เอเยนซี-ฟิตช์ เรตติ้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้ลดอันดับฯ สองธนาคารขนาดกลางจีน สะท้อนความกังวลที่มีมากขึ้น ถึงโอกาสต่อหนี้เสียจำนวนมากจากการปล่อยสินเชื่อของจีนเมื่อปีที่แล้ว
การประกาศของฟิตซ์ มีขึ้นหลังจากปิดตลาดในวันอังคาร (2 ก.พ.) โดยแถลงว่า ธนาคารที่ถูกลดอันดับเครดิต ซึ่งเป็นการยากที่จะเกิดกับธนาคารจีนครั้งนี้ คือ ไชน่า ซิติก แบงก์ (China CITIC Bank) กับ ไชน่า เมอร์ช้านท์ส แบงก์ (China Merchants Bank) ขณะที่ธนาคารระดับชาติอื่นๆ อีก 14 แห่งในจีนที่ฟิตช์สำรวจ ยังคงมีคะแนนเท่าเดิม
นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหกปี ที่ ฟิตช์ ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารจีน
ส่วนเรตติ้งของทาง มูดี้ส์อินเวสเทอร์ เซอร์วิส และ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในธนาคารจีนช่วงเวลานี้
“ธนาคารจีนเริ่มรู้สึกได้ถึงผลเสียของการที่เงินมีราคาถูกและหาง่ายจากการให้กู้ยืม” เลเน่ โคมิเล โบรกเกอร์ผู้ดูแลส่วน ตลาดเศรษฐกิจ จี 7 ของโบรกเกอร์ Tullett Prebon ในกรุงลอนดอนกล่าวและว่า คงยังเร็วเกินไปที่จะปักใจเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นแล้ว จากการรักษาอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน
ในวันเดียวกันนี้ แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) กล่าวว่า ธนาคารได้สั่งปรับฐานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการธนาคารจีน เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ให้บรรดาธนาคาร ระมัดระวังความผันผวนในภาคอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน
บรรดาธนาคารจีนได้ปล่อยวงเกินกู้มหาศาลในปี 2552 ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของมาตรการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจจีน จนทำให้เกิดยอดหนึ้สินเชื่อใหม่ ราว 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2551 ถึงสองเท่า แม้ว่าตอนนี้ ยอดหนี้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จะอยู่ในระดับต่ำ แต่มาตรการกู้ยืม ที่ถูกขับเคลื่อนโดยทางการเมือง ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นในหมู่นักวิเคราะห์เกี่ยวกับคุณภาพของบรรดาสินเชื่อใหม่เหล่านั้น
ฟิตช์กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อเพิ่มอย่างหนักหน่วงของธนาคารทั้งสอง ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีก่อน รวมทั้งการลดฮวบลงของจำนวนเงินทุนที่สำรองเงินกู้แต่ละครั้ง เมื่อเทียบดูกับธนาคารอื่นๆ แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะรักษาอันดับของพวกเขาในระดับที่สูงกว่ารายอื่นๆ
โดย ฟิตช์ ได้ทำการลดคะแนนความน่าเชื่อถือของธนาคารทั้งสอง ลงจาก C / D มาอยู่ที่ D ซึ่งมีความหมายถึง จุดอ่อนของภายในและ / หรือปัจจัยภายนอก ธนาคารที่มีคะแนน C คือ "เพียงพอ" แต่ มี "หนึ่งหรือหลายด้านอยู่ในสถานะลำบาก" และขณะนี้มีธนาคารจีน 16 แห่ง ที่ ฟิตช์จัดอันดับให้อยู่ในระดับ D, D / E และ E
แถลงการณ์ของฟิตช์ กล่าวว่า ซิติก เคยเป็นหนึ่งในธนาคารที่ดีที่สุดของจีนซึ่งจัดตามปริมาณขนาดทุนที่ปล่อยวงเงินสินเชื่อ และเน้นว่า ไชน่า เมอร์ช้านท์ส แบงก์ ได้ "จัดตั้งแฟรนไชส์ค้าปลีก, กองทุนคุ้มครองวงเงินหนี้สูญ และกระจายแหล่งรายได้อื่นๆ เพื่อรักษาสถานภาพทางการเงินเทียบเท่ารายอื่นๆ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะถ่วงดุลสภาพการเงินของตน
ฟิตช์ ยกเรื่อง เทคโอเวอร์ "วิง ลุง แบงก์" ของฮ่องกง ในปี 2551 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะสถานภาพการเงินของไชน่า เมอร์ช้านท์ส แบงก์
รายงานยังแสดงความกังวลถึงการสร้างธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ปรากฎในงบดุล ว่า ธนาคารทั้งสองแห่ง กำลังแบกความเสี่ยงเครดิตเพิ่มเติมจากที่ซุกอยู่ จากการแปลงสภาพ สินเชื่อเงินกู้ ในรูปแบบจัดการสินทรัพย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จำหน่ายออกไปมากที่สุดในปี 2552 โดยปกติผลิตภัณฑ์เหล่านี้ประกอบด้วยเงินกู้ ที่ธนาคารขายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ด้วยสัญญาจะซื้อสินเชื่อกลับคืนในอนาคต
ฟิตช์ กล่าวว่า ไม่มีธนาคารใดเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเงินกู้ที่ถูก แปลงสภาพ ว่ามีเท่าใด ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาสั่งระงับการกระทำดังกล่าวไปแล้ว เมื่อเร็วๆนี้
ทั้งนี้ ครั้งสุดท้ายที่ ฟิตช์ ประกาศลดอันดับธนาคารจีน คือธนาคารหัวเฉีย (Hua Xia Bank) ในเดือนตุลาคม 2546 ส่วนครั้งสุดท้ายของมูดี้ส์ คือ ธนาคารซิติก หรือ ธนาคารซีไอทีไอซี อินดัสเตรียล (CITIC Industrial Bank) เมื่อปี 2546 เช่นกัน
ในทางทฤษฎีแล้ว ด้วยวงเงินสำรองระหว่างประเทศ กว่า 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คงพอจะทำให้รัฐบาลจีนสามารถรองรับหนี้เสียต่างๆ ของบรรดาธนาคารจีนได้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กล่าวว่าโอกาสของการแทรกแซงยังเป็นเรื่องห่างไกล
โฮเวิร์ด ไซมอน นักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ตลาดตราสาร จาก Bianco Research ในชิคาโก กล่าวว่า ตามหลักวิชาแล้ว ความจำเป็นที่ต้องสำรองค้ำประกันบรรดาธนาคารจีน สามารถเหนี่ยวรั้งศักยภาพการเงินของจีนหรือชะลอความต้องการที่จะซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ได้
ไซมอน มองความโยกไหวของธนาคารจีนที่เกิดขึ้นนี้ว่า เหมือนดังสัญญาณเตือนภัยถึงปัญหาใหญ่ที่กำลังจะตามมา และว่าหากคนที่เขียนเช็คเริ่มมีปัญหาเครดิตของตัวเองแล้ว ปัญหาคงอยู่ที่ว่าใครจะเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับเช็คใบนั้น
ทั้งนี้ หลังวิกฤตสินเชื่อบ้านที่ปล่อยกู้แก่ผู้มีเครดิตต่ำกว่ามาตรฐาน (ซับไพรม์) ซึ่งขยายตัวเป็นวิกฤติการเงินโลกระหว่างปี 2550-2553 นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือและความไม่โปร่งใสของบริษัทจัดอันดับหลักๆ ที่สำคัญมาแล้ว กระทั่งเคยถูกธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ซึ่งเป็นองค์กรศูนย์กลางของธนาคารกลางทั่วโลก รายงานเรียกร้องให้ปรับปรุงการวิเคราะห์และประเมินหลักทรัพย์ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อตลาดการเงิน