xs
xsm
sm
md
lg

ศุกร์ที่ 1 ม.ค.2553 เริ่มแล้ว FTAอาเซียน-จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธงชาติของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันปีใหม่นี้ - แฟ้มภาพเอเอฟพี
เอเอฟพี - เขตเสรีการค้าอาเซียน-จีนผงาดต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ คาดเงินหลายพันล้านดอลลาร์สะพัดจากการค้าการลงทุนทั่วตลาด อันมหึมาที่สุดในโลก สั่นสะเทือนเขตการค้าเสรีระดับบิ๊ก อย่างไรก็ตาม สมาชิกอาเซียนบางชาติชี้พญามังกรเข้ามาเขมือบธุรกิจบางประเภทแน่

หลังจากวางแผนกันมานาน 8 ปี ในที่สุดเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับจีน ก็มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของเขตการค้าเสรีสหภาพยุโรป หรืออียู และเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ทั้งในแง่ของมูลค่า อีกทั้งแซงหน้าตลาดทั้งสองในแง่ผู้บริโภค ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1,700 ล้านคน

บรรดาเจ้าหน้าที่ของอาเซียนพากันหวังว่า การก่อตั้งเขตการค้าเสรีนี้จะช่วยขยายการค้าในทวีปเอเชีย และส่งเสริมการค้าขายภายในภูมิภาค ซึ่งโตถึงร้อยละ 20 ต่อปี

“ในปี2553 นี้ เราได้ส่งสัญญาณ ที่หนักแน่นว่า อาเซียนได้เปิดประตูแล้ว” นายเอช.อี. ซุนดรัม ปุชปานาทาน แห่งอาเซียนกล่าว

นอกจากนั้น ยังระบุว่า จีนเพิ่งแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน และจะกระโดดข้ามญี่ปุ่นและอียู ขึ้นเป็น “นัมเบอร์วัน” ในอีก2-3ปีข้างหน้าของการเปิดFTA

ตามข้อตกลงดังกล่าว จีนและชาติผู้ก่อตั้งอาเซียน 6 ชาติ คือบรูไน, อินโดนีเชีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,สิงค์โปร์ และไทย จะยกเลิกกำแพงกีดกันการลงทุน ตลอดจนลดการจัดเก็บภาษีศุลกากรลงถึงร้อยละ90 สำหรับสินค้า ส่วนชาติสมาชิกอาเซียน ที่เหลือ เช่น เวียดนาม และกัมพูชา จะเริ่มดำเนินการดังกล่าวในปี 2558

นายจาง เคิ่นหนิง อธิบดีกรมกิจการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของจีนระบุว่า อัตราเฉลี่ยการจัดเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจากอาเซียนของจีนจะลดลงจากร้อยละ9.8 เหลือร้อยละ 0.1 ส่วนอัตราภาษีศุลกากรโดยเฉลี่ย ที่อาเซียนจัดเก็บสำหรับสินค้าจีนจะลดลงจากร้อยละ 12.8 เหลือร้อยละ 0.6


ทั้งนี้ การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโตอย่างมากจาก39,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2543 สูงถึง192,500 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

ขณะเดียวกันการค้าของจีนและอาเซียนกับชาติอื่น ๆ ก็พุ่งถึง 4.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราวร้อยละ13.3 ของการค้าในโลก

ด้านนายTeng Theng Dar หัวหน้าผู้บริหารของสมาพันธ์ธุรกิจแห่งสิงค์โปร์ มองว่า FTAอาเซียน-จีนนับเป็นการเปิดโอกาสยิ่งใหญ่ทางธุรกิจสำหรับการสร้างโซ่อุปทาน (supply chain) สำหรับนวัตกรรมในภาคต่าง ๆ เช่นภาคบริการ, การก่อสร้าง , สิ่งสาธารณูปโภค และการผลิต

เจ้าหน้าที่อาเซียนยังมองด้วยว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะไม่ทำให้จีนได้เปรียบแต่ฝ่ายเดียวในแง่ของการกอบโกยวัตถุดิบ ที่จีนกำลังกระหายเต็มที่ เช่น ปาล์มน้ำมัน, ไม้ซุง และยางพารา หรือการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน เช่นเหล็กกล้า และสิ่งทอ เนื่องจากตลาดเป้าหมายสำคัญของจีนและอาเซียนก็คือสหรัฐฯ และอียู โดยในขณะเดียวกัน แต่ละฝ่ายก็มีสินค้า ที่จะสนองความต้องการของกันอย่างครบถ้วนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมของสมาชิกอาเซียนบางชาติ เช่นอินโดนีเชีย ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน และฟิลิปปินส์ กลับวิตกว่า จีนจะเข้ามาแย่งตลาดในประเทศ จึงพยายามกดดันให้รัฐบาลของตนคงการจัดเก็บภาษีศุลกากรในภาคธุรกิจ ที่ยังอ่อนแอ ไปจนถึงปี2555

“ภาคเหล่านี้ยังไม่พร้อมแข่งขันกับสินค้า ที่นำเข้าจากจีน ถ้ารัฐบาลเปิดเสรีการค้าตอนนี้ อุตสาหกรรมเหล่านี้ตายแน่ ๆ” ส.ส. อินโดนีเชียคนหนึ่งระบุ

ภาคการผลิตแดนอิเหนา ที่จะเดือดร้อนมี 12 กลุ่ม เช่น กลุ่มสิ่งทอ, ปิโตรเคมี, รองเท้า,อิเล็กทรอนิกส์,เหล็กกล้า, ชิ้นส่วนรถยนต์,อาหารและเครื่องดื่ม, บริการทางวิศวกรรม และเฟอร์นิเจอร์

“ยกตัวอย่าง กระสอบบรรจุน้ำตาล,ข้าวสาร และปุ๋ยในอินโดนีเชียราคาตกใบละ 1,600 รูเปียห์ (1.70 ดอลลาร์) แต่ของจีนแค่ใบละประมาณ 800 รูเปียห์เท่านั้น” เขากล่าว

ขณะที่ประธานสมาคมผู้ผลิตรองเท้าของอินโดนีเชียระบุว่า เมื่อเปิดเสรี บริษัทจีนจะเข้าครองส่วนแบ่งตลาดในอินโดนีเชียจากร้อยละ40 เป็นร้อยละ 60 ซึ่งจะทำให้คนตกงานถึงราว 40,000 ตำแหน่ง

ด้านประธานสมาคมผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์แดนอิเหนาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาปกป้องในรูปแบบของการใช้มาตรการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอย่างเข้มงวดแทน

กำลังโหลดความคิดเห็น