หลังการประชุมสุดยอดระหว่าง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ยิ่งสะท้อนชัดถึงความเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่แห่งสหรัฐอเมริกา และชาติอำนาจเศรษฐกิจอันดับสามคือ จีน โดยขณะนี้ ดุลอำนาจระหว่างสองชาติได้ปรับสู่ระดับที่ใกล้จะทัดเทียมกันแล้ว
นายโอมาบาเยือนจีนครั้งแรกหลังนั่งเก้าอี้ประมุขทำเนียบขาวระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. และมาประชุมสุดยอดกับผู้นำจีนในช่วงจังหวะวิกฤตการเงินโลกที่มีต้นตอมาจากสหรัฐฯ ขณะที่จีนได้กลายเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติรายใหญ่สุดของวอชิงตัน ด้วยการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมูลค่าสูงเกือบ 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันสหรัฐฯก็มียอดขาดดุลงบประมาณมหาศาลถึง 1.42 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จนทำให้ผู้นำจีน ออกมาตักเตือนหลายครั้งในเรื่องการใช้จ่ายเงิน
ดังนั้น การมาเยือนจีนของโอบามา ดูไม่ผิดกับคนที่ใช้เงินสุรุ่ยสุหร่ายจนถังแตก เข้ามาคารวะนายแบงค์หรือเจ้าหนี้ ที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากสุดในโลกเท่ากับ 2.27 ล้านเหรียญ
วอชิงตันได้แถลงถึงเป้าหมายการมาซัมมิตกับผู้นำจีน ว่ามาถกเพื่อหาแนวทางปรับสมดุลเศรษฐกิจโลก โดยสหรัฐฯหาว่าค่าเงินเหรินหมินปี้ หรือเงินหยวนนั้น ต่ำค่ากว่าความเป็นจริง ทำให้ภาคส่งออกจีนได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม โดยจากสถิติมูลค่าการส่งออกประจำปี 2551 จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ 337,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการส่งออกจากสหรัฐฯไปยังจีน มีเพียง 69,700ล้านเหรียญสหรัฐ วอชิงตันยังชี้ว่าสภาพดังกล่าวได้สร้างความไม่สมดุลเศรษฐกิจโลก
ระหว่างแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีหู จิ่นเทา โอมาบา กล่าวว่า “การเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนของจีน จะส่งอานิสงค์ถึงการปรับสมดุลเศรษฐกิจโลก”
ด้านผู้นำหู โต้ตอบคำพูดของโอบามา ที่มีนัยเรียกร้องให้จีนปรับค่าหยวนให้แข็งขึ้น เพื่อช่วยลดยอดขาดดุลการค้าสหรัฐฯ ด้วยความเงียบ ไม่พูดถึงหยวน ถึงดอลสาร์ แต่กลับย้ำถึงสิ่งที่จีนข้องใจต่อสหรัฐฯ “ผมขอย้ำว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ พวกเราต้องต่อต้านลัทธิกีดกั้นการค้าทุกรูปแบบอย่างจริงจัง”
คำพูดของหูแทงใจดำสหรัฐฯที่ก่อนนี้ไม่กี่เดือนได้ออกมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจีน ได้แก่ ยางรถยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กบางกลุ่ม และสินค้าอื่นๆ
ประธานาธิบดีหู เผยถึงสารัตถะที่พูดกับประธานาธิบดีโอบามา ว่า พวกเขาได้พูดถึงความจำเป็นในการรักษาสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกัน ในด้านโยบายการเงินและมหภาค โดยยังต้องมีการปรึกษากันต่อไปใน “สถานภาพที่เท่าเทียมกัน” หาทางแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมในการคลี่คลายความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจการรค้ากัน
กลุ่มเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญทั้งฝ่ายสหรัฐฯและจีน ต่างเห็นพ้องกันว่า การเยือนจีนของโอบามา จะไม่ส่งผลในการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างทันที
หนังสือพิมพ์พีเพิล เดลี่ ซึ่งถือเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ระบุในบทบรรณาธิการ หลังจากผู้นำจีน-สหรัฐฯประชุมซัมมิตกันแล้ว ว่า “ยังมีปัญหาที่ถอยหลังเข้าคลอง และความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ โดยทั้งสองฝ่ายอาจต้องใช้เวลาถึงหนึ่งหรือสองชั่วคน หรือบางทีอาจเป็นหลายชั่วคน ในการผลักดันความก้าวหน้าที่มั่นคงในการดำเนินความสัมพันธ์กัน”
ซุน เจ๋อ ผู้อำนวยการประจำศูนย์ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มหาวิทยาลัยชิงหัว ก็ชี้ถึงการปิดปากเงียบไม่พูดเรื่องค่าเงินของหู จิ่นเทา ว่า เป็นการยืนยันว่าจีนจะไม่ยอมตามแรงกดดันของต่างชาติ ที่มาจี้ให้ขยับค่าเงินจีนแข็งค่า
นอกจากนี้ ยังเป็นการยืนยันแนวคิดของจีน ที่ว่าต้นตอหลักของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความอ่อนค่าของเงินหยวน แต่อยู่ที่ความอ่อนแอของดอลลาร์ “ทำไม เราจะต้องกลายเป็นแพะรับบาปในปัญหาดอลลาร์ของพวกคุณด้วยล่ะ”
การโต้ตอบเสียงเรียกร้องปรับค่าเงินหยวนระลอกนี้ เห็นชัดว่าจีนยืนยันการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆขึ้นอยู่กับการประเมินของจีนเอง มิใช่เสียงจากภายนอก และรัฐบาลจีนก็จะตรึงค่าเงินอย่างเข้มงวดไปจนกว่ากลางปีหน้า 2553 เพื่อที่จะรักษาการฟื้นตัวเศรษฐกิจให้ลุล่วงก่อน
นอกไปจากความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจที่เห็น ในประเด็นขัดแย้งอื่นๆ สหรัฐฯก็ดูจะออมชอมไม่ทำอะไรกระทบกระเทือนใจเจ้าหนี้รายใหญ่ โอบามาประเดิมการเยือนจีนที่นครเซี่ยงไฮ้ และได้ประกาศย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯสนับสนุน “นโยบายหนึ่งจีน” อันหมายถึงแนวทางสู่ปัญหาไต้หวัน ที่จีนถือเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ที่จะต้องกลับมารวมชาติกันในที่สุด
สำหรับวาระใหญ่อื่นๆที่โอมาบามาคุยกับหู จิ่นเทา ก็ไม่พ้นประเด็นร้อนด้านสิทธิมนุษยชน โดยโอบามาบอกกับหู อย่างนุ่มนวลว่า จีนต้องรับรองสิทธิมนุษยชนแก่ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม และควรกลับไปเจรจากับผู้แทนของทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต
วอชิงตันได้ถนอมน้ำใจผู้นำจีน โดยก่อนที่โอบามาเดินทางมาเยือนจีน ทะไล ลามะ ได้เยือนสหรัฐฯในเดือนตุลาคม โดยที่ไม่ได้พบกับประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งก่อนหน้าทะไล ลามะ จะได้เข้าพบประธานาธิบดีแทบทุกครั้งที่ท่านเดินทางมาสหรัฐฯ