เอเจนซี-พญามังกรยัวะอเมริกากรณีตัดสินขายอาวุธทันสมัยให้แก่ไต้หวัน งัดมาตรการโต้ตอบแรงสุด ประกาศแช่แข็งความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางการทหาร และยังขู่บอตคอตกลุ่มบริษัทผลิตอาวุธอเมริกัน นับเป็นครั้งแรกที่จีนจะโต้ตอบบริษัทอาวุธอเมริกันในกรณีขายอาวุธให้ไต้หวัน
สืบเนื่องจากเมื่อวันศุกร์(29 ม.ค.) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศรับรองการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแพคเกจอาวุธที่วอชิงตันจะขายให้แก่ไต้หวันครั้งนี้ มีอาวุธชั้นนำรวมอยู่ด้วย ได้แก่ ฝูงเฮลิคอปเตอร์แบล็ค ฮอว์ค (Black Hawk) ชุดขีปนาวุธแพทริออตรุ่นสาม (Patriot Advanced Capability-3) อีกทั้งอุปกรณ์การสื่อสารสำหรับกองกำลังเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ของไต้หวัน
ด้านผู้นำจีนแถลงมาตรการระงับการแลกเปลี่ยนทางทหาร และการเจรจาด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา โดยรวมถึงการเจรจาว่าด้วยการควบคุม และการไม่แพร่กระจายอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูง นอกจากนี้ จีนอาจใช้มาตรการโต้ตอบต่อกลุ่มบริษัทอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับสัญญาขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน
เหอ ย่าเฟย รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศได้ส่งหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการไปยัง นาย Jon Huntsman เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงปักกิ่งในวันเสาร์(30 ม.ค.) โดยในหนังสือประท้วงเรียกร้องให้วอชิงตันยกเลิกการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมมังกรยังได้เชิญทูตทหารจากสถานทูตสหรัฐฯในกรุงปักกิ่ง มารับทราบการระงับสัมพันธ์ทางทหาร
ทั้งนี้ มาตรการโต้ตอบของจีน จะกระทบต่อความร่วมมือที่สหรัฐฯกำลังเรียกร้องจากจีนมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาการเงินโลก การเผชิญหน้าด้านอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือและอิหร่าน ตลอด2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา จีนและอเมริกามึนตึงต่อกันจากกรณีที่สหรัฐฯได้หยิบยกประเด็นเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตขึ้นมาโจมตีจีน หลังจากเกิดกรณีงัดข้อระหว่างกูเกิลและจีนสืบเนื่องจากการเซ็นเซอร์ผลการสืบค้นของเสิร์ช เอนจินในจีน
หยาง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแถลงย้ำในวันอาทิตย์(31 ม.ค.)ว่า การขายอาวุธแก่ไต้หวัน บ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติของจีน และการรวมชาติกับไต้หวัน
จีนยึดถือมาตลอดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และจะต้องรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันในที่สุด แม้จะต้องใช้กำลังเข้ายึดครองดินแดนหากจำเป็น สำหรับรัฐบาลในไทเป เป็นรัฐบาลปกครองตัวเอง จัดตั้งโดยพรรคก๊กมินตั๋งที่แพ้สงครามกลางเมืองเมื่อปี 2492 และถอยไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน
สหรัฐฯได้ขายแพคเกจอาวุธแก่ไต้หวันครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมปี 2551 สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และในครั้งนั้น จีนก็โต้ตอบด้วยการตัดสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯเป็นการชั่วคราว
หวง เสี่ยผิง โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน แถลงในวันอาทิตย์ด้วยว่า การออกมาตรการโต้ตอบวอชิงตันครั้งนี้ สะท้อนว่า การขายอาวุธแก่ไต้หวัน ได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงเพียงไร การกระทำของสหรัฐฯขัดต่อปฏิญญาร่วมระหว่างสองประเทศ ที่แถลงระหว่างที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เยือนประเทศจีนในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ จีนยังได้ขู่ว่าจะคว่ำบาตรบรรดาบริษัทอเมริกัน ที่เกี่ยวข้องกับการขายอาวุธให้ไต้หวัน โดยเป็นครั้งแรกที่จีนคิดจะงัดมาตรการนี้มาใช้โต้ตอบวอชิงตัน
แพคเกจอาวุธที่รัฐบาลโอบามาได้รับรองขายให้ไต้หวันครั้งนี้ มีอาวุธชั้นนำรวมอยู่ด้วย ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์ แบล็คฮอว์ค ผลิตโดย Sikorsky Aircraft บริษัทลูกของ United Technologies Corp และขีปนาวุธแพทริออต ที่ Lockheed Martin Corp-built and Raytheon Co ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีขีปนาวุธที่ใช้โจมตีจากทะเล และพื้นดิน Harpoon จากบริษัท โบอิ้ง (Boeing Co)
อย่างไรก็ตาม แพคเกจขายอาวุธแก่ไต้หวันนี้ ยังต้องผ่านการทบทวนและชี้ขาดจากสภาคองเกรสใน 30 วัน ซึ่งตามประเพณีนั้น วุฒิสมาชิกอเมริกันสนับสนุนการขายอาวุธให้ไต้หวัน
นาย P.J. Crowley โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงในวันเสาร์ แสดงความเสียใจที่จีนจะยุติการความสัมพันธ์ทางทหาร และความร่วมมือด้านความมั่นคงอื่นๆ ตลอดจนการลงโทษบริษัทเมริกัน พร้อมยืนยันว่า “นโยบายของเราจะแผ่อานิสงค์แก่ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค”
กลุ่มเจ้าหน้าที่ในวอชิงตันยังชี้ว่า ไต้หวันยังล้าหลังจีนในด้านดุลอำนาจทางทหาร และจะต้องปรับความทันสมัยแก่กองทัพเพื่อขยายพลังในการเจรจากับจีน โดยขณะนี้ไต้หวันเผยว่าจีนได้เล็งขีปนาวุธทั้งพิสัยกลางและพิสัยใกล้มายังไต้หวัน โดยขีปนาวุธเหล่านี้ มีจำนวนระหว่าง 1,000 – 1,500 ลูก
ทั้งนี้ สหรัฐฯถือไต้หวันเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุด และเป็นซัปพลายเออร์อาวุธรายใหญ่สุด โดยอเมริกันได้อ้างกฎหมายความร่วมมือเพื่อการป้องกันตัวเองของไต้หวัน หากเกิดภัยคุกคามจากภายนอก
สำหรับแพคเกจอาวุธที่วอชิงตันจะขายให้ไต้หวันล่าสุดนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนทากอนได้ตัดอาวุธหลายชุดที่ไต้หวันต้องการออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวเช่นกัน ได้แก่ ฝูงเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 รุ่นใหม่ๆ และเทคโนโลยีสำหรับเรือดำน้ำดีเซล จากการเปิดเผยของหวัง กาวเฉิง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารประจำมหาวิทยาถันเจียงในไทเป
ผู้นำไต้หวันโต้อาวุธอเมริกัน ช่วยการพัฒนาสัมพันธ์กับจีน
ด้านประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง กล่าวโต้ตอบว่า การขายอาวุธครั้งนี้ จะช่วยให้ไต้หวันพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนไปไกลขึ้น “การซื้อขายอาวุธนี้ จะทำให้กองกำลังไต้หวันมีความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กับจีน “ สำนักข่าวกลางแห่งไต้หวันอ้างคำอ้างของหม่า อิงจิ่ว นอกจากนี้ หม่า ยังยืนยันว่า อาวุธที่ซื้อจากสหรัฐฯนั้น ล้วนเป็นกลุ่มอาวุธเพื่อการป้องกัน(defensive weapon) ไม่ใช่อาวุธเพื่อการโจมตี (offensive weapon)
นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมไต้หวันยังได้แถลงย้ำด้วยว่า “กระทรวงกลาโหมไต้หวันยินดี และขอบคุณสหรัฐฯ ที่กำลังช่วยให้ไต้หวันมีความมั่นใจมากขึ้น ในการผลักดันการรวมชาติกับจีน ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน”