xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าข้างถนน: จาก ‘ยาจก’ สู่ ‘ขอทาน’

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอทานจีน จากพื้นที่แห่งหนึ่ง (ภาพเอเยนซี)
หลังปฏิรูปและเปิดประเทศ จำนวนประชากรจีนในเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมืองใหญ่แถบชายฝั่งทะเลตะวันออก อันเป็นเขตเศรษฐกิจที่คึกคัก ผู้คนจากชนบทต่างอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อแสวงหาโอกาสก้าวหน้าในชีวิต กระทั่งเกิดผู้ประกอบการหลากหลายอาชีพ หนึ่งในอาชีพ ที่สามารถพบเห็นได้ในเมืองใหญ่ของจีน “ขอทาน” ดังนั้น หากต้องการทำความเข้าใจสังคมเมืองจีน จำต้องทำความเข้าใจ “ขอทาน” อันเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมเมืองด้วย

จากยาจกสู่ขอทาน

ในยุคราชวงศ์อาชีพยาจก ไม่ได้ถูกมองอย่างต่ำต้อยอย่างในสมัยใหม่ (ผมใช้คำว่า “ยาจก” เมื่อพูดถึงขอทานในยุคราชวงศ์ เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างความรู้สึกต่อขอทานแต่ละยุคสมัย) ความเชื่อที่ว่าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม มีหน้าที่ในการอุดหนุนอาณาประชาราษฏร์ ซึ่งรวมถึงยากจกผู้เดือดร้อน ทำให้จักรพรรดิจำต้องให้การช่วยเหลือยาจก บางพระองค์ถึงกับสร้างโรงทาน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่มีอาหารบริบูรณ์ นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องการทำบุญ ยังทำให้คนจำนวนไม่น้อยสละทรัพย์แก่ยาจก แม้จะมีสถานะต้อยต่ำแต่ยาจก ก็ไม่ได้เป็นที่รังเกียจอย่างรุนแรง เช่นขอทานในปัจจุบัน
อพยพเข้าเมืองหวังหางานทำ สุดท้ายต้องมาประกอบอาชีพข้างถนน (ภาพเอเยนซี)
ในยุคราชวงศ์มียาจกเป็นจำนวนมาก เกิดการจัดตั้งองค์กร และความสัมพันธ์ภายในองค์กรยาจกอย่างเป็นระบบ กระทั่งรัฐจำเป็นต้องต่อรอง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางประการ เพื่อความมั่นคง ในสมัยราชวงศ์ชิง ขุนนางท้องถิ่นจะให้อำนาจหัวหน้ากลุ่มยาจกในท้องที่ ได้รับสิทธิผูกขาดเรี่ยไรทรัพย์ ทำให้ผู้คนไม่สามารถร้องเรียนได้ เมื่อถูกยาจกเรี่ยไร เช่นเมื่อยาจกพากันไปชุมนุมหน้าร้านพ่อค้าเพื่อเรี่ยไร จนลูกค้าหนีหาย พ่อค้าจะร้องเรียนต่อขุนนางไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน บรรดายาจกมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือรัฐเล็กๆน้อยๆ เช่น คอยเป็นสายสืบ อีกทั้งหัวหน้ายาจกจำต้องควบคุมพลพรรคมิให้ประกอบอาชญากรรม มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษ

ทว่าเมื่อล่วงเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ (1911-1949) ความคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก ทำให้ผู้คนเริ่มมอง “ยาจก” เป็น “ขอทาน” ที่น่ารังเกียจ กระทั่งรัฐเริ่มมีความพยายาม จัดการกับขอทานอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามความวุ่นวายทางการเมืองในยุคสาธารณรัฐ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง ล่วงมายุคสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อรุ่งอรุณของการปฏิวัติ รัฐพยายามจัดการกับขอทาน ซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติ มีการจับขอทานมาอบรม ประกอบอาชีพเช่น กุลีขนของ และแบกโรงศพ

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวกลับล้มเหลว เมื่อผลจากนโยบายก้าวกระโดดไกล (ความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างก้าวกระโดด) สร้างหายนะต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง กระทั่งรัฐไม่สามารถจัดสรรสวัสดิการแก่ผู้คนได้อย่างครบถ้วน รัฐจึงจำเป็นต้องอนุญาตให้ขอทานกลับมาประกอบอาชีพอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีการควบคุมให้ใบอนุญาตประกอบอาชีพขอทานแก่ผู้ยากไร้ในชนบท ประกอบอาชีพขอทานในเขตเมืองตามที่รัฐกำหนด บางหมู่บ้านในชนบทที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ปรากฏว่ามีผู้ได้รับใบอนุญาตขอทานแทบจะทั้งหมู่บ้าน ต่อมาปลายทศวรรษ 1960 มีการเปลี่ยนวิธีการให้ใบอนุญาต จากการให้ขอทานทุกคน เป็นการให้เฉพาะหัวหน้าขอทานที่รัฐเลือก โดยหัวหน้าขอทานจะทำหน้าที่คุมสมาชิกอีกทีหนึ่งคล้ายในยุคราชวงศ์
ขอทานในมหานครปักกิ่ง ขณะรับเงินจากคนใจบุญ (ภาพเอเยนซี)
“ขอทาน” ร่วมสมัย: พวกเขาเป็นใคร?

การพัฒนานับแต่ทศวรรษ 1970 กระทั่งถึงปัจจุบัน ได้ทำให้เศรษฐกิจในภาคเมืองขยายตัวอย่างมาก ขณะเดียวการพัฒนาระบบคมนาคม ก็ทำให้การเคลื่อนย้ายของประชากร เป็นไปอย่างสะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม การกระจายรายได้ที่เป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม ทำให้ชาวชนบทที่ไร้ช่องทางหากิน หันมาเป็นขอทานในเมืองใหญ่

เมื่อต้องการมาทำงานในเมืองใหญ่ ชาวชนบทมักติดต่อญาติพี่น้องที่ทำงานในเมืองให้จัดหางานให้ ส่วนคนไม่มีญาติในเมือง ก็จะใช้บริการเอเย่นต์คนบ้านเดียวกัน ช่วยหางานให้ ซึ่งปรากฏว่าบางครั้งเอเย่นต์ตัวดีดันจัดให้มาประกอบอาชีพขอทาน

แม้ว่ารัฐจะพยายมกวาดล้างขอทานให้พ้นจากเมือง โดยเฉพาะ ในช่วงที่มีงานใหญ่ระดับนานาชาติ ทว่าขอทานก็ไม่เคยหายไปจากเมืองใหญ่

จากการสำรวจโดยนักหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการทั้งจีนและตะวันตก พบว่าขอทานในเมืองใหญ่ ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นองค์กรภายใต้ระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ กล่าวคือขอทานคนหนึ่งมักสังกัดกลุ่มขอทาน ที่มาจากท้องที่เดียวกัน สมาชิกในกลุ่มมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีหัวหน้าขอทานเป็นผู้ดูแลปกป้องสวัสดิภาพของสมาชิก อาทิ การรังควานจากขอทานกลุ่มอื่น การแย่งพื้นที่ และการจับกุมของตำรวจ โดยแลกกับการที่สมาชิกในกลุ่มต้องเสียค่าหัวคิวราว 5 หยวน/วัน

สมาชิกกลุ่มขอทานจะได้รับการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเทคนิคการ “เรียกลูกค้า” จากสมาชิกคนอื่นๆ และจะพบได้ว่า ขอทานในแต่ละท้องที่ จะมีเทคนิคการขอแตกต่างกันออกไป เช่นในปักกิ่ง ขอทานมักอยู่นิ่งๆ คอยรับความเมตตามากกว่า ขณะที่ขอทานในเซินเจิ้นมักมีกลเม็ดเด็ดพราย เช่นเกาะแข้งขา ดึงเสื้อ เดินตาม จนกว่าจะให้เงิน

ด้วยความจำกัดของพื้นที่ผมขอจบบทความไว้เพียงเท่านี้ ครั้งหน้าค่อยลุยกันต่อเรื่อง “โลกของขอทานจีน” ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น