xs
xsm
sm
md
lg

ผลผลิตอุตสาหกรรมตก12% กระทุ้งจีนกระตุ้นศก.เต็มสูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสิ่งทอจีนได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจชะลอตัว จนรัฐบาลจีนงัดมาตรการอุดหนุนเพิ่มอัตราคืนภาษีส่งออกช่วยเหลือ-ภาพเอเจนซี
เอเจนซี—สัญญาณภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน ปรากฏขึ้นมาอีกตัวตอกย้ำกระแส โดยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม ขยายตัวที่ร้อยละ 12 นับเป็นอัตราตกต่ำสุดในรอบ 6 ปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เผยเมื่อวันศุกร์(12 ก.ย.) อัตราขยายตัวผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงมา อยู่ที่ร้อยละ 12.8 ลดลง 4.7 จุด เทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การขยายตัวผลผลิตภาคอุตสาหกรรมช่วง 8 เดือนแรกของปี เท่ากับร้อยละ 15.7 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2007 สำหรับผลผลิตอุตสาหกรรมของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขยายที่ร้อยละ 14.7

ก่อนหน้าจีนระดมมาตรการต่างๆเพื่อลดอุณหภูมิร้อนแรงของอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพุ่งเป้าคลายภาวะเงินเฟ้อ ที่พุ่งสูงในรอบ 12 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ทว่า ท่ามกลางบรรยากาศชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนก็โดนฉุดลงไปด้วย ผู้นำจีนเริ่มไหวตัวและเบี่ยงเบนนโยบายที่มุ่งลดเงินเฟ้อ มากระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงที่เงินเฟ้อเริ่มทุเลาลง โดยประธานาธิบดีหู จิ่นเทาก็ได้ประกาศชัดก่อนเปิดม่านโอลิมปิก ว่าจีนจะหันมากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นภารกิจหมายเลขหนึ่ง

ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ตกลงนี้ จะยิ่งย้ำให้นักวางแผนนโยบายจีนเดินหน้าอัดฉีดการขยายทางเศรษฐกิจเต็มสูบ แต่กลุ่มนักวิเคราะห์เกจิในวงการบางกลุ่มดูไม่ค่อยมั่นใจนักว่าจีนจะสามารถต้านทานกระแสชะลอตัวในสภาพสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ไปทั่วหน้าเช่นนี้

เลห์แมน บราเธอรส์ ยักษ์ใหญ่วาณิชธนกิจแห่งวงการเงินโลก ระบุในรายงานวิจัย คาดว่าจีนจะงัดชุดมาตรการ เพื่อบรรลุนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กระนั้น ก็ดูจะไม่อาจหลีกเลี่ยงกระแสเศรษฐกิจอ่อนเปลี้ยไปได้ และขณะนี้ ก็มีตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ จะชะลอตัวลงอีกในไตรมาสที่สาม และจะอยู่ในระดับร้อยละ 9.5 สำหรับทั้งปี

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนเติบโตที่ร้อยละ 11.9 และมาตรการลดอุณหภูมิในเศรษฐกิจ ก็สำแดงผล ทำให้อัตราเติบโต ผ่อนเพลามาอยู่ที่ร้อยละ 10.1 ในไตรมาสที่สองของปีนี้

ดัชนีผู้บริโภคหรือซีพีไอซึ่งเป็นปรอทวัดระดับเงินเฟ้อเย็นลง อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ในเดือนสิงหาคมปีนี้นับเป็นอัตราลดลงของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เทียบกับร้อยละ 8.7 ที่ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 12 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

แม้เป็นที่คาดว่า จีนจะผ่อนปรนนโยบายคุมเข้มด้านการเงิน แต่ก็ยังระมัดระวังเงินเฟ้อ ขณะนี้ คาดกันว่าจีนจะขยายโควตาปล่อยกู้ของธนาคารอีกเป็นหนที่สองในปีนี้

นอกจากนี้ เศรษฐกรอีกสำนักชี้ “ด้วยกระแสวิตกเรื่องอัตราเติบโต และภาวะเงินเฟ้อที่ผ่อนเพลาลงนี้ ธนาคารกลางจีนน่าจะลดอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ และชะลอการแข็งค่าเงินหยวน” หวัง เฉียน เศรษฐกรประจำเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ในฮ่องกงชี้ พร้อมคาดว่าอัตราเงินสดสำรองน่าจะลดลงไปอีก 50 จุดในปลายปี จากระดับร้อยละ 17.5 และอยู่ที่ร้อยละ 15 ในปี 2009

ด้านเงินหยวนอ่อนลงทันทีก่อนทางการเผยตัวเลขเศรษฐกิจ จาก 6.8449 หยวน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 6.8472 ต่อ 1 ดอลลาร์ ในการซื้อขายที่เซี่ยงไฮ้เมื่อบ่ายวันศุกร์(12 ก.ย.)

ทั้งธนาคารกลางและผู้คุมกฎภาคการธนาคารจีนประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรียกร้องให้มีการอัดฉีดสินเชื่อสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่านี้ หลังจากที่เพิ่งขยายโควตาปล่อยเงินกู้สกุลเงินหยวนร้อยละ 5 เมื่อเดือนสิงหาคม

ในวันพฤหัสฯ(11 ก.ย.) กระทรวงการคลัง ยังได้เผยแพ็คเกจอุดหนุนภาคธุรกิจมูลค่า 3,510 ล้านหยวน (513 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ทั้งนี้ เอสเอ็มอีเป็นแหล่งงานแห่งใหญ่ แต่ก็มาโดนมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ ซ้ำเติมด้วยค่าแรง และราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูง จนเจ็งกันระนาว

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ตอกย้ำให้จีนมุ่งอัดฉีดอัตราเติบโต ได้แก่ ภาคส่งออก หนึ่งในขุนพลใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขยายตัวร้อยละ 21.1 ในเดือนสิงหาคม ลดลงจากระดับร้อยละ 26.9 ของเดือนกรกฎาคม

“ปัจจัยสองประการได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคส่งออกที่ตกลงนี้ กำลังพาเศรษฐกิจสู่แดนชะลอตัว และก็จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลคิดไว้เสียอีก” หัว หมิ่น อาจารย์ภาควิชาเศรษฐกิจประจำมหาวิทยาลัยฝู่ตันของนครเซี่ยงไฮ้ ชี้

ชี้ปัจจัยไม่ลบไปเสียหมด

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจบางกลุ่มมองแง่ดี ชี้ว่าสัญญาณจากตัวเลขเศรษฐกิจ ก็ใช่ว่าจะดำมืดไปหมด โดยยอดค้าปลีกเมื่อเดือนที่แล้ว ยังขยายตัวดีอยู่ ที่ระดับร้อยละ 23.2 จัดเป็นจังหวะก้าวที่เร็วในสุดในรอบเกือบ 9 ปี ขณะที่อัตราขยายตัวภาคส่งออก ขยายตัวที่ร้อยละ 21.1 ก็เป็นระดับที่สูงกว่าที่เศษรฐกรหลายคนคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ มาตรการขยายโควตาปล่อยกู้ที่จีนได้ขยายไปแล้วครั้งหนึ่ง, มาตรการเพิ่มอัตราคืนภาษีแก่ผู้ส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอ และการอัดฉีดการใช้จ่ายในภาคโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ.
กำลังโหลดความคิดเห็น