xs
xsm
sm
md
lg

จีนคุมเข้มธาตุหายาก ปรับขึ้นภาษีและห้ามผลิตเกินโควต้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการขุดสำรวจแหล่งแร่ธาตุโลหะหายากในมณฑลเจ้อเจียง (ภาพเอเยนซี)
เอเอฟพี - จีนคุมเข้มธาตุหายาก โดยการปรับขึ้นภาษีธาตุหายากอันเป็นองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมไฮเทค พร้อมทั้งไม่อนุญาตให้มีการถลุงธาตุหายากแหล่งใหม่ที่เกินโควต้า

คณะมุขมนตรีจีน แถลง (19 พ.ค.) ว่า จีนจะสั่งห้ามไม่ให้เพิ่มปริมาณการผลิตธาตุหายาก และสำหรับโครงการฯ ที่ผลิตอยู่เดิมแล้วไม่ให้เพิ่มการแยกธาตุหายากออกจากแหล่งธาตุดิบอีก

กระทรวงพาณิชย์จีน ย้ำก่อนหน้านี้ว่า จีนจะขยายโควต้าการส่งออกธาตุหายาก โดยเพิ่มธาตุหายากที่มีส่วนผสมของเหล็กร้อยละ 10 นับจากวันศุกร์เป็นต้นไป (20 พ.ค.)

แถลงการณ์ร่วมฯ ของทั้งคณะมุขมนตรีและกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำให้นโยบายคุมเข้มนี้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ปักกิ่งสามารถควบคุมการแสวงแหล่งธาตุหายาก อันเป็นองค์ประกอบธาตุ 17 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการผลิตตั้งแต่ไอพ็อด รถยนต์ขับเคลื่อนพลังไฟฟ้า ไปยันขีปนาวุธ

คณะมุขมนตรีชี้ว่า นโยบายใหม่ชุดนี้จะสนับสนุนให้การพัฒนาอุตสาหกรรมธาตุหายากเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จีนเกือบจะเป็นผู้ผูกขาดธาตุหายากอย่างสมบูรณ์

รัฐบาลจะลดจำนวนเหมืองธาตุหายาก และจัดระเบียบบริษัทต่าง ๆ ด้วยการจับรวมกันบ้าง หรือยึดมาเป็นของรัฐบ้าง ซึ่งเป็นความพยายามในการสร้างอำนาจในการคุมราคาของจีน

คณะมุขมนตรียังกล่าวด้วยว่า จีนจะเพิ่มโอกาสให้แก่บริษัทต่าง ๆ มาสมัครขอโควต้าการส่งออก และจะลงโทษบริษัทที่ขายเกินจากมูลค่าโควต้าที่กำหนดไว้อย่างหนัก

จีนผลิตธาตุหายากกว่าร้อยละ 95 ของทั้งโลก และจีนได้เริ่มเก็บกวาดบริษัทฯ โดยปิดบริษัทเหมืองที่ผิดกฎหมาย ด้วยการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด พร้อมทั้งควบคุมการส่งออก

รัฐบาลจีนตัดลดการส่งออกธาตุหายากในครึ่งปีแรกของปี 2554 ลง 35 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับปีก่อนหน้า และในช่วงครึ่งปีหลังของปี 53 ก็ได้ลดโควต้าลงไปถึง 72 เปอร์เซ็นต์

ในเดือนเม.ย. 2554 จีนเพิ่มภาษีธาตุหายากขึ้นอีกตันละ 30-60 หยวน (4.6-9.2 ดอลลาร์) จากที่ก่อนหน้านั้นอยู่ที่เพียง 0.4-3 หยวนต่อตันเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวนี้ก่อให้เกิดเสียงบ่นอื้ออึงจากบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทคต่างชาติ เมื่อราคาของธาตุหายากเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยสูงถึง 130 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่ผ่านมา

ในเดือนธ.ค. บริษัทญี่ปุ่นเลยประกาศว่า จะไปลงทุนถลุงธาตุหายากในอินเดียแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น