ASTVผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี-เมื่อราชบัณฑิตสถานแห่งสวีเดนได้ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2012 ให้แก่นักเขียนจีน คือ “มั่วเหยียน” นักเขียนอาวุโส และดำรงตำแหน่งรองนายกสมาคมนักเขียนจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งรัฐ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ก็ยิ้มแฉ่งรับการตัดสินฯ ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถั่งโถมท่วมเวทีสื่อโลก
กลุ่มผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลจีน อย่างเช่น ไอ้ เว่ย เว่ย กล่าวหาเขาด้วยวาจารุนแรงว่า “เป็นสุนัขรับใช้รัฐบาล” บางเสียงก็ว่าด้วยสถานภาพรองนายกสมาคมนักเขียนจีน มั่วเหยียนมีส่วนรับผิดชอบต่อการปิดกั้นเสรีภาพการสังสรรคงานศิลปะอย่างมาก จึงไม่สมควรได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
ด้านมั่วเหยียนโต้ตอบกระแสโจมตีฯว่า “พวกเขาไม่ได้อ่านงานเขียนของผม กลุ่มที่โจมตีผม บ้างก็ว่าผมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผมไม่ควรได้รับรางวัลฯนี้ ผมคิดว่านี่ไม่ถูกต้องเลย”
มั่วเหยียน(莫言 หมายถึง ไร้คำพูด)วัย 57 ปี มีชื่อเดิม คือ ก่วน หมัวเย่(管谟业) เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร อำเภอเกามี่มณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน บัดนี้เขากลายเป็นนักเขียนจากภูมิภาคเอเชียคนที่สี่ ที่ได้รับรางวัลทรงเกียรติโนเบลสาขาวรรณกรรม ต่อแถวนักเขียนที่ยิ่งใหญ่แห่งเอเชีย อย่าง รพินทรนาถ ฐากูร จากอินเดีย (1913) , คาวาบาตะ ยาสึนาริ จากญี่ปุ่น (1968)
มั่วเหยียนกล่าวถึงการได้รับรางวัลฯนี้ ว่า “เป็นชัยชนะในทางวรรณกรรม มิใช่ชัยชนะทางการเมือง” แต่ขณะเดียวกัน มั่วเหยียนก็กล่าวปกป้องท่านประธาน เหมา เจ๋อตง ผู้กล่าววัจนะอันลือลั่นว่า “ศิลปะจีนต้องรับใช้พรรคฯ” มั่วเหยียนกล่าวถึงจุดนี้ว่า “ผมคิดว่าความคิดของท่านเหมาเกี่ยวกับศิลปะนี้ก็มีเหตุผลเช่นกัน”
มั่วเหยียนยังได้กล่าวระหว่างพูดคุยกับกลุ่มนักข่าวที่บ้านเกิดเมืองกาวมี่ แสดงความหวังว่า หลิว เสี่ยวปัว ชาวจีนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และกำลังต้องโทษจำคุกในจีน จะได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ หลิว เสี่ยวปัว ผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลจีน เคลื่อนไหวเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยและปฏิรูปการเมือง จนถูกจับคุมตัว และถูกพิพากษาโทษจำคุก 11 ปี เมื่อเดือนธ.ค. ปี 2552 ในความผิดฐานยั่วยุการล้มล้างอำนาจรัฐ ปีถัดมาเมื่อเดือนต.ค. 2553 คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ก็ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่ หลิว เสี่ยวปัว ยังความโกรธกริ้วแก่จีนมาก และแถลงประณามการคณะกรรมการตัดสินฯว่า มอบรางวัลฯให้กับนักโทษจีนเท่ากับโนเบลสนับสนุนอาชญากรรม
มั่วเหยียนยังได้แก้ต่างเรื่องที่เขาไปเข้าร่วมกลุ่มนักเขียนและศิลปิน 100 คน รำลึก “การปราศรัยของเหมา เจ๋อตงที่เหยียนอันปี 1942” ซึ่งการปราศรัยฯนี้เป็นการอรรถาธิบายหลักทฤษฎีที่ก่อรูปวรรณกรรมยุคต้นระบอบคอมมิวนิสต์ ในงานนี้กลุ่มนักเขียนศิลปิน 100 คน ได้เขียนคำปราศรัยของเหมา เจ๋อตง ด้วยลายมือเขียนของตน งานฯนี้ถูกโจมตีอย่างกว้างขวางจากสาธารณชนที่ชี้ว่าแนวคิดของเหมาได้ทำลายศิลปะวรรณกรรม
มั่วเหยียนโต้ตอบเสียงวิจารณ์ว่า เขาไม่รู้สึกละอายที่ได้เข้าร่วมการรำลึกฯดังกล่าว แม้ว่าเอกสารจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดในขณะนี้ก็ตาม
“รางวัลโนเบลเป็นชัยชนะของวรรณกรรม มิใช่การแก้ไขความถูกต้องทางการเมือง เนื่องจากงานเขียนของผมข้ามพ้นการเมือง...ผมเขียนภายใต้ระบอบการนำของคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม งานเขียนของผมก็มิได้ถูกจำกัดโดยพรรคฯ”
นอกจากนี้ เฉียว มู่ ผู้ช่วยอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยการศึกษากิจการระหว่างประเทศในปักกิ่ง (Beijing Foreign Studies University) แย้งว่าการที่มั่วเหยียนเข้าร่วมกิจกรรมที่ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นบทบาทหน้าที่ของสมาชิกพรรคฯ และการที่นักเขียนทำงานในหน่วยงานกึ่งรัฐ เพราะเขาต้องการที่แสดงความซื่อสัตย์ภักดี “เขาเป็นนักเขียน ไม่ใช่แบบอย่างจริยธรรม และนักเขียนควรถูกตัดสินจากตัวผลงาน มิใช่จากการกระทำบางสิ่งที่สร้างความไม่พอใจแก่ผู้คน”
กลุ่มไม่ลงรอยกับรัฐบาลจีนดาหน้า จ้วงไม่เลี้ยง
ศิลปินนักวิพากษ์รัฐบาลจีน นาย ไอ้ เว่ยเว่ย กล่าวหามั่วเหยียนเป็นคนขี้ขลาดของรัฐบาล และยังได้เย้ยหยันจีน ที่ตอนนี้กลับมายกย่องคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบล โดยที่ก่อนหน้าเคยประณามการให้รางวัลโบเบลแก่หลิว เสี่ยวปัว และผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ทะไล ลามะ
“มั่วเหยียนมักเลือกยืนอยู่ข้างอำนาจ และจะไม่ได้ชิมลองรสชาติปัจเจกชนเลยแม้คำเดียว” ไอ้ เว่ย เว่ย ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวเอเอฟพี
สมาชิกกลุ่มผู้มีความเห็นไม่ลงลอยกันรัฐบาลจีนตัวเอ้อีกคน คือ เว่ย จิงเซิน วิจารณ์การให้รางวัลโบเบลแก่มั่วเหยียนว่า “เป็นการเอาอกเอาใจระบอบคอมมิวนิสต์จีน และมันก็กลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า” เว่ย กล่าว
มั่วเหยียนเป็นนักเขียนเชื้อสายจีนรายที่สอง ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ก่อนหน้า นักเขียนจีนคือ เกา สิงเจี้ยน (高行健)คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมได้เมื่อปี 2000 ทว่า เกาสิงเจี้ยนถือสัญชาติฝรั่งเศส และอาศัยอยู่ในแดนน้ำหอม ดังนั้น เขาจึงไม่ถูกนับเป็น “นักเขียนจากจีน”
รัฐบาลจีนมีปฏิกิริยาเย็นชาไม่ยินดียินร้ายต่อการที่เกา สิงเจี้ยนได้รับรางวัลโนเบลสาขาวนนณกรรมของ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว เทียบกับการได้รับรางวัลฯเดียวกันนี้ของมั่วเหยียน กลุ่มสื่อฮ่องกงชี้ว่า ต่างกันราวฟ้าดินดิน
เมื่อคณะกรรมการฯประกาศรางวัลโนเบลฯแก่มั่วเหยียน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน หนึ่งในคณะกรรมการประจำกรมการเมืองฯ ซึ่งเก้าอี้นายใหญ่กรมโฆษณาการ คือ นาย หลี่ ชางชุน ก็ได้แถลงแสดงความยินดีใหญ่ ว่า “มั่วเหยียน ชนะรางวัลโนเบลวรรณกรรม แสดงถึงความเจริญรุ่งโรจน์ของวรรณกรรมจีน ความแข็งแกร่ง และอิทธิพลระหว่างประเทศของจีน” นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ประชาชนจีน หรือพีเพิลเดลี ซึ่งเป็นกระบอกเสียงหลักของพรรคฯ ก็แสดงความยินดีด้วยว่า “นักเขียนจีนรอวันนี้มานาน ประชาชนรอวันนี้มานาน เราขอแสดงความยินดีแก่มั่วเหยียน!”
มั่วเหยียนจัดเป็นนักเขียนที่มีผลงานออกมามาก งานเขียนของเขาผสมผสานจินตนาการและความเป็นจริง กอปรด้วยมุมมองทางประวัติศาสตร์และสังคม และเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนที่ตีแผ่ความโหดเหี้ยมระหว่างยุควิกฤตวุ่นวายในศตวรรษที่ 20 ของจีน ในช่วงที่ผู้นำเหมา เจ๋อตงได้ดำเนินนโยบายก้าวกระโดด การปฏัติวัฒนธรรม เป็นต้น
งานเขียนบางชิ้นของมั่วเหยียนยังได้โจมตีนโยบายของรัฐบาล อาทิ นวนิยาย ที่ชื่อเรื่องว่า “กบ” (《蛙》/Frog)ได้เผยด้านลบของนโยบายลูกคนเดียว ที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้นโยบายฯ โดยละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การบังคับทำแท้ง และทำหมัน
แต่คอวิจารณ์ก็ว่าอีกว่า มั่วเหยียนเซนเซอร์ตัวเอง โดยหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ด้วยอานิสงของโนเบลฯนี่เอง งานเขียนของมั่วเหยียนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า พนักงานขายหนังสือที่ร้านหนังสือในปักกิ่งคนหนึ่งบอกว่า เมื่อเช้าวันศุกร์(12 ต.ค.) มีลูกค้า 40 ราย ต้องการหนังสือของมั่วเหยียน 11 เรื่องของเขา