เอเอฟพี - ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้พยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการทำเหมืองแร่ธาตุหายาก (rare earths) อันเป็นแร่ธาตุสำคัญในการผลิตสินค้าไฮเทคโดยสั่งปิดการทำเหมืองที่ผิดกฎหมาย กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น และจำกัดปริมาณการส่งออก
ทว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวยังเอื้อมมือไปไม่ถึงชาวบ้าน ซึ่งมีถิ่นอาศัยทำกินมาแต่ดั้งเดิมในบริเวณ ที่เหมืองเข้ามาเปิด ชาวบ้านเหล่านี้กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการปลิวฟุ้งของสารเคมีพิษ รวมทั้งสารกัมมันตรังสีทอเรียม และยูเรเนียม
“พวกเราคือผู้รับเคราะห์กรรม เขื่อนกักเก็บหางแร่กำลังปล่อยสารพิษมาให้เรา” ลุงหวัง เทา เกษตรกร วัย 60 ปีบอก
บ้านของแกตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเปาโถวในเขตมองโกเลียตอนใน อันเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรแร่ธาตุหายากมหาศาลที่สุดบนโลกใบนี้
ลุงหวังเล่าว่า แต่ก่อนแกเคยปลูกข้าวโพด มันฝรั่ง และข้าวสาลีขึ้นเขียวชอุ่มภายในละแวกใกล้เคียงกับเขื่อนกักเก็บหางแร่ จนกระทั่งสารเคมีพิษในเขื่อนเกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ และแผ่ซ่านพิษร้ายเข้าสู่ผืนดินทำกิน ชีวิตของแกก็เหมือนตกอยู่ในนรก
เกษตรกรคนอื่น ๆ ที่อาศัยใกล้กับเขื่อน ซึ่งทิ้งหางแร่หลายล้านตัน กินอาณาบริเวนกว้าง 10 ตารางกิโลเมตรเล่าว่า สารพิษทำให้พวกเขาฟันหัก และผมหงอกขาวโพลนก่อนวัย
ขณะที่ผลตรวจสอบพบว่า ดินและน้ำในแถบนี้ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับสูงถึงขั้นที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในหมู่ชาวบ้าน สัตว์เลี้ยง และอาจทำเด็กพิการแต่กำเนิด
“ บริเวณแถวนี้นะครับ ถ้าคุณกินอาหาร หรือน้ำ ที่เปื้อนสารพิษเข้าไป มันจะเป็นอันตรายกับร่างกาย” ลุงหวังกล่าว พลางชี้ไปยังท้องทุ่งนาตายซาก ที่เวลานี้กองสุมไปด้วยขยะทั่วหมู่บ้านต่าลาไฮ่ ซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อนกักเก็บหางแร่ไปไม่กี่ร้อยเมตร
บรรดากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิพากษ์วิจารณ์กันมานานแล้วเกี่ยวกับอันตรายจากการทำเหมืองแร่ธาตุหายาก
“ไม่มีขั้นตอนใดในการทำเหมืองแร่ธาตุหายาก ที่ไม่เป็นอัตรายต่อสิ่งแวดล้อม” กลุ่มรณรงค์ของกรีนพีซในจีนระบุในรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้
ด้านสื่อมวลชนของรัฐรายงานว่า ผลการศึกษาเมื่อปี 2549 ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเผยให้เห็นระดับของทอเรียม ซึ่งเป็นเศษที่เหลือจากกระบวนการสกัดแร่ธาตุหายากตกค้างอยู่ในพื้นดินของหมู่บ้าน Dalahai สูงกว่าบริเวณอื่น ๆในเมืองเปาโถวถึง 36 เท่า
“ประชาชนกำลังประสบความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรง” หนังสือพิมพ์เนชั่นแนล บิสซิเนส เดลี ภาคภาษาจีนระบุเมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งระบุว่ามีชาวบ้าน 66 คนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งระหว่างปี 2536-2548 ขณะที่พืชไร่ล้มตายอย่างเห็นได้ชัด
ทว่าจะทำอย่างไรได้ ในเมื่อจีนเป็นชาติผู้ผลิตแร่ธาตุหายากป้อนตลาดโลกมากกว่าร้อยละ 95 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในโลก โดยธาตุหายาก 17 ชนิดนำมาใช้ในการผลิตสินค้าว่ากันตั้งแต่ไอพ็อด ไปจนถึงโทรทัศน์จอแบน และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่มองกันว่า ช่วยสร้างโลกสีเขียว
แร่ธาตุหายากเหล่านั้น ปริมาณถึง 2 ใน 3 ผลิตที่เมืองเปาโถว ซึ่งอยู่ชายขอบทะเลทรายโกบี
นักวิเคราะห์ยังมองว่า จีนลดโควตาการส่งออกแร่ธาตุหายากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งความต้องการในตลาดกำลังพุ่งสูงนั้น ก็เพื่อหนุนราคาในตลาดโลกให้สูงขึ้น และเพื่อสงวนแร่ธาตุนี้ไว้สำหรับอุตสาหกรรมสินค้า ซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงบนแดนมังกรเท่านั้นเเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ทำให้ลุงหวังและเกษตรกรคนอื่น ๆ พูดไม่ออกบอกไม่ถูกก็คือเขื่อนกักเก็บหางแร่ ต้นตอแห่งความทุกข์ของชาวบ้านนั้น เจ้าของก็คือเป่ากังกรุ๊ป ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตแร่ธาตุหายาก ตลอดจนแร่เหล็ก และเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดของจีน
ความพังพินาศของสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ธาตุหายากอาจเป็นสิ่งที่กอบกู้ฟื้นฟูให้ดีดั่งเดิมไม่ได้
“เงินที่เราได้จากการขายแร่ธาตุหายากไม่เพียงพอสำหรับการซ่อมแซมสิ่งแวดล้อม… ไม่พอเลยจริง ๆ” นายหวัง กั๋วเจิน อดีตรองประธานสถาบันวิศวกรรมศาสตร์และการวิจัยด้านโลหะนอกกลุ่มเหล็กของจีน ซึ่งอยู่ในสังกัดของรัฐบาลระบุ
วันนี้ ท้องทุ่งนารอบหมู่บ้านของลุงหวังยืนโดดเดี่ยวอ้างว้าง เมื่อเกษตรกรเฝ้ารอคอยการจ่ายเงินชดเชยจากรัฐบาล แต่บางคนก็อพยพออกไปแล้ว เหลือแต่บ้านเรือน ร้านค้า ที่ว่างเปล่าริมถนนเขรอะไปด้วยละอองฝุ่น
รัฐเสนอจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร 60,000 หยวนต่อ 0.067 เฮกตาร์ ด้วยเงินจำนวนนี้ เกษตรกรสามารถโยกย้ายไปอยู่ยังหมู่บ้านแห่งใหม่ ห่างออกไปอีก 4 กิโลเมตรได้ แต่จะไม่มีที่ดินสำหรับเพาะปลูก
“ชาวบ้านอย่างพวกเราทำได้แต่เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์เท่านั้น ถ้าเราไม่มีอาชีพประจำ เราจะเอารายได้มาจากไหน จะเลี้ยงชีวิตได้ยังไงล่ะคุณ” ลุงหวัง เทาร้องถามด้วยใบหน้าเคร่งเครียด