เอเอฟพี- Miuccia Prada โชว์คอลเลคชั่นเสื้อผ้าประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2554 ที่กรุงปักกิ่งในเย็นวันเสาร์(22 ม.ค.) นับเป็นการเปิดแฟชั่นโชว์นอกยุโรปครั้งแรกของนักออกแบบสัญชาติอิตาลีชื่อก้องโลก
ปราด้า ระดมซุปเปอร์สตาร์แดนมังกร ทั้ง ก่ง ลี่, จัง ม่านอี้ว์ และจัง ปั๋วจือ ร่วมกับนางแบบนายแบบชาติฝรั่ง แสดงแบบชุดเสื้อผ้าสไตล์เรียบง่าย เน้นโทนสีส้ม ม่วง และฟ้า จากชุดเสื้อผ้าที่ปราดานำมาแสดงครั้งนี้ ส่งสัญญาณชัดว่านักออกแบบอิตาเลียนกำลังจ้องลุยเจาะตลาดมหึมาของจีน
การนำซุปเปอร์สตาร์ชาวจีนมาร่วมการแสดงแบบ ที่จัดขึ้นที่สถาบันกลางของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในกรุงปักกิ่งเช่นนี้ ยังเป็นหลักประกันที่เหนียวแน่นในการระดมสื่อท้องถิ่นเข้ามาทำข่าว และเผยแพร่สารของปราดาสู่มวลชนชาวจีน ซึ่งเป็นตลาดเนื้อหอมที่สุดในโลกในขณะนี้
จีนเป็นตลาดที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลกสำหรับสินค้าประเภทหรูหราเช่นกัน ยักษ์ใหญ่แห่งที่ปรึกษาธุรกิจโลกแห่งสำนัก PriceWaterhouseCoopers คาดการณ์ชาวจีนจะเป็นผู้ซื้อระดับท็อปในตลาดสินค้า ได้แก่ เครื่องสำอาง กระเป๋าถือ นาฬิกา รองเท้า และเสื้อผ้าในปี 2558
ยอดขายสินค้าหรูในแผ่นดินใหญ่ มีมูลค่าสูง 10,300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 นับเป็นอัตราขยาย 14 เปอร์เซนต์จากปีก่อนหน้า จากตัวเลขของ Bain and Company
สำหรับแบรนด์ ปราด้า ได้เข้ามาเปิดตัวในตลาดจีนเช่นเดียวกับแบรนด์แฟชั่นตะวันตกค่ายอื่นๆ ปราดามีร้านอย่างน้อย 15 แห่ง และมีแผนเปิดร้านอีก ร่วม 30 แห่งในปลายปี 2555 นอกจากนี้ ยังได้ประกาศจะเปิดสตูดิโอออกแบบในฮ่องกงปีนี้ (2554)
แต่กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่าสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์หรูแล้ว ยังได้แต่เพียงแทะเล็มพื้นผิวด้านหน้าของตลาดที่มีศักยภาพสูงมากแห่งนี้ ซึ่งมีประชาชน 1.3 พันล้านคน และกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว “ 90 เปอร์เซนต์ของผู้ซื้อจีน เป็นลูกค้าหน้าใหม่ของแบรนด์ ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าที่กลับมาซื้ออีก ซึ่งเป็นลักษณะของตลาดที่ยังไม่อาจเจาะทะลุทะลวงเข้าไป (underpenetrated market)” Erwan Rambourg นักวิเคราะห์ของ HSBC กล่าว
ขณะนี้ มีข่าวลือว่า ปราด้า ซึ่งมีฐานอยู่ในเมืองมิลาน กำลังวางแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดฮ่องกง ซึ่งเป็นช่องทางดึงดูดลูกค้าทางหนึ่งเช่นเดียวกับที่แบรนด์แฟชั่นอื่นๆเคยทำกันมาแล้ว
กลุ่มค่ายแฟชั่นดังของโลก พยายามใช้สัญลักษณ์วัฒนธรรมจีนมาโฆษณาแบรนด์ อาทิ เฟนดิ (Fendi) จัดแฟชั่นโชว์ที่กำแพงเมืองจีน คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) เคยใช้นครเซี่ยงไฮ้เป็นฉากจัดแสดงแฟชั่น และฟิลลิป ลิม ก็ใช้พระราชวังต้องห้ามเป็นแสถานที่แสดงแฟชั่นเมื่อปีที่แล้ว
Bruno Lannes คู่หุ้นส่วนในเซี่ยงไฮ้ ของ Bain ชี้แบรนด์หรูที่ดูจะติดตลาดในจีน ได้แก่ ชาแนล (Chanel) หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) และกุชชี่ (Gucci) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะป้ายโลโก ที่สื่อถึงฐานะความมั่งคั่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ารสนิยมในจีนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย
จากการสำรวจของ Bain ระบุว่า ปราดาซึ่งเปิดตัวคอลเลคชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2554 ครั้งแรกในมิงานเดือนก.ย. เป็นแบรนด์ยอดนิยมอันดับเก้า
“แบรนด์ปราด้าสื่อถึงรสนิยมและปัจเจกชน นั่นแสดงว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนมีความซับซ้อนมากขึ้นแล้ว” โจว ติง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย International Business and Economics of China
ส่วนแบรนด์หรุค่ายอื่นๆ ได้แก่ Balenciaga และ Balmain ได้เปิดร้านในห้างหรูใจกลางเมืองปักกิ่งเมื่อเร็วๆนี้ และอีกไม่นาน Lanvin ก็จะตามมาเปิดร้านในห้างเดียวกันนี้
Rambourg นักวิเคราะห์แห่ง HSBC แจงถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจีนอีกว่า แบรนด์ต่างชาติพยายามที่จะปรับผลิตภัณฑ์ในจีน เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค แต่การเข้าถึงตลาดเช่นนี้ก็ถูกเมินอย่างรวดเร็ว
“ผมคิดว่าสำหรับชาวจีนแล้ว เสน่ห์ของแบรนด์ตะวันตก อยู่ที่เนื้อแท้ของผลิตภัณฑ์ หากคุณทำให้มันกลายเป็นจีนมากไป มันก็หมดความน่าสนใจ” Rambourg กล่าว