกรรมเสาหลัก” มีคำจำกัดความอย่างคร่าว ๆ คือเป็นอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึงอย่างน้อย 2 ล้านล้านหยวนในปี 2558 โดยรัฐบาลปักกิ่งมีแผนลงทุนจำนวน 171,000 ล้านหยวนในด้านวัฒนธรรม, กีฬา และภาคสื่อสารมวลชนในปีนี้
นอกจากนั้น ในเอกสารข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนพัฒนาแห่งชาติระยะ 5 ปีดังกล่าวยังระบุว่า วัฒนธรรมหาใช่เป็นเพียง “จิตใจและวิญญาณของชาติ” เท่านั้น แต่ยังเป็นพละกำลัง ที่ทรงอำนาจสำหรับการพัฒนาประเทศอีกด้วย เอกสารข้อเสนอแนะนี้ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลังจากวิกฤตการเงินเมื่อปี 2552 ทางการจีนมองว่า อุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมอาจช่วยปรับความสมดุลระหว่างการสร้างการเติบโตของจีดีพีกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชน และการรักษาสิ่งแวดล้อม
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ของจีนต่างเห็นด้วยว่า อุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมจะช่วยให้จีนขยายอิทธิพลในโลกได้ เนื่องจากสาร ที่สื่อผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ล้วนส่งผลต่อทัศนคติของผู้คน
อุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมของจีนโตราวร้อยละ15-20 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา และรายได้ในปีที่แล้ว คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านหยวน จากข้อมูลของทางการ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การตั้งเป้าการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมของจีนจะบรรลุผล หากได้รับการสนับสนุนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น 3 จี และการเชื่อมโยงกันระหว่าง 3 เครือข่ายได้แก่เครือข่ายโทรทัศน์วิทยุ, เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภาครัฐได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรม แต่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่ง เช่นนายจู ต้าเค่อ นักวิชาการและนักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรม ผู้มีชื่อเสียงของจีน ระบุว่า ขณะนี้มีความเข้าใจกันผิด ๆ ว่าการทุ่มลงทุนจะส่งผลให้อุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมเกิดความแข็งแกร่ง
นายจู ยังกล่าวเตือนในเรื่องที่รัฐบาลมีความตั้งใจ ที่จะสร้างอุตสาหกรรมวัฒนธรรม โดยใช้ต้นทุนถูก แต่ให้ผลผลิตสูง และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาเรียกว่า “การกระโจนไปข้างหน้าครั้งใหญ่ของวัฒนธรรม” ว่า อาจส่งผลให้แหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบางแห่งต้องถูกทำลายไป
นอกจากนั้น หากจีนกำลังจะผลิตผลงาน ที่สร้างสรรค์ ทางการควรส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก มากกว่าการผูกขาดของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอาจปิดกั้นพลังความคิดสร้างสรรค์ของปัจเจกชนได้ และสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมเติบโตก็คือการมีอิสรภาพในการคิดสร้างสรรค์
“ หากปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผลงานที่สร้างสรรค์ย่อมไม่เกิดขึ้น” นายจูกล่าว
“ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะประสบความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยที่ไม่มีการสร้างระบบวัฒธรรมพื้นฐาน ซึ่งหมายถึงการปกป้องสิทธิ ที่จะคิดและจินตนาการ ซึ่งแต่ละบุคคลพึงมี ”