เอเอฟพี - จีนขยายเงินกู้ช่วยเหลือให้แก่แดนขุมน้ำมันแองโกลา 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆนับจากสงครามกลางเมือง แต่ก็ยังต้องเผชิญความขัดแย้งเนื่องจากปัญหาขาดแรงงานท้องถิ่นที่จะเข้าร่วมในการก่อสร้างโครงการฯและสานต่อดูแลโครงการฯ
แองโกลา ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำมันในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ผจญสงครามกลางเมืองนาน 27 ปี และสิ้นสุดเมื่อปลายปี 2545 หลังจากนั้น จีนได้เข้ามาช่วยเหลือแองโกลาฟื้นฟูประเทศ ก่อสร้างระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ อาทิ ถนน เครือข่ายรถไฟ โรงพยาบาล โรงเรียน และอาคารบ้านเรือน โดยมีการทำข้อตกลงระหว่างกัน แต่ทว่ารายละเอียดของข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ ยังคงคลุมเครือ
นายจัง ปั๋วหลุน เอกอัครราชฑูตจีนประจำแองโกลา ได้แถลงเปิดเผยตัวเลขเงินกู้ช่วยเหลือที่จีนเสนอแก่แองโกลาระหว่างการให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 6 มี.ค. โดยเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่จีนได้ประมาณตัวเลขเงินกู้ช่วยเหลือแก่แองโกลา “ธนาคารจีนสามแห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการนำเข้า-ส่งออกแห่งประเทศจีน (เอ็กซิม แบงค์) ธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน (ไอซีบีซี) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน (ซีดีบี) ได้ขยายสินเชื่อรวมทั้งสิ้น ราว 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ประเทศแองโกลา”
โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว แองโกลาจะชำระคืนเงินกู้ของจีนด้วยน้ำมันดิบ ทำให้แองโกลาเป็นแหล่งซับพลายน้ำมันให้กับจีนรายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากซาอุดิอาระเบีย
โฆเซ่ เอดูอาโด ดอส ซาน โตส ประธานาธิบดีแห่งแองโกลา กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแองโกลาเมื่อปี 2549 ว่า “จีนต้องการทรัพยากรธรรมชาติ แองโกลาต้องการการพัฒนาบ้านเมือง”
ขณะที่ ชาวแองโกลาจำนวนมากได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของดอส ซานโตส ว่า ปล่อยให้แรงงานชาวจีนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาแย่งงานประชาชนในประเทศ ภายใต้สัญญาที่กำหนดให้แองโกลาว่าจ้างบริษัทจีนเข้ามาทำการก่อสร้าง
นายจัง เผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทรัฐวิสาหกิจจีน 50 แห่ง และบริษัทเอกชนจีน 400 แห่ง พร้อมด้วยแรงงานชาวจีน ราว 60,000 ถึง 70,000 คน ทำงานอยู่ในประเทศแองโกลา แม้ว่า ข้อตกลงฯระบุว่า แรงงานในโครงการต่างๆของบริษัทจีน จะต้องจ้างชาวแองโกลาอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์
จัง เผยว่า “บริษัทจีนไม่สามารถจ้างชาวแองโกลาได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นไปไม่ได้ในการปฏิบัติจริง เนื่องจากระยะเวลาการก่อสร้างในสัญญาอันจำกัด ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างให้มีคุณภาพ ชาวแองโกลาส่วนมากไม่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้”
แต่ทว่า ชาวแองโกลา ก็ได้วิจารณ์คุณภาพของโครงการก่อสร้างต่างๆของบริษัทจีน โดยยกตัวอย่างการตรวจพบรอยแตกขนาดใหญ่ในกำแพงของโรงพยาบาลแห่งใหม่ในเมืองลูอันดา เมื่อเดือน ก.ค.2553 ทำให้ต้องรีบอพยพย้ายคนไข้ 150 คน ออกมาจากสถานที่ดังกล่าว
จัง ยังชี้ถึงปัญหาภายหลังการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคฯ ว่า แองโกลายังขาดแรงงานที่มีได้รับการฝึกฝน ที่จะมารับช่วงบริหารจัดการต่อ บริษัทจีนมีหน้าที่เพียงก่อสร้างโครงการต่างๆ และส่งต่อให้กับแองโกลาเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทจีน ” พร้อมกล่าวเสริมว่า “จีนและแองโกลา ไม่ได้ทำข้อตกลงด้านการฝึกอบรมเชิงเทคนิคให้กับบุคลากร”
นอกจากนี้ จีนได้ปฏิเสธที่จะส่งต่อโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานบางโครงการให้กับแองโกลา เนื่องจากเกรงว่า บุคลากรของแองโกลาอาจไม่สามารถบริหารจัดการโครงการเหล่านั้นได้ อาทิ การก่อสร้างสนามกีฬาสี่แห่ง ที่บริษัทจีนได้สร้างให้แองโกลาใช้สำหรับการแข่งขันฟุตบอลรายการแอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่น เมื่อปีที่ผ่านมา(2553)
“เราไม่สามารถให้ชาวแองโกลา มารับงานเหล่านี้ได้ มีอุปกรณ์มากมายอยู่ภายในสนามกีฬา หากไม่มีการเฝ้าดูแล มันจะถูกขโมย แต่บริษัทจีนได้ส่งพนักงานและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลสนามกีฬาเหล่านั้นให้”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ การขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถ ทำให้แองโกลาฟื้นฟูและพัฒนาประเทศได้ช้า
“ปัจจุบันนี้ แองโกลามีโรงเรียน แต่ไม่มีครูผู้สอน มีโรงพยาบาล แต่ไม่มีหมอ หากพวกเขาไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านั้น แล้วสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรือโรงเรียน จะสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร”