เอเยนซี-อัตราเงินเฟ้อแดนมังกรเดือนม.ค ชะลอตัวอย่างคาดไม่ถึง ทว่าการขยายตัวของยอดการปล่อยกู้ และราคาสินค้าหน้าโรงงานที่ยังพุ่งสูง ทำให้บรรดาผู้วางนโยบายของจีนวิตกหนักต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจร้อนแรง
ในช่วงกลางเดือนม.ค. ธนาคารกลางจีน ได้เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการออกมาตรการเพิ่มสัดส่วนทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดว่า ภาครัฐจะทวีความเข้มงวดของมาตรการภาคการเงินขึ้นอีกในเร็วๆนี้
อี้ว์ สง และ เฮเลน เฉียว สองนักเศรษฐศาสตร์แห่งโกลด์แมน แซคส์ ชี้ว่า จีนต้องระวังอย่างหนักเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากการเติบโตในภาคเศรษฐกิจจริงยังแข็ง และการขยายตัวของซับพลายสินเชื่อ
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงาน เมื่อวันพฤหัสฯ (11 ก.พ.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.5 ในเดือนม.ค. ซึ่งชะลอตัวจากอัตราเติบโตร้อยละ 1.9 ในเดือนธ.ค. ปีก่อน และต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ ที่ร้อยละ 2.0
ทั้งนี้ การคาดการณ์ข้อมูลทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงต้นปีไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวตรุษจีน 1 สัปดาห์ ที่ปัจจัยต่างๆเปลี่ยนแปลงอย่างวูบวาบ นอกจากนี้ สภาพอากาศหนาวเย็นที่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิต และดันราคาสินค้าสูงขึ้น และมีส่วนสำคัญในการกระพือภาวะเงินเฟ้อในเดือนธ.ค. โดยสินค้าจำพวกอาหาร มีสัดส่วนหนึ่งในสามของซีพีไอแดนมังกร
"ฉันคิดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวเพียงช่วงสั้นๆ และหวังว่าตัวเลขในเดือนก.พ. จะพุ่งสูงไปเกือบร้อยละ 3 และจะสร้างแรงกดดันการขึ้นอัตราดอกเบี้ย" Tao Wang นักเศรษฐศาสตร์ แห่งยูบีเอส สาขาปักกิ่ง ระบุ
แผนควบคุมการปล่อยสินเชื่อ
ยอดปล่อยกู้ของจีนเดือนม.ค. สะท้อนความพยายามที่จะควบคุมด้านเศรษฐกิจของบรรดาผู้กำหนดนโยบายของจีนได้เป็นอย่างดี
ยอดปล่อยกู้ 1.39 ล้านล้านหยวน ในเดือนม.ค. จะสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ที่ 1.35 ล้านล้านหยวน แต่เมื่อพิจารณาจากยอดปล่อยกู้1.1 ล้านล้านหยวน ในกลางเดือนม.ค.แล้ว ก็สะท้อนความสำเร็จของจีนในการชะลอตัวเลขดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
เทียบกับเดือนม.ค. ปีก่อน ธนาคารจีนปล่อยสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 1.62 ล้านล้านหยวน และยอดปล่อยกู้รวมของปีก่อนสูงถึง 9.5 ล้านล้านหยวน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตสูงที่สุดในโลก ที่ร้อยละ 8.7 ขณะที่ในปีนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้าลดยอดปล่อยกู้ทั้งปีไว้ที่ 7.5 ล้านล้านหยวน
ความหวาดผวาภาวะเงินเฟ้อ
สิ่งหนึ่งที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายไม่อาจล่วงรู้ได้ก็คือ บรรดาผู้ผลิตและผู้ค้าส่งจะผลักภาระด้านราคาที่เพิ่มสูงขึ้นไปนี้ ให้แก่ผู้บริโภคด้วยหรือไม่
ดัชนีราคาสินค้าหน้าโรงงานเดือนม.ค. ขยายตัวร้อยละ 4.3 ในช่วงปีถึงเดือนม.ค. ขยับเพิ่มจากอัตราขยายตัวร้อยละ 1.7 ระหว่างช่วง 12 เดือนถึงเดือนธ.ค. โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ตัวเลขดังกล่าวไว้ที่ร้อยละ 4.2
ตัวบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อทั้งสอง ไม่มีความเกี่ยวโยงกันมากนัก เนื่องจากการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาด และความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยับยั้งไม่ให้ราคาสินค้าไม่ขยับตัวขึ้นสูงนัก ทว่านักเศรษฐศาสตร์บางรายกลับชี้ว่า ยังมีปัจจัยบางประการที่อาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้เช่นกัน