xs
xsm
sm
md
lg

น.ศ.แดนมังกรยก “ตัวอักษรจีน” เป็นสัญลักษณ์วัฒนธรรมหมายเลขหนึ่ง พญามังกร กังฟู ตกสำรวจ

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ภาพตัดต่อสัญลักษณ์วัฒนธรรมต่างๆของจีน (ภาพโดยเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี-ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อจีนได้รายงานการสำรวจสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมจีนที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำยกให้เป็นกลุ่มสัญลักษณ์จีนที่โดดเด่น โดยผลการสำรวจปรากฏว่า ตัวอักษรจีน ได้รับคะแนนมากเป็นอันดับหนึ่ง

การสำรวจชุดนี้ จัดทำโดยกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีน 25 แห่ง ใน 18 มณฑล โดยมีมหาวิทยาลัยBeijing Normal University เป็นหัวหอกการสำรวจความคิดเห็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจีนโดยการสำรวจได้จัดทำรายการสัญลักษณ์ 270 ชิ้น ให้กลุ่มนักศึกษาราว 2,000 คน เลือกสัญลักษณ์ 20 ชิ้น ที่พวกเขาเห็นว่ามีความสำคัญและโดดเด่นที่สุดของชนชาติจีน

ผลปรากฏว่าสัญลักษณ์ ที่ได้รับการคะแนนมากอันดับหนึ่ง คือ ตัวอักษรจีน และสัญลักษณ์อื่นๆที่ได้รับคะแนนสูงใน 10 อันดับแรก ได้แก่ ขงจื่อ ลายมือเขียนพู่กันจีน กำแพงเมืองจีน ธงชาติจีน เหมา เจ๋อตง เติ้ง เสี่ยวผิง พระราชวังต้องห้าม กองทัพหุ่นนักรบดินเผาของฉิน สื่อหวง (จิ๋น ซีฮ่องเต้) และการแพทย์แผนจีน

ชาวจีนหลายคนที่อ่านผลการสำรวจฯนี้ต่างประหลาดใจกันว่า กลุ่มสัญลักษณ์ที่ได้รับคะแนนสูง 20 อันดับนั้น ไร้สัญลักษณ์พญามังกร หรือศิลปะการต่อสู้แบบจีน หรือกังฟูแห่งวัดเส้าหลิน ทั้งที่ชาวจีนต่างประกาศตัวว่า เป็นทายาทสืบเชื้อสายมาจากพญามังกร และยังภาคภูมิใจในศิลปะการต่อสู้ของจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพันปี

แต่กลับมีสัญลักษณ์วัฒนธรรมจีนอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่า ติดอยู่ในกลุ่มสัญลักษณ์เด่น 20 อันดับแรก ได้แก่ คัมภีร์หลุนอี่ว์ ของขงจื่อ และสี่เครื่องเขียนจีน (พู่กันจีน หมึกสีดำ กระดาษ ที่ฝนหมึก) ศิลปะการตัดกระดาษ และกวีจีนโบราณ

หลังจากที่ผลการสำรวจฯถูกเผยแพร่ออกไป ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมจีน ด้วยผู้จัดการสำรวจฯไม่ได้เปิดเผยรายการสัญลักษณ์ฯทั้งหมด ที่เสนอให้นักศึกษาเลือก กลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อ จึงได้ชี้ถึงการที่ไม่มีพญามังกร และกังฟู ติดอันดับยอดนิยมในการสำรวจครั้งนี้ อาจเป็นเพราะในรายการที่จัดทำมาให้นักศึกษาเลือกนั้น ไม่มีพญามังกร และกังฟู เนื่องจากจีนต้องการสร้างภาพลักษณ์ผู้รักสันติภาพบนเวทีโลกระหว่างที่กำลังขยายอำนาจละมุน ( soft power)

“สัญลักษณ์วัฒนธรรมที่มีความหมายถึงการต่อสู้อาจถูกตัดออกไป เนื่องจากรัฐบาลต้องการสร้างภาพลักษณ์ “การทะยานสู่อำนาจอย่างสันติของประเทศจีน”

“ผมเชื่อว่านี่เป็นเหตุผลที่ไม่มีมังกร และกังฟูอยู่ในรายการฯการสำรวจ โดยส่วนตัว ผมจะเลือกแพนดายักษ์ และมังกร อยู่ในกลุ่มสัญลักษณ์ที่โดดเด่น 10 อันดับแรก” อิน อี้ว์กง แห่งสถาบันบัณฑิตย์สถานแห่งชาติจีน กล่าว

ด้านกลุ่มชาวเน็ตแดนมังกร ก็แห่รุมกัดเสียดสีนักวิจัยที่จัดทำการสำรวจชุดนี้ โดยชี้ว่าการวิจัยควรรวมสัญลักษณ์วัฒนธรรมร่วมสมัยของจีน ได้แก่ “หลี่ กัง” และ “เฉิงก่วน” (หรือ เทศกิจ) เข้าไปด้วย

ทั้งนี้ ชื่อ “หลี่ กัง” รองผู้บังคับบัญชาการสำนักงานพิทักษ์สันติราษฎร์เขตเป่าติ่งมณฑลเหอเป่ย โด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วประเทศในชั่วข้ามคืนจากเหตุการณ์ที่บุตรชายของเขาคือ นาย หลี่ ฉี่หมิงขับรถชนนักศึกษาหญิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา(2553) พยานที่เห็นเหตุการณ์ฯดังกล่าวเล่าว่าเมื่อหลี่ ฉี่หมิงขับรถชนนักศึกษาหญิงสองคนในมหาวิทยาลัยเหอเป่ยแล้ว เขายังคงขับรถต่อไปเพื่อส่งแฟนสาวที่หอพักนักศึกษาหญิงโดยที่ไม่เหลียวกลับมาดูคนเจ็บเลย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและกลุ่มนักศึกษาที่เห็นเหตุการณ์ได้มาขัดประตูและบอกให้คนขับรถออกมารับผิดชอบ เมื่อหลี่ ฉี่หมิงก้าวออกมาจากรถ เขาไม่ได้แสดงความเสียใจแม้แต่น้อย กลับร้องบอกว่า “ไปเลยซิ เชิญไปฟ้องร้องผมได้เลย ผมเป็นลูกชายของ หลี่ กัง” นับจากนั้นมา ประโยค “ผมเป็นลูกชายของหลี่ กัง” ก็โด่งดังและติดตรึงในใจชาวจีนทั่วประเทศ ที่ไม่พอใจหน่วยพิทักษ์สันติราษฎร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สำหรับ “เฉิงก่วน” หรือเทศกิจจีน ก็สร้างชื่อเสื่อมเสียและความเจ็บปวดที่ตราตรึงใจชาวจีนเช่นกัน ด้วยการไล่ล่าหวดตีพ่อค้าแม่ค้าขณะตระเวนตรวจจับ ถึงกับมีกรณีสังหารเจ้าของแผงลอยหาบเร่

ชาวเน็ตจีนกล่าวเสียดสีว่า หลี่ กัง และ “เฉิงก่วน” ควรได้รับเลือกเป็นสัญลักษณ์วัฒนธรรมจีนด้วย เนื่องจากสะท้อนวัฒนธรรมเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เหลวแหลก ที่ฝังรากลึกในจีนมายาวนาน.
กำลังโหลดความคิดเห็น