xs
xsm
sm
md
lg

หายนะความอดอยากยุค “ประธานเหมาฯ” ประวัติศาสตร์ที่คนทำหนังจีนยังไม่กล้าแตะต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องล่าสุดจากจีน ที่เล่าถึงเหตุภัยแล้งและความอดอยากในปี 1942 ที่คร่าชีวิตผู้คนหลักล้าน ถูกตั้งข้อสงสัยจากสื่อตะวันตก ว่า คนทำหนังชาวจีนยังคงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ความอดอยากครั้งใหญ่ในช่วงการปกครองของ “เหมาเจ๋อตุง” แต่ต้องเลือกเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่า และเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จีนจะเข้าสู่ยุคของการปกครองแบบคอมมิวนิสต์แทน



จีนเคยมีช่วงที่ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับมหันตภัยแห่งความอดอยากอยู่หลายยุคสมัย รวมถึงเมื่อครั้งที่ประเทศอยู่ภายใต้ “นโยบายการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด” แผนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมของจีนในยุคของ ประธานเหมาฯ ที่สุดท้ายนโบายอันมีชื่อสวยหรู ต้องลงเอยทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปหลายสิบล้านคน

แน่นอนว่า หนังจีนคงไม่สามารถกล่าวถึงเหตุการณ์ที่กลายเป็น “เรื่องต้องห้าม” ในสังคมจีนครั้งนั้นได้ อย่างที่ระบุเอาไว้ในชื่อเรื่อง Back to 1942 ผลงานใหม่ของ เฝิงเสี่ยวกัง เลือกที่จะย้อนไปก่อนหน้าเหตุการณ์นโยบายก้าวกระโดด ประมาณ 2 ทศวรรษ และก่อนการมาถึงยุคสมัยของพรรคคอมมิวนิสต์ 7 ปี เป็นสมัยที่จีนยังอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง เพื่อเล่าถึงหายนะที่ชาวจีนหลายๆ คนก็ลืมเลือนไปแล้ว กับเหตุการณ์ที่มีผู้คนล้มตายเพราะความอดอยากถึง 3 ล้านคน

Back to 1942 เป็นหนังที่จะมีทั้งนักแสดงชื่อดังชาวจีนอย่าง จางเกาลี่ , จางฮั่นหยูและเฉินเต้าหมิง ประชันบทบาทกับดาราฝั่งฮอลลีวูด เอเดรียน โบรดี และทิม รอบบินส์ ด้วยทุนสร้างสูงถึง 210 ล้านหยวน เป็นผลงานของผู้กำกับที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งคนทำหนังอันดับ 1 ของจีนในยุคปัจจุบัน

เหตุการณ์ในหนังเป็นประวัติศาสตร์จริงที่เคยเกิดขึ้นจริงในแถบเหอหนาน ซึ่งตอนนั้นกำลังบอบช้ำอยู่แล้วจากภัยสงครามระหว่างจีน และญี่ปุ่น จนกระทั่งสถานการณ์ของชาวบ้านถึงขั้นเลวร้ายเมื่อเกิดภัยแล้ง หลังผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการระบาดของฝูงตั๊กแตน และแน่นอนว่าการจัดการอันผิดพลาดของรัฐบาลในยุคนั้น ก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้มีแต่รุนแรงขึ้น

เมื่อมีการเปิดเผยว่า เฝิงเสี่ยวกัง เจ้าของหนังดังและผู้ครองตำแหน่งผู้กำกับหนังทำเงินอันดับ 1 ของประเทศมาแล้วหลายเรื่อง กำลังจะทำหนังว่าด้วยประวัติศาสตร์เหตุการณ์เกี่ยวกับความอดอยากของประเทศ หลายฝ่ายต่างนึกไปถึงเหตุการณ์ในยุคของประธานเหมาโดยทันที ซึ่งต่อมาก็เป็นที่เปิดเผยว่าไม่ใช่

Back to 1942 ถูกเรียกว่าเป็นหนังที่จะเล่าเรื่อง “หนึ่งในช่วงเวลาแห่งความดำมืดที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของจีน” อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีแสดงความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้กำกับ, นักแสดง หรือสื่อในประเทศจีน กลับหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวเปรียบเทียบเหตุการณ์ในปี 1942 กับเหตุการณ์เมื่อครั้งนโยบายการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดที่กินเวลานานเกือบครึ่งทศวรรษ กับจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1958 ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง ที่นักข่าวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ หยางจีเซิง เชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตจากความอดอยากในครั้งนั้นมากกว่า 40 ล้านคน ด้วยความผิดพลาดของแผนพัฒนาดังกล่าว

ในปี 1958 เหมาเจ๋อตุงต้องการเปลี่ยนแปลงจีนจากสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ไปสู่การเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ยุคใหม่ ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเร่งด่วน และจัดระบบการทำเกษตรเสียใหม่ ในตอนนั้นเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์เหล็กให้ได้ตามเป้า ชาวบ้านถึงกับต้องนำอุปกรณ์การเกษตรมาหลอม นอกจากนั้น การทดลองทำการเกษตรตามคำสั่งโดยตรงของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ทำให้ผลผลิตการเกษตรในประเทศลดลง

“ตะวันตกรู้จักเพียงแต่ความอดยากในช่วงปี 1962 พวกเขาไม่ค่อยจะรู้เรื่องถึงปี 1942 เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมันก็จำเป็นเช่นเดียวกันที่จะต้องนำกลับมาเล่าถึง ในฐานะอีกบทเรียนของประวัติศาสตร์” เผิงเสียวกัง กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี และเอ่ยถึงเรื่องราวเมื่อปี 1958-1962 เล็กน้อยระหว่างงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ตาม เขาขอที่จะไม่ตอบ สำหรับคำถามที่ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เขาจะหยิบเหตุการณ์ระหว่างช่วงนโยบายการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด ขึ้นมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในอนาคต

นักแสดงชาวอเมริกัน เอเดรียน โบรดี ที่ร่วมแสดงใน Back to 1942 อาจจะสามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผยมากกว่า ซึ่งเขาก็เชื่อว่าการทำงานภายใต้ข้อจำกัดมากมายของคนทำหนังชาวจีน ควรได้รับการยกย่องมากกว่า “คุณต้องเคารพต่อข้อจำกัดต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่และรับทราบถึงความยากลำบากของคนทำหนัง ... เป็นเรื่องยอดเยี่ยมเพียงพอแล้ว ที่พวกเขาสามารถสร้างหนังแบบนี้ออกมาได้”

ถึงตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่า Back to 1942 เกิดขึ้นด้วยข้อจำกัดของรัฐบาล ที่ทำให้คนทำหนังไม่สามารถแตะเหตุการณ์ความอดยากอันโด่งดังแห่งช่วงปลายทศวรรษที่ 50s จึงต้องเลือกเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นมาสร้างเป็นหนังแทน หรือนี่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความโอนอ่อนผ่อนปรนของภาครัฐจีนในยุคนี้ ที่อนุญาตให้คนทำหนังสามารถแตะต้องประเด็นที่อ่อนไหวเปราะบางได้มากขึ้นกันแน่

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ฟิลิปเป แกรเจอโร ผู้เขียนร่วมของสารคดี The Great Famine กลับเชื่อว่า Back to 1942 น่าจะเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการตอบโต้ข้อมูลอีกด้านโดยเฉพาะของ หยางจีเซิง ที่ว่ามีผู้คนเสียชีวิตระหว่างการปกครองของเหมาจำนวนมากกว่าที่หลายฝ่ายประมาณการหลายเท่าตัว ด้วยการหยิบยกเหตุการณ์ความอดอยากในยุคก่อนหน้าการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ขึ้นมาให้ความสำคัญเทียบเคียงกับหายนะของนโยบายพัฒนาแบบก้าวกระโดด อันเป็นวิธีที่รัฐบาลจีนใช้เป็นปกติอยู่แล้ว

คำสันนิษฐานนี้ได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลของ The Hollywood Reporter ที่อ้างว่าหน่วยงานด้านภาพยนตร์ของจีน ได้ตัดสินใจเลื่อนการเข้าฉายของ Skyfall หนัง เจมส์ บอนด์ ตอนล่าสุดที่เข้ามาถ่ายทำส่วนหนึ่งในประเทศจีนออกไปจากกำหนดเดิม เพื่อเปิดทางให้กับหนังอีกหลายๆ เรื่องในประเทศได้กอบโกยรายได้กันอย่างสบายในช่วงโปรแกรมทองท้ายปีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Back to 1942






ความอดอยากในยุคประธานเหมาฯ ภาพที่คงไม่ได้เห็นในหนังจีน อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก




ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น