xs
xsm
sm
md
lg

เจรจาคืบหน้า ถ้ารับว่าทิเบตเป็นของจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้นำแห่งจิตวิญญาณทิเบตทรงสวดมนต์ที่วัดแห่งหนึ่ง โดยรัฐบาลจีนยอมรื้อฟื้นเจรจาปัญหาทิเบตกับคณะผู้แทนของท่านแล้ว หลังจากชะงักงันมานาน 15 เดือน - เอเอฟพี
เอเอฟพี – จับตาเจรจาปัญหาทิเบต หลังจากพญามังกรยอมกลับมานั่งโต๊ะถกกับคณะผู้แทนขององค์ทะไลลามะเป็นครั้งแรก นับแต่เกิดเหตุจลาจลในเขตปกครองตนเองทิเบตเมื่อกว่าหนึ่งปีก่อน

การเจรจาระหว่างรัฐบาลจีนกับคณะผู้แทน นำโดยโลดี กยารี (Lodi Gyari) และเกลซัง กยัลต์เซ็น (Kelsang Gyaltsen) ซึ่งมาถึงจีนเมื่อวันอังคาร (26 ม.ค.) คาดว่าจะดำเนินนาน 1 สัปดาห์ โดยนับเป็นการเจรจาครั้งที่ 9 ตั้งแต่เริ่มการเจรจากันมาเมื่อปี 2545 โดยครั้งสุดท้ายที่เจรจากันคือในเดือนพ.ย.2551 และได้หยุดชะงักมานาน 15 เดือนจากสาเหตุดังกล่าว โดยระหว่างนั้น จีนได้ปรับโยกย้ายตำแหน่งผู้นำเขตปกครองตนเองทิเบต และประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการจัดทำร่างโครงการพัฒนาทิเบตและภูมิภาคใกล้เคียง ที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่สำหรับทศวรรษหน้า

ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแสดงความยินดี และหวังว่า จะบรรลุผลในแง่ดี เพื่อปูทางสำหรับการเจรจาครั้งต่อ ๆ ไป โดยแหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่าได้รับแจ้งเรื่องการรื้อฟื้นเจรจามาก่อนหน้าที่เขาจะไปเยือนแดนมังกรอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว และระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้ขอให้จีนกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกด้วย

การจลาจลในลาซาเมืองเอกของเขตปกครองตนเองทิเบตเมื่อปี 2551 ซึ่งลุกลามไปยังเขตอื่น ๆ ที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต ทำให้รัฐบาลปักกิ่งมีจุดยืนดุดันแข็งกร้าวต่อรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตในเมืองธรรมศาลา,ประเทศอินเดีย โดยประณามองค์ทะไลลามะว่า เป็นผู้บงการให้เกิดเหตุวุ่นวายครั้งนี้ และยืนกรานให้พระองค์ล้มเลิกความตั้งใจและการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นเงื่อนไข ที่จะทำให้การเจรจาก้าวหน้า

แต่อีกฝ่ายก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น และยืนยันมาโดยตลอดเช่นกันว่า พระองค์เพียงแต่ทรงร้องขอ “อิสรภาพในการปกครองตนเองอย่างมีความหมาย” ภายใต้การปกครองของจีน ซึ่งเป็นแนวทางที่นุ่มนวลขึ้น แต่คนหนุ่มสาวชาวทิเบตกลับไม่ให้การสนับสนุนมากขึ้นทุกทีในขณะนี้

นายเหลียน เซียงหมิน ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยของศูนย์วิจัยทิเบตศึกษาแห่งจีน ซึ่งรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนระบุเมื่อวันจันทร์ (25 ม.ค.) ว่า หนทางเดียว ที่จะทำให้การเจรจาคืบหน้าก็คือองค์ทะไลลามะต้องยอมรับว่า “ทิเบตเป็นของจีนมาโดยตลอด”

“จนถึงเวลานี้เขายังกล่าวแต่เพียงว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาตั้งแต่ปี 2502 เมื่อกองทัพประชาชนเข้ายึดครอง ซึ่งเป็นการบอกว่า ก่อนหน้านั้น ทิเบตไม่ได้เป็นของจีน” นายเหลียนกล่าว

ด้านดร.แคร์รี่ บราวน์ สมาชิกอาวุโสของแช็ตแทมเฮาส์ (Chatham House) ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นสถาบันด้านกิจการระหว่างประเทศ และเป็นองค์กรนอกภาครัฐ ให้ความเห็นว่า การเจรจาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งไปข้างหน้า แต่เขาไม่มองในแง่ดี

“ประการสำคัญก็คือพวกเขา(ปักกิ่ง) ไม่อยากเห็นความไม่สงบอีกต่อไป”

เมื่อต้นเดือนนี้ จีนได้จัดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับงานด้านทิเบต ซึ่งจัดมาทั้งหมด 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2492 โดยประธานาธิบดีหูระบุว่า “การสร้างทิเบตด้วยลักษณะเฉพาะของทิเบตเอง”จะเป็นงานสำคัญอันดับแรกสำหรับภูมิภาคนี้ โดยรัฐบาลจีนยังให้คำมั่นอัดฉีดเงินเข้าไปพัฒนาที่นั่นอีกด้วย

คลิกอ่าน สู่ ‘เอกราช’ ทิเบต! ฝันที่(ไม่)เป็นจริง?
กำลังโหลดความคิดเห็น