xs
xsm
sm
md
lg

จีนปรามกระแสวิตกต่อการจำกัดส่งออกธาตุหายาก "ยังขายแต่จำกัด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธาตุหายากเป็นวัตถุดิบสำคัญในผลิตภัณฑ์อิเลกทรอนิกส์ อาทิ นีโอดิเมี่ยม (neodymium) ธาตุหายากชนิดหนึ่ง มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างแม่เหล็กขนาดเล็กที่มีพลังสูง ซึ่งช่วยย่อส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์หลายอย่าง แม่เหล็กนีโอดิเมี่ยมยังเป็นส่วนประกอบของมอร์เตอร์ไฟฟ้าในรถยนต์ไฮบริด อย่าง Prius, Honda Insight และ Ford Focus ในภาพ: ช่างภาพกำลังถ่ายภาพรถยนต์ Prius --ภาพรอยเตอร์
เอเจนซี-ผู้นำจีนพยายามบรรเทากระแสวิตกต่อแผนจำกัดการส่งออกธาตุหายาก (rare earths) ที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิต อาทิ ผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาด และซูเปอร์คอนดักเตอร์ โดยชี้แจงว่า จีนจะยังคงจำหน่ายธาตุหายาก แต่ต้องจำกัด เพื่อลดผลกระทบเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

สืบเนื่องจากการแถลงแผนจำกัดการส่งออกธาตุหายากในวันพุธ(2 ก.ย.) สร้างความวิตกต่ออุตสาหกรรมไฮเทคฯ หรืออิเลกทรอนิกส์ทั่วโลก เนื่องจากธาตุหายากเป็นวัตดุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ไฮเทคฯ อาทิ พาหนะไฮบริด โทรศัพท์มือถือ ซูเปอร์คอนดักเตอร์ แม่เหล็กพลังสูง เป็นต้น กอปรด้วยจีนเป็นแหล่งสำรองฯและผู้ผลิตธาตุหายากรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นแหล่งป้อนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถึงร้อยละ 95

นาง หวัง ไช่เฟิง รองผู้อำนวยการแผนกวัตถุดิบของกระทรวงอุตสาหกรรมและสารสารสนเทศ แถลงระหว่างการประชุม Minor Metals & Rare Earths 2009 เมื่อวันพฤหัสฯ(3 ก.ย.) แจงรายละเอียดของแผนจำกัดการส่งออกธาตุหายาก ว่าจีนยังคงส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ธาตุหายากสำเร็จรูป แต่จะจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปของธาตุหายาก และจีนยังคงห้ามการส่งออกสินแร่ดิบต่อไป

หวัง ไม่ยืนยันรายงานที่ระบุว่าจีนจะตัดลดการส่งออกในปีนี้ เหลือราวร้อยละ 8 ต่ำกว่าระดับการส่งออกในปี 2551 และการส่งออกในอนาคตก็จะถูกจำกัดไว้ที่ระดับที่ใกล้เคียงกันนี้ โดยเธอบอกเพียงว่าจีนจะกำหนดแผนภายในปีนี้

“จีน มีความรับผิดชอบในฐานะประเทศใหญ่ โดยจะไม่ปิดประตูในเรื่องนี้” หวัง กล่าว แต่ก็ยืนยันแผนการจำกัดเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม พร้อมชี้ว่าที่ผ่านมาจีนได้เสียสละอย่างมากแล้วในการทำเหมืองธาตุหายาก โดยการผลิตธาตุหายาก 1 ตัน จะมีหางแร่ถึง 2,000 ตัน ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล

ทั้งนี้ ในปี 2545 จีนห้ามการจัดตั้งทุนเดี่ยวต่างชาติในธุรกิจแปรรูปธาตุหายาก แต่ก็ยังมีบริษัททุนเดี่ยวจากฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ที่จัดตั้งก่อนหน้าปีที่จีนประกาศห้ามฯ สำหรับกลุ่มนักลงทุนรายใหม่สามารถเปิดกิจการโดยร่วมทุนกับคู่หุ้นส่วนจีน และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จีนยังได้ลดปริมาณการส่งออกธาตุหายาก และโควต้าการส่งออกฯสำหรับปีนี้ก็จะมีปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

เมื่อปีที่แล้ว จีนส่งออกแม่เหล็กธาตุหายาก 10,000 ตัน มูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ธาตุหายากอื่นๆ มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ความต้องการธาตุหายากของจีนที่สูงขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ผลิตโยกย้านฐานการผลิตต่างๆเข้ามายังจีนได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ทั้งนี้ ก่อนหน้ามีกระแสข่าวว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศจีนได้จัดทำร่างแผน 6 ปี เกี่ยวกับการผลิตธาตุหายาก และกำลังยื่นเสนอคณะมุขมนตรีหรือคณะรัฐบาลจีน โดยจุดประสงค์ของแผนฯมุ่งคุมเข้มการส่งออกธาตุหายาก และควบคุมการทำเหมืองที่อาจส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และในวันพุธ(2 ก.ย.) จีนแถลงแผนจำกัดส่งออกธาตุหายาก นื่องจากลดการผลิตเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม รักษาเสถียรภาพราคา

ข้อมูลหน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งหสรัฐฯ (USGS)ระบุว่า อุตสาหกรรมทั่วโลกใช้ธาตุหายากของจีนถึงร้อยละ 95 และราวร้อยละ 60 ที่บริโภคธาตุหายากประกอบด้วยโลหะธาตุต่างๆ อย่างเช่น ดิสโพรเซียม (dysprosium), เทอร์เบียม (terbium), ทูเลียม (thulium), ลูทีเซียม (lutetium) และ อิตเทอร์เบียม (yttrium), นอกจากนี้ จีนยังมีธาตุหายาก 2 ชนิด ได้แก่ dysprosium และ terbium ซึ่งมากกว่าร้อยละ 99 ซึ่งโลหะ 2 ชนิดนี้ ใช้กันอย่างกว้างขวางในเทคโนโลยีพลังงานสีเขียว และอุปกรณ์ด้านหารทหาร อาทิ การผลิตขีปนาวุธ

ก่อนหน้าสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่อต้านการควบคุมการส่งออกวัตถุดิบที่คล้ายคลึงกันนี้ของจีน และได้ยื่นฟ้องร้องไปยังองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอเมื่อเดือนมิถุนายน โดยกล่าวหาว่าจีนลำเอียงสนับสนุนอุตสาหกรรมของตัวเองอย่างไม่เหมาะสม ด้วยการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบอย่างเช่น บอกไซท์ (bauxite)ซึ่งเป็นหินแร่วัตถุดิบในการผลิตอะลูมิเนียม และถ่านโค๊ก (Coke) ซึ่งจีนเป็นแหล่งป้อนรายหลักของแร่สองชนิดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น