เอเอฟพี - ในเมืองจีนขณะนี้ไมโครบล็อกกำลังเป็นช่องทางระดมความคิดเห็นต่อต้านการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนยากจนในชนบท ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง และรัฐบาลจีนเองก็ดูมีทีท่าว่าไม่รังเกียจช่องทางการสื่อสารนี้
นาย อี้ว์ เจี้ยนหรง วัย 48 ปี อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เป็นผู้ที่ทำงานอย่างทุ่มเท เพื่อปกป้องสิทธิของคนยากจนในชนบท และต่อต้านการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของเจ้าหน้าที่รัฐมานานหลายปี
ล่าสุดเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา อาจารย์ผู้พูดจาขวานผ่าซากได้ตัดสินใจเปิดไมโครบล็อก ซึ่งเหมือนเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ ปรากฏว่า มีผู้สนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังมีการประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีนประจำปีในสัปดาห์นี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องฟังเสียงของประชาชนเหล่านี้
“ เทคโนโลยีในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในสังคมไปแล้ว ทุกคนมีไมโครโฟน ทุกคนมีกองบัญชาการด้านข่าวสาร” นายอี้ว์ อดีตนักกฎหมายพูดถึงการเปิดไมโครบล็อกระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจีนเมื่อไม่นาน
ที่ผ่านมา นายอี้ว์ได้รับเชิญให้เดินสายไปบรรยายเกี่ยวกับธรรมาภิบาลให้เจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศฟัง และเขาได้นำการบรรยายเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบ หรือการกดขี่ข่มเหงประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐ มาเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้
เมื่อเร็ว ๆ นี้เขายังโพสต์ข้อความเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญของจีนเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และยุติการกดขี่ข่มเหง
“ในระยะยาวแล้ว การบีบบังคับกดดันไม่สามารถธำรงรักษาเสถียรภาพไว้ได้ และจะก่อให้เกิดการไร้เสถียรภาพครั้งใหม่ขึ้น มันเท่ากับเป็นการดับความกระหายด้วยยาพิษ” นายอี้ว์ให้ความเห็น
ในเดือนม.ค.ผ่านมา นายอี้ว์ยังเปิดไมโครบล็อกใหม่ เพื่อช่วยพ่อแม่ตามหาลูก ที่ถูกลักพาตัวไปขายเป็นแรงงาน หรือขอทาน ไมโครบล็อกทั้งสองนี้อยู่ในเว็บไซต์ Sina.com ปรากฎว่ามีสาวกเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมกันถึงเกือบ 8 แสนคน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือตามปกติแล้วไมโครบล็อกและเว็บไซต์อื่นๆ ในอินเทอร์เน็ตแดนมังกรจะถูกทางการเซ็นเซอร์อย่างหนัก แต่ไมโครบล็อกของนายอี้ว์กลับรอดตัวมาได้ เนื่องจากเขาหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลระดับผู้นำโดยตรง แต่มุ่งเน้นไปที่ความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
นอกจากนั้น เขายังปฏิเสธให้สื่อต่างชาติสัมภาษณ์ ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการยั่วยุปลุกระดมได้
หลังจากจีนสั่งปิดเว็บไซต์ทวิตเตอร์ในปี 2552 ก็เกิดเว็บไซต์ทวิตเตอร์เวอร์ชั่นจีนผุดขึ้นมาหลายเว็บพร้อมเพิ่มความน่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้คลิกเข้ามาดู เช่นลงภาพถ่าย หรือวิดีโอ สร้างความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วเมืองจีน ซึ่งมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลกถึง 457 ล้านคน ขณะที่ Sina.com เปิดเผยว่า ทางเว็บมีผู้ใช้ไมโครบล็อกมากกว่า 100 ล้านคน
ปรากฏว่า กรณีเจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน หรือระบบยุติธรรม ที่ล้มเหลวหลายกรณีถูกสะสางจัดการ หลังจากเรื่องแพร่สะพัดไปทั่วสังคมออนไลน์
ส่วนไมโครบล็อกลักพาตัวเด็กของนายอี้ว์ก็ปลุกให้สื่อของรัฐรีบเปิดโปงทำข่าวกันจ้าละหวั่น ขณะที่รัฐบาลออกมาประกาศจะจัดการแก้ไขปัญหา
“ การเปิดไมโครบล็อกกระโดดไปไกลอย่างมากในแง่ของการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และมิใช่มีนายอี้ว์เพียงคนเดียวที่ใช้ไมโครบล็อกในลักษณะนี้” นายเซียว เฉียง บรรณาธิการของเว็บไซต์ข่าว China Digital Times ให้ความเห็น
“ สื่อของทางการจีนมักไม่แตะประเด็นพวกนี้ ฉะนั้น บุคคลอย่างนายอี้ว์ เจี้ยนหรงจึงสามารถพูดได้มากกว่าที่สื่อของรัฐสามารถพูด ” นายเซียวระบุ
สำหรับท่าทีของทางการจีนนั้น แม้มีการเซนเซอร์ข่าวและการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิวัติดอกมะลิในโลกอาหรับ แต่ในสมุดปกขาวของรัฐบาลจีนเมื่อปีที่แล้วก็ระบุคุณค่าของไมโครบล็อกว่า ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความซื่อสัตย์ ขณะที่กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ก็โหนกระแส พากันเปิดไมโครบล็อกบ้าง
ด้านสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การแสดงความคิดเห็นในไมโครบล็อกได้ “เน้นให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของชาวจีน ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของชาติ”