xs
xsm
sm
md
lg

Body of Lies : ได้มาตรฐานความบันเทิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ถึงนาทีนี้ ผมเชื่อว่า คอหนังแอ็กชั่นคงจะรู้แจ้งกันไปแล้วว่า ผลงานเรื่องใหม่ล่าสุดของผู้กำกับริดลี่ย์ สก็อต ไม่ใช่หนังบู๊ที่จะดูเอามันสะบั้นหั่นแหลก และแน่นอนที่สุด อาการที่เกิดตามมาก็คงไม่พ้น “ผิดหวัง”...มากหรือน้อย แตกต่างกันไปในแต่ละคน อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า นี่ก็น่าจะเป็นบทเรียนอีกหนึ่งบทที่คนดูหนังพึงสังวรไว้เช่นกัน

เพราะอะไรน่ะหรือ?

สั้นๆ เลยครับ Body of Lies ทำให้ผมนึกไปถึงหนังอีกหลายๆ เรื่องที่ได้เข้ามาฉายในบ้านเรา ยกตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว กับผลงานของโรเบิร์ต เรดฟอร์ด เรื่อง Lions For Lamp ที่คำโฆษณาตลอดจนตัวทีเซอร์ที่ใช้สำหรับการโปรโมท ทำให้คนดูรู้สึกหรือคาดหวังไปว่ามันคงเป็นหนังแอ็กชั่นสงครามที่รบกันสนั่นจอ แต่ตัวหนังที่ออกมาจริงๆ กลับเข้มข้นหนักหน่วงด้วยเนื้อหาความคิดที่ตัวละครงัดออกมารัวใส่กันจนฟัง (และคิดตาม) แทบไม่ทัน แน่นอนว่า Lions For Lamp มีฉากแอ็กชั่นอย่างโต้แย้งไม่ได้ แต่ก็มีอยู่แค่ 4-5 ฉากเท่าๆ กับที่เห็นในทีเซอร์เท่านั้นนั่นแหละ!!

ครับ ที่พูดแบบนี้ ผมไม่ได้จะบอกว่า เนื้อหาของ Body of Lies ดีงามเข้มข้นเทียบเท่ากับผลงานของเรดฟอร์ด (และถ้าเทียบกันแบบปอนด์ต่อปอนด์ ผมยังคงชอบ Lions For Lamp มากกว่า Body of Lies) ผมเพียงแต่ต้องการชักชวนให้ “ฉุกคิด” ครับว่า พลานุภาพของการโปรโมทหนังนั้นมันมีพลังดึงดูดเรียกคนดูได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบหนังแนวบู๊ๆ กันอยู่ด้วยแล้ว จะมีอะไรอีกล่ะท่านที่เยี่ยมยอดไปกว่าการโปะฉากแอ็กชั่นเข้าไปในตัวทีเซอร์โฆษณา แม้เมื่อดูกันจริงๆ ฉากแอ็กชั่นที่ว่านั้นจะเป็นเพียงส่วนประกอบที่จิ๊บจ๊อยมากๆ ของหนังเรื่องนั้นๆ ก็ตามที (Lions For Lamp ก็คือ case study ที่ชัดที่สุดในประเด็นนี้)

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด Body of Lies เป็นหนังที่จัดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ว่าจะมองในมุมของเนื้อหาเรื่องราวหรือวิธีการเล่าเรื่อง แต่ความดีงามของหนังก็อาจลดทอนลงไป เพราะคำโฆษณาที่ไป “สร้างความคาดหวัง” ไว้ให้กับคนดูล่วงหน้าก่อนแล้ว ซึ่งสิ่งนี้ ผมมองว่าคนที่คิดโฆษณาหนังต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน เพราะก็อย่างที่เรารู้ครับว่า หลายๆ คน เมื่อได้ดูแล้วรู้ว่าหนังมันไม่ได้แอ็กชั่นอย่างที่โฆษณา ก็พาลหาว่าหนังไม่ดีไปเลยก็มี และสิ่งนี้มันก็ส่งผลต่อตัวหนังโดยตรง เพราะอย่าลืมนะครับว่า เดี๋ยวนี้ เรามีโลกไซเบอร์ที่แพร่กระจายเรื่องแบบนี้ได้เร็วมาก

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น มันมีคนที่พร้อมจะคล้อยตามคนอื่นแบบนี้เยอะมากอย่างไม่น่าเชื่อ คือให้คนอื่นตัดสินใจแทนว่าหนังเรื่องไหนดีหรือไม่ดี ควรดูหรือไม่ควรดู ซึ่งก็อยากฝากบอกครับว่า ถึงที่สุดแล้ว ความเห็นทั้งหลายทั้งปวงที่เราๆ ท่านๆ ได้อ่านตามเว็บบอร์ดต่างๆ หรือแม้กระทั่งในบทความชิ้นนี้ ก็เป็นแค่เพียง “มุมมอง” และ “ความคิดเห็น” ส่วนบุคคลซึ่งเราอาจจะหยิบมาใช้เป็นไกด์ไลน์ที่ได้เรื่องบ้างไม่ได้เรื่องบ้าง แต่ที่แน่ๆ มันไม่ใช่ “คำตอบสุดท้าย” อย่างแน่นอน

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า...

ว่ากันโดยข้อมูลพื้นฐานที่สุด นี่คือผลงานของผู้กำกับริดลี่ย์ สก็อต หนึ่งในคนทำหนังที่สร้างผลงานออกสู่ผู้ชมอย่างต่อเนื่องจนแทบจะพูดได้ว่า ริดลี่ย์ สก็อต ดูเหมือนจะเป็นผู้กำกับพลังเหลือ จากผลงานที่มีให้ดูแทบไม่เว้นแต่ละปี และที่สำคัญ หนังทุกเรื่องของเขาก็ทำได้ในระดับที่ดีเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะเป็น Black Hawk Down, Thelma & Louise, Blade Runner, American Gangster รวมไปจนถึงหนังออสการ์อย่าง Gladiator ฯลฯ (ขณะที่หลายๆ คนอาจเคยได้เห็นเขาในมาดคนทำหนังสั้นที่มีผลงานรวมอยู่ใน All the Invisible Children)

ด้วยบทภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ “เดวิด อิเนเทียส” Body of Lies เล่าถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ซีไอเอ 2 คน คือ “โรเจอร์ เฟอร์ริส” กับ “เอ็ด ฮอฟฟ์แมน” ที่เปิดศึกตามล่าหาตัว “อัล-ซาลีม” ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์การก่อการร้ายทั้งหลายทั้งปวง หนังเรื่องนี้พาเราเดินทางไปในหลายๆ ประเทศ ไล่ตั้งแต่อิรัก เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ก่อนจะไปจบลงที่จอร์แดนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่หลบซ่อนตัวของอัล-ซาลีม ซึ่งแน่นอนครับ การที่เรื่องราวในหนังกระโดดข้ามไปประเทศโน้นที ประเทศนี้ที คงไม่ใช่เพราะผู้กำกับอยากจะทำเท่ห์ แต่มันมีนัยยะสำคัญที่โยงใยไปถึงเครือข่ายกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่กระจายอยู่ในแทบจะทุกพื้นที่ทั่วโลกด้วยในขณะเดียวกัน

ทิศทางของสองตัวละครหลักมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวละครในหนังคู่หูแนวๆ Rush Hour เพียงแต่คู่หูในหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีรูปแบบ “ไปไหนไปกัน” เพราะในขณะที่เฟอร์ริสต้องรับบทสายลับลงปฏิบัติงานในพื้นที่ เอ็ด ฮอฟฟ์แมน กลับนั่งบัญชาการอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ ของสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตันดีซี

ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ รับบทบาทสายลับขาลุยได้ดูสมจริงสมจัง เนี้ยบ และดูเข้ม ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พ่อหนุ่มลีโอฉีกมาดผู้ชายหล่อเหลาเจ้าสำอางมารับบทเข้มๆ เพราะอย่างน้อยๆ เราก็เคยได้เห็นเขาในบทบาทแบบนี้มาแล้วใน Blood Diamond และ Body of Lies ก็คือพัฒนาการอีกขั้นของพ่อหนุ่มคนนี้อย่างไม่อาจปฏิเสธ ส่วนรัสเซล โครว์ ที่เพิ่มน้ำหนักจนพุงพลุ้ยเพื่อรับบท “เอ็ด ฮอฟฟ์แมน” กลับทำให้ดูตุ้ยนุ้ยอืดอาดเกินไป รวมทั้งลักษณะคาแรกเตอร์ก็ดูเหลาะแหละเหมือนคนไม่เอาจริงเอาจัง และในที่สุด มันก็ส่งผลให้ตัวละครตัวนี้ดูไม่สมบทบาทของซีไอเอที่รับผิดชอบความเป็นความตายของผู้คน

ในส่วนของเนื้อหา ถือได้ว่า Body of Lies มีความแปลกใหม่ในตัวเองพอสมควร เพราะถึงแม้มันจะเป็นหนังที่พูดถึงการก่อการร้าย แต่ก็ไม่ได้มุ่งเน้นจะตีแผ่หรือประณามความเลวร้ายของเหล่า Terrorist แต่อย่างใด แต่หันมาโฟกัสที่ฝ่ายปราบปรามแทน ซึ่งหนังก็ทำให้เราได้เห็นว่า มองในบางมุม คนเหล่านี้ บางที ก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก “ผู้ก่อการร้าย” สักเท่าไหร่ เพราะในขณะที่โลกกำลังลุกไหม้เป็นไฟ มันก็ยังมีคนบางที่กำลังเล่นเกมปราบปรามการก่อการร้ายอย่างสกปรก ซึ่งในหนังเรื่องนี้ก็คือ การกุเรื่องโกหกลวงหลอกศัตรูที่กลับนำมาซึ่งผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์ ส่วนชื่อของหนังที่มีคำว่า Body รวมอยู่ด้วย ก็ไม่ได้หมายถึง “ร่างกาย” หรือ “ศพ” แต่หมายถึง กลุ่มคนซึ่งสมรู้ร่วมคิดกันในปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่ปฏิบัติการใน Body of Lies ไม่ใช่ปฏิบัติการที่สวยหรูเท่าไรนัก เพราะมันข้นคลั่กไปด้วยการโกหกหลอกลวง (นั่นก็คือคำว่า Lies ในชื่อหนัง)

อย่างไรก็ตาม ประเมินโดยภาพรวมทั้งหมด ผมเห็นว่า Body of Lies ดูจะแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับผลงานที่ผ่านๆ มาของริดลี่ย์ สก็อต ในแง่ของ “ความน่าประทับใจ” เพราะใครก็ตามที่เคยดู Black Hawk Down, The Gladiator หรือแม้กระทั่ง Thelma & Louise จะเห็นว่า หนังเหล่านั้น อย่างน้อยที่สุด มันได้ทิ้ง “บางสิ่งบางอย่าง” ติดค้างและตราตรึงอยู่ในใจเราหลังจากดูจบ แต่ Body of Lies กลับดูเหมือนหนังประเภทสายลับพื้นๆ ทั่วๆ ไปที่เปิดฉากไล่ล่าผู้ร้ายตั้งแต่ต้นจนจบ

พูดแบบพื้นๆ ก็คือ หนังไม่มี “ประเด็น” ที่เด่นชัดและหนักแน่นเพียงพอที่จะตราตรึงอยู่ในใจเราเหมือนหนังหลายๆ เรื่องที่ผ่านมาของริดลี่ย์ สก็อต (ในศิลปะวรรณกรรมอาจจะเรียกอะไรแบบนี้ว่า “ความสะเทือนใจ” ซึ่งความสะเทือนใจที่ว่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการสูญเสียหรือเจ็บปวดเสมอไป แต่เป็นอะไรก็ได้ที่มันสามารถ “กระทบ” ต่อความรู้สึกของเรา ไม่ว่าจะในทางบวกหรือลบก็ตามที)

สรุปก็คือ จากหนังที่ดูเหมือนจะมีอะไรบ้างในตอนแรกๆ ซึ่งอย่างน้อยที่สุด เนื้อหาของหนังก็ดูเหมือนจะพยายามเข้าไปแตะ “ด้านมืด” บางด้านของซีไอเอที่แม้จะมีความตั้งใจดีในการปราบปรามการก่อการร้ายจนแต่บางทีก็ไม่ได้สนใจวิธีการจนเกือบจะนำมาซึ่งความสูญเสียและเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น แต่หนังก็ไม่ได้เน้นย้ำเท่าที่ควร เท่าๆ กับที่บางขณะ เนื้อหาบางส่วนของหนังก็เหมือนจะทำให้คนดูเกิดคำถามในใจว่าซีไอเอมี “วาระซ่อนเร้น” อะไรอยู่ในปฏิบัติการนี้หรือเปล่า แต่หนังก็พูดแบบอ้อมๆ แอ้มๆ ไม่ชัดถ้อยชัดคำ

นั่นจึงทำให้ Body of Lies ที่ออกสตาร์ทด้วยท่วงท่าลีลาของความเป็นดราม่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ลงท้าย ผู้กำกับริดลี่ย์ สก็อต กลับดูเหมือนจะพอใจที่จะหยุดมันไว้แค่การเป็นหนังที่ดูสนุกตอบสนองความบันเทิงอันว่าด้วยเรื่องราวของตัวละครที่พาตัวเองเดินเข้าสู่มุมอับและประสบการณ์เฉียดตาย...เท่านั้นเอง...

แต่เอาล่ะ สิ่งหนึ่งซึ่งขอชมว่าเป็นความโดดเด่นยิ่งสำหรับ Body of Lies ก็คือ บทภาพยนตร์ซึ่งผูกพล็อตวางสถานการณ์ในหนังให้พลิกกลับไปกลับมาอยู่ตลอด (แน่นอน มันเป็นเซอร์ไพรส์เล็กๆ สำหรับคนดูเมื่อหนังคลี่คลายความจริง) โดยเฉพาะในช่วงพีคท้ายๆ เรื่องที่ต้องบอกว่า ห้ามเผลองีบเป็นเด็ดขาด เพราะมันอาจจะทำให้คุณ “ต่อไม่ติด” กับเรื่องราวในหนังไปเลยก็เป็นได้

และเพราะความเป็นหนังที่มี “เนื้อหา” เป็นตัวนำหน้า ฉากแอ็กชั่นในงานชิ้นนี้จึงทำหน้าที่เป็นเพียง “ส่วนประกอบย่อยๆ” หรือ “น้ำจิ้ม” พอให้ได้ตื่นเต้นกันบ้างเป็นระยะๆ ซึ่งจริงๆ ผมเห็นว่า นอกจากฉากระเบิดตึกตูมตามนั้นแล้ว ฉากแอ็กชั่นที่เหลือก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นของหนังที่ขาดไม่ได้ เพราะถึงแม้เราจะตัดฉากแอ็กชั่นเหล่านี้ออกไป มันก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของหนังแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น