เอเอฟพี – ดวงจีนกับสหรัฐฯ ปีนี้คงจะชงกันอย่างแรง ปัญหาพี่กันขายอาวุธให้ไต้หวันยังไม่ทันหาย ปัญหาทิเบตก็เข้ามาแทรก โดยปักกิ่งเตือนผู้นำสหรัฐฯ ห้ามพบกับองค์ทะไลลามะอย่างเด็ดขาด ขณะที่การเจรจารอบล่าสุดระหว่างจีนกับตัวแทนของผู้นำจิตวิญญาณทิเบต คว้าน้ำเหลว
นาย จู เหว่ยชวิน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวสต์ ซึ่งรับผิดชอบด้านการติดต่อกับองค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ออกมาแถลง เตือนประธานาธิบดี บารัก โอบาม่า แห่งสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (2 ก.พ.) ภายหลังจีนเสร็จสิ้นการเจรจาปัญหาทิเบต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีเมื่อสุดสัปดาห์ โดยปราศจากความคืบหน้า
การพบปะเช่นนั้นจะ “บ่อนทำลายรากฐานความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อย่างรุนแรง” นายจูระบุ
“หากผู้นำสหรัฐฯ เลือกพบปะกับทะไลลามะในตอนนี้ ย่อมเป็นสิ่งคุกคามความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อย่างแน่นอน” เขากล่าวสำทับ
“เราคัดค้านความพยายามใด ๆ ก็ตาม โดยกองกำลังต่างชาติในการแทรกแซงกิจการภายในของจีน โดยใช้ทะไลลามะเป็นข้อแก้ตัว”
คำเตือนดังกล่าวยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจเพิ่มความตึงเครียด หลังจากเขม็งเกลียวอยู่แล้วจากหลายปัญหา นับตั้งแต่กรณีสหรัฐฯ ตัดสินใจขายอาวุธล็อตใหญ่ให้ไต้หวัน, บริษัทกูเกิลขู่ถอนตัวจากจีน ตลอดจนปัญหาขัดแย้งด้านการค้า และค่าเงินหยวน
องค์ทะไลลามะ ซึ่งถูกจีนกล่าวหาว่า พยายามแบ่งแยกดินแดน เป็นอิสระจากจีน ทรงมีกำหนดเสด็จสหรัฐฯ ในเดือนนี้ โดยจะทรงแวะกรุงวอชิงตัน ดีซี แต่จะพบกับประธานาธิบดีโอบาม่าหรือไม่นั้น ยังไม่มีการประกาศออกมา
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโอบาม่าเคยถูกตำหนิในบ้านของตัวเอง ที่หลีกเลี่ยงไม่พบพระองค์ ก่อนหน้าการเยือนจีนในฐานะผู้นำสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา
สำหรับการเจรจากับคณะผู้แทนขององค์ทะไลลามะ นายจูระบุว่า เหมือนรอบที่ผ่าน ๆ มา กล่าวคือจุดยืนของสองฝ่ายยังแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยฝ่ายทิเบตยังยึดมั่นกับบันทึกช่วยจำ ที่ได้ยื่นในการเจรจารอบสุดท้ายเมื่อเดือนพ.ย.2551 ซึ่งยืนกรานว่าข้อเรียกร้องในการปกครองตนเอง มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของจีน
ทั้งนี้ หลังจากเกิดการจลาจลต่อต้านจีนในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนเมื่อเดือนมี.ค. ปี2551 รัฐบาลปักกิ่งได้กวาดล้างนักเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนอย่างหนัก โดยมีการประหารนักเคลื่อนไหวหลายคน ที่เกี่ยวข้องกับการจลาจลครั้งนั้น และเมื่อต้นเดือนนี้ จีนยังได้แต่งตั้ง ปัดมา โชลิง (Padma Choling) นายทหารผ่านศึก ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเขตปกครองตนเองทิเบตคนใหม่ด้วย
ทุปเทน ซัมเปล (Thubten Samphel) โฆษกฯ รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ได้ออกมากล่าวหลังจากจีนแถลงเตือนสหรัฐฯ ว่า ในมุมมองของทิเบตนั้น สหรัฐฯ เป็นเพียงผู้มีบทบาทเป็นคนกลางมาช่วยทำให้การพูดคุยระหว่างผู้แทนขององค์ทะไล ลามะ กับรัฐบาลจีน เป็นไปอย่างราบรื่น จริงใจ ดังนั้นจึงไม่น่าจะผิดอะไรที่จะพบปะพูดคุยกัน พร้อมกับกล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ "ไม่มีเหตุผล" ที่จะต้องกลัวพร้อมกับเรียกร้องฝั่งจีนให้หยุดกล่าวหาองค์ทะไล ลามะอย่างเลื่อนลอย ว่าเป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน
โดยจู เหว่ยชวิน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวสต์ กล่าวว่า ทะไลลามะ คือ "ผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน" และ "สร้างปัญหา" ถ้าองค์ทะไลลามะยังทุ่มเทตนเอง โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อต่อต้านจีน และแกล้งทำลายจีนบนเวทีนานาชาติ กระบวนการเจรจา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 ก็ไม่อาจคืบหน้าได้ โดยการเจรจารอบอื่น ๆนั้น “ขึ้นอยู่กับทะไลลามะเอง”
โลดี กยารี (Lodi Gyari) และเกลซัง กยัลต์เซ็น (Kelsang Gyaltsen) ยืนยันว่า พวกเขาได้บอกกับทางจีนอย่างชัดแจ้งแล้วว่า องค์ทะไลลามะ ผู้ลี้ภัยจากบ้านเกิด ตั้งแต่ปี 2502 หลังการลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองจีนล้มเหลว ไม่ได้มีความต้องการส่วนตัวใดๆ และทุกอย่างเป็นไปเพื่อสิทธิฯ และสวัสดิภาพของชาวทิเบต องค์ทะไลลามะทรงยืนยันมาโดยตลอดเช่นกันว่า พระองค์เพียงแต่เรียกร้องอิสรภาพของชาวทิเบตในการปกครองตนเองมากขึ้น นอกจากนั้น ยังทรงเตือนด้วยว่า วัฒนธรรมทิเบตกำลังตกอยู่ในอันตราย ที่ใกล้จะสูญสลายแล้ว การที่รัฐบาลจีนเข้าใจว่า ทิเบตต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากจีนนั้นถือเป็นความเข้าใจผิด พร้อมยืนยันว่า ทิเบตไม่ได้คาดหวังว่าจะแยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งความตั้งใจนี้ ทิเบตได้แจ้งให้จีนทราบแล้ว