xs
xsm
sm
md
lg

จีนยังใช้นยบ.กระตุ้นเศรษฐกิจปล่อยกู้คล่อง ขณะดันความต้องการภายในเป็นเสาหลักศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนสัญจรไปมาในย่านช้อปปิ้งใจกลางกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ซึ่งกำลังเต็มไปด้วยการตกแต่งสีสันวันคริสต์มาสที่กำลังใกล้เข้ามา ขณะที่ผู้นำจีนยืนยันว่าจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนระดับปานกลางต่อไปในปี 2553 เพื่อกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ-เอเอฟพี
เอเจนซี-ผู้นำจีนยังคงรักษานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและขยายการปล่อยสินเชื่อที่คล่องตัว พร้อมสัญญาเดินหน้าผลักดันปัจจัยด้านความต้องการภายในประเทศ กลายเป็นเสาหลักใหม่ของเศรษฐกิจจีน

ผู้นำจีนได้เปิดการประชุมปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจ (Central Economic Work Conference) ซึ่งเป็นการประชุมประจำปี ระหว่างวันที่ 5-7 ธ.ค.ในกรุงปักกิ่ง โดยมีประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าเป็นประธานในที่ประชุมฯ

หลังการประชุมเสร็จสิ้นในวันจันทร์(7 ธ.ค.) สำนักข่าวซินหัวอ้างรายงานผลการประชุมที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของรัฐบาล ระบุว่า ผู้นำจีนตัดสินใจรักษานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปล่อยสินเชื่อต่อไป เพื่อเป็นหลักประกันการเติบโตในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ความต้องการจากตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรปถดถอยลง

รายงานข่าวของสื่อเทศชี้ว่า ระหว่างการประชุมฯนี้แทบไม่มีการประกาศเป้าหมายหรือมาตรการที่เฉพาะเจาะจง หรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่

วันเดียวกัน รายงาน “สมุดปกน้ำเงิน” ของรัฐบาลจีน ระบุตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ที่ร้อยละ 8.3 นับเป็นอัตราที่กระเตื้องขึ้นจากระดับร้อยละ 6.1 ของไตรมาสแรก การฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนสดใสขึ้นเรื่อยๆโดยในเดือนก.ค.-ก.ย. จีดีพีจีนขยายถึงร้อยละ 8.9 ซึ่งหลายกลุ่มชี้ว่าเป็นผลจากแพจเกจกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว

จากการประชุมฯที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป กระแสวิเคราะห์ อาทิ เจสัน สี่ว์ เศรษฐกรประจำ China International Capital Corporation ชี้ รัฐบาลจีนไม่ต้องการกลับลำนโยบาย ซึ่งอาจเป็นเพราะความกังวลว่าการทิ้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตอนนี้ จะทำลายผลลัพธ์ที่เป็นกอบเป็นกำที่ได้จากแพจเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้สะเทือนภาคส่งออกจีนซึ่งเป็นเสาหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จนปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยแพจเกจชุดใหญ่ที่ใช้งบฯลงทุนถึง 4 ล้านล้านหยวน (586,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้ มุ่งไปที่การลงทุนภาครัฐ ในโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ถนน และสาธารณูปโภคอื่นๆ พร้อมมาตรการส่งเสริมให้กลุ่มธนาคารปล่อยสินเชื่ออัดฉีดโครงการเหล่านี้ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มเศรษฐกรว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนยังคงพึ่งพิงการลงทุนภาครัฐ และมิได้กระตุ้นความต้องการภายในอย่างแท้จริง นอกไปจากนี้ ยังมีคำเตือนว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จีนใช้อยู่นี้อาจกระตุ้นการเติบโตที่ร้อนเกิน ภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนการผลิตล้นเกินในบางภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม นายกฯเวิน เจียเป่าก็ได้ให้คำมั่นระหว่างการประชุมฯ ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมการบริโภคภายใน เพื่อลดการพึ่งพิงภาคส่งออก และความต้องการภายในนี้จะกลายเป็นปัจจัยหลักกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ จะส่งเสริมการนำเข้าเพื่อปรับสมดุลการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่จีนถูกโจมตีมานานจากประเทศต่างๆที่ขาดดุลการค้ากับจีนโดยเฉพาะสหรัฐฯ และกลุ่มชาติยุโรป

ทั้งนี้ จีนได้ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวที่อาจบั่นทอนอำนาจรัฐ ได้แก่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาช่องว่างมาตรฐานชีวิตระหว่างเขตเมืองและชนบท ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นผลพวงจากการกระตุ้นตัวเลขจีดีพีด้านเดียวในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สำหรับนโยบายใหม่นี้มุ่งกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภค ซึ่งจีนก็ได้บรรลุผลระดับหนึ่ง ดังตัวเลขในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่ามาตรการตัดลดภาษีและอุดหนุนการซื้อขายรถยนต์ ดันยอดขายรถยนต์ในปีนี้ สูงกว่า 12 ล้านหยวน

แต่กลุ่มเศรษฐกรชี้ว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคยังมีสัดส่วนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกิจกรรมทั้งหมดในภาคเศรษฐกิจจีน และต่ำกว่าระดับการใช้จ่ายผู้บริโภคในกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ โดยที่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐนั้น ยังคงเป็นผู้รับผลประโยชน์ก้อนโตจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ ผู้ผลิตในท้องถิ่นต่างปั๊มผลผลิตเหล็ก ซีเมนต์ และวัตถุดิบอื่นๆ ป้อนโครงการก่อสร้างกันคึกคัก

ขณะเดียวกัน รายงานประจำไตรมาสที่ออกเมื่อวันอาทิตย์(6 พ.ย.) ของ Bank for International Settlements (BIS) ในบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เตือนว่าการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วกำลังสร้างความเสี่ยงแก่ภาคธนาคารจีน สืบเนื่องจากกลุ่มธนาคารจีนได้ปล่อยสินเชื่อก้อนใหม่ระหว่างเดือนม.ค.-ต.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 8.95 ล้านล้านหยวน (1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) เทียบกับตัวเลขรวม 4.2 ล้านล้านหยวนของปีก่อนหน้า และการคุมเข้มนโยบายการเงินในอนาคต ก็จะทำให้โครงการกลุ่มหนึ่งขาดเงินทุนก่อนที่โครงการจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะนำไปสู่หนี้เสียก้อนมหึมา

ขณะเดียวกันกระแสไหลเข้าของทุนต่างแดน สู่ระบบเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในภาคตลาดหลักทรัพย์และภาคอสังหาริทรัพย์

“ผู้กำหนดนโยบายจีนกำลังเผชิญปัญหาสำคัญในการปรับนโยบายการเงินและสินเชื่อในช่วงปีสองปีข้างหน้านี้” รายงาน BIS ชี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น