xs
xsm
sm
md
lg

เกมรักษาอิทธิพลเหนือช่องแคบไต้หวัน เกมที่ใครๆก็ต้องเล่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเครื่องบินขับไล่ F-16/C ที่ไต้หวันขอซื้อจากสหรัฐฯมาหลายปี แต่ผู้นำสหรัฐฯยังยั้งใจ ไม่ขายให้
แม้พญาอินทรี พยายามปรับสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับพญามังกร ในยามที่ต้องการพลังอำนาจของพญามังกร ช่วยคลี่คลายปัญหาโลกในหลายๆด้าน ทั้งวิกฤตการเงิน ภัยคุกคามสันติภาพและความมั่นคงโลกจากเหล่ารัฐที่วอชิงตันตีตราเป็นรัฐอันธพาลได้แก่ เกาหลีเหนือ และอิหร่าน แต่สำหรับมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จะมีอะไรสำคัญไปกว่าการรักษาอิทธิพลในภูมิภาคยุทธศาสตร์สำคัญ แม้จะต้องกระดุกหนวดพญามังกรให้พิโรธอย่างแรง

รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามาแถลงรับรองแพคเกจขายอาวุธแก่ไต้หวัน มูลค่า 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวันศุกร์(29 ม.ค.) โดยการซื้อขายนี้จะบรรลุสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อสภาคองเกรสไฟเขียวรับรองใน 30 วัน ซึ่งโดยประเพณีนั้น กลุ่มวุฒิสมาชิกก็สนับสนุนการขายอาวุธให้ไต้หวันอยู่แล้ว

และในพลัน กลุ่มผู้นำจีนก็วิ่งฝุ่นตลบโวยลั่น โดยยกแรก เหอ ย่าเฟย รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงต่างประเทศ แถลงโต้ว่า สหรัฐฯแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างน่าเกลียด สร้างความเสี่ยงอันตรายแก่ความั่นคงแห่งชาติจีน และบ่อนทำลายการรวมชาติอย่างสันติกับไต้หวัน

พร้อมกันนี้ จีนได้ประกาศมาตรการโต้ตอบ โดยระงับการแลกเปลี่ยนทางการทหาร และยังขู่คว่ำบาตรกลุ่มบริษัทอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับแพคเกจขายอาวุธครั้งนี้ด้วย สำหรับมาตรการแรก ก็อาจกระทบต่อความช่วยเหลือที่สหรัฐฯต้องการจากจีน โดยในเร็วๆนี้ จะมีการเจรจาความมั่นคงยุทธศาสตร์ การควบคุมอาวุธ และการไม่แพร่กระจายอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูง ซึ่งอเมริกาหวังให้จีนซึ่งพอมีอิทธิพลเหนือโสมแดง และอิหร่าน ช่วยเจรจากับชาติคู่ปรับทั้งสอง

ชุดมาตรการโต้ตอบที่จีนงัดออกมาโต้สหรัฐฯในกรณีขายอาวุธให้ไต้หวันครั้งดูแรงสุด สะท้อนถึงความไม่พอใจสุดๆเท่าที่สามารถ จีนซึ่งได้เตือนผู้นำในวอชิงตันหลายครั้งในกรณีขายอาวุธให้ไต้หวัน ก็คงหวังจะปรามวอชิงตันได้ด้วยสถานภาพแห่งชาติอำนาจเศรษฐกิจในปัจจุบัน

สำหรับจีนนั้น ยึดถือไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ ที่จะต้องรวมชาติกันในที่สุด ถึงกับขู่ใช้กำลังเข้ายึดครองหากจำเป็น แต่สหรัฐฯก็ยังต้องรักษาความเป็นมหาอำนาจและผลโยชน์อันกว้างขวางและลึกซึ้ง

วอชิงตันแถลงเหตุผลในการขายอาวุธให้ไต้หวัน ว่าเป็นการดุลอำนาจในภูมิภาค โดยได้ออกรายงานระบุไต้หวันยังล้าหลังจีนในด้านดุลอำนาจทางทหาร และจะต้องปรับความทันสมัยแก่กองทัพเพื่อขยายพลังในการเจรจากับจีน และขณะนี้จีนได้เล็งขีปนาวุธยังไต้หวัน ระหว่าง 1,000 – 1,500 ลูก นี่คือ เหตุผลในระดับหนึ่ง

ที่สำคัญคือ ผู้นำในวอชิงตันนั้นหวาดระแวง และมักออกข่าวเป็นระยะเพื่อสร้างกระแสเกี่ยวกับความน่าสงสัยความโปร่งใสด้านการใช้จ่ายด้านการทหารจีนการขยายกองกำลัง ย่านเอเชีย-แปซิฟิก จัดเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับสหรัฐฯมาแต่อดีต และได้จัดตั้งกองกำลังจำนวนมหาศาลประจำการตามพื้นที่ต่างๆรวมเหยียบแสนนาย อาทิ มีกองกำลังถึง 28,500 นาย ในเกาหลีเหนือ เพื่อคอยสกัดเกาหลีเหนือ เป็นต้น

เรื่องของจีนสองดินแดน และสหรัฐฯนั้น เปิดฉากขึ้น เมื่อผู้นำเจียง ไคเช็ค แห่งพรรคจีนคณะชาติ หรือพรรคก๊กมินตั๋ง แพ้สงครามกลางเมืองในจีนเมื่อปี 2492 และได้หนีมายังเกาะไต้หวัน จัดตั้งรัฐบาลจีน โดยใช้ชื่อประเทศจีนชื่อเดิมคือ สาธารณรัฐจีนที่ก่อตั้งในปี 2455 (ค.ศ.1912) หลังโค่นล้มราชวงศ์ชิง ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง ผู้ชนะสงครามได้จัดตั้งรัฐบาลจีนใหม่ในกรุงปักกิ่ง เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน และด้วยปฏิปักษ์ระบอบการปกครองทุนนิยม และคอมมิวนิสต์ วอชิงตันย่อมหนุนไต้หวันแน่นอน แต่ในที่สุดสหประชาชาติก็รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน แทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)ในปี 2514 และสหรัฐฯก็ต้องหันมารับรองรัฐบาลในกรุงปักกิ่ง เป็นรัฐบาลจีนแห่งเดียวในโลกเมื่อปี 2522 (1979) แต่คองเกรสเมกาต้องการขายอาวุธให้ไต้หวันเพื่อปัองกันตัวเอง (ตามเป้าหมายที่แถลง) ดังนั้น สหรัฐฯจึงผ่านกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ในปีเดียวกันนั้น เพื่อช่วยเหลือไต้หวันในการป้องกันตัวเอง
เรือดำเรือAIP อาวุธอีกชิ้นที่ไต้หวันต้องการมาก
ไต้หวันได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธจากสหรัฐฯภายใต้โครงการ Foreign Military Sales Program จากปี 2493 จนถึงปี 2549 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 18,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการซื้อขายภายใต้โครงการดังกล่าว กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐฯหรือเพนทากอน มีบทบาทเป็นเอเย่นต์ ระหว่างกลุ่มผู้ทำสัญญาด้านการทหาร กับกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ เมื่อคองเกรสไฟเขียวการเดินหน้าขายอาวุธ ข้อเสนอแพคเกจอาวุธที่จะขาย จะกลายเป็นคำสั่งซื้อที่แน่นอนก็ต่อเมื่อไต้หวันได้ลงนามสัญญากับเพนทากอน หรือกลุ่มบริษัทอาวุธ

สหรัฐฯขายอาวุธให้ไต้หวันครั้งล่าสุดในปี 2551 ระหว่างสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และครั้นนั้นจีนก็ได้โต้ตอบด้วยการระงับการเจรจาทางทหารชั่วคราว

สำหรับอาวุธที่สหรัฐฯจะขายให้ไต้หวันครั้งนี้ ประกอบด้วยอาวุธชั้นนำ อย่าง ฝูงเฮลิคอปเตอร์ แบล็คฮอว์ค (Black Hawk) จำนวน 60 ลำ มูลค่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ของ United Technologies Corp, ระบบขีปนาวุธต่อต้านจรวดนำวิถีแพทริออตรุ่นใหม่ (Patriot Advanced Capability-3) ของ Lockheed Martin Corp-built และ Raytheon Co มูลค่า 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ, ขีปนาวุธโจมตีเรือ Harpoon จากบริษัท โบอิ้ง (Boeing Co) มูลค่า 37 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

แต่สหรัฐฯก็ยังยับยั้งชั่งใจที่จะไม่แคร์จีนแบบหลุดโลกและอาจด้วยเหตุผลอื่นๆ โดยปฏิเสธขายเครื่องบินขับไล่ F-16 C/D และเรื่องดำน้ำดีเซล ซึ่งรัฐบาลไต้หวันต้องการมานานหลายปี

สำหรับไต้หวัน ก็ใช่ย่อย ประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง แม้เป็นผู้ผลักดันสัมพันธ์กับจีนชื่นมื่นครั้งประวัติการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา โต้ตอบว่าการขายอาวุธครั้งนี้ จะช่วยให้ไต้หวันพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนไปไกลขึ้น “การซื้อขายอาวุธนี้ จะทำให้กองกำลังไต้หวันมีความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กับจีน “.
กำลังโหลดความคิดเห็น