xs
xsm
sm
md
lg

"ธาตุหายาก" ของขวัญจากสวรรค์ หรือคำสาปจากนรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหมืองแร่ธาตุหายากแห่งหนึ่งในจีน ที่ไป่หยุน ซึ่งมีปริมาณการผลิตธาตุหายาก สัดส่วนมากถึงครึ่งหนึ่งของทั้งโลก - แฟ้มภาพเอเยนซี
พีเพิ่ลส์เดลีออนไลน์ - เมื่อครั้งที่เริ่มมีการทำเหมืองธาตุหายาก (rare earth) ในหมู่บ้านหวงซา, มณฑลเจียงซีในช่วงปีพ.ศ2513-2523 นั้น

ลุงหยวน ต้าเผิง ชาวนา วัย 63 ปี เคยฝันหวานว่า มันคือของขวัญ ที่ธรรมชาติมอบให้แก่บ้านเกิดของแก

ทว่ามาเดี๋ยวนี้ลุงหยวนสงสัยเสียแล้วว่า เหมืองธาตุหายากน่าจะเป็นคำสาปมากกว่า !

หมู่บ้านหวงซามีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 1,700 คน ลุงหยวนและชาวบ้านคนอื่น ๆ ไม่รู้จักชื่อของธาตุหายากอย่างแลนทาเนียม,เพรซิโอดิเมียม หรือนีโอดิเมียม แล้วก็ไม่ทราบด้วยว่า โลหะธาตุหายาก ซึ่งมีอยู่ 17 ชนิดเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากในการผลิตสินค้าทันสมัย นับตั้งแต่อัลลอยส์สำหรับสร้างยานอวกาศ ไปจนถึงกังหันลม ,แบ็ตเตอรีรถยนต์พลังไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ตาม มีอย่างหนึ่งที่แกรู้ดี นั่นก็คือการทำเหมืองแร่ธาตุหายากเหล่านี้คือยาพิษสำหรับลำธารและทุ่งนาในหมู่บ้าน

เมื่อมีการขุดเหมือง ป่าไม้บนเนินเขาก็ถูกโค่นทิ้ง หน้าดินถูกขุดออก และสารเคมีพิษถูกสูบลงไปในหลุม ที่เจาะ เพื่อสกัดธาตุหายาก

เมื่อเกิดปรากฎการณ์ "ตื่นทอง" สำหรับธาตุหายากในช่วงปีพ.ศ.2533-2543 มิช้ามินานไหล่เขาหลายแห่งทั่วหมู่บ้านก็กลายสภาพเป็น "ผิวดวงจันทร์"

ชาวนาอย่างลุงหยวนยังทราบด้วยว่า แม้ได้มีการปรับปรุงวิธีการทำเหมืองแร่ในปี 2537 ซึ่งก็ได้ช่วยลดการทำลายการเจริญเติบโตของพืช ทว่าปัญหาน้ำเสียยังมิได้แก้ไข

ลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้านแปรเปลี่ยนเป็นสีเขียวปนน้ำเงิน แลดูวิปริตผิดธรรมดา ส่วนกากแร่สีเหลืองนั้นเล่า ก็กองสุมสองฟากฝั่ง

"ลำธารสายนี้เคยใช้เป็นแหล่งน้ำชลประทานของเรา และเป็นแหล่งอาศัยของปลากับกุ้งฝูงใหญ่ " ลุงหยวนเล่า

ทว่าปัจจุบันลำธารสายนี้ไม่สามารถนำมาใช้รดต้นไม้ และพืชผลในไร่นาได้อีกต่อไป ทั้งกุ้งและปลาก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้

ขณะที่นาข้าวขนาดไม่กี่ไร่ของลุงหยวนให้ผลผลิตต่ำเมื่อปีที่แล้ว ส่วนนาข้าว ที่อยู่ใกล้กับลำธารนั้น เก็บเกี่ยวไม่ได้เลย

เรื่องราวเลวร้ายไปอีก เมื่อบ่อน้ำหลายแห่งในหมู่บ้านก็ปนเปื้อนสารพิษ ชาวบ้านต้องต่อท่อน้ำจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาไว้สำหรับดื่ม

กระนั้นก็ตาม ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือแม้เกิดปัญหามากมายเหล่านี้ แต่ลุงหยวนกับชาวบ้านก็ไม่ต้องการให้เลิกการทำเหมืองธาตุหายาก เพราะมันกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของหมู่บ้านหวงซาไปแล้ว โดยสร้างงานให้กับชาวบ้าน และรายได้ท้องถิ่นประมาณร้อยละ 40 มาจากอุตสาหกรรมนี้

เมื่อว่างจากฤดูกาลทำนา ลุงหยวนมักมารับงานชั่วคราวทำที่เหมือง หารายได้พิเศษ ลุงหยวนได้รับค่าจ้างวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50 หยวน หรือราว 250 บาท

ลำพังลุงหยวนเอง แกบอกว่าสภาพที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน แกไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากหวังว่า ข้าวในนาจะกลับมาให้ผลผลิตสูงเหมือนแต่ก่อน และลำธารจะกลับมามีบทบาทสำคัญสำหรับชุมชนเหมือนอย่างเมื่อครั้งที่ยังไม่มีการเปิดเหมืองธาตุหายากที่นี่

นอกจากนั้น ยังหวังว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการทำเหมืองประเภทนี้

ในฐานะเป็นชาติผู้ผลิตและส่งออกธาตุหายากรายใหญ่สุดของโลก รัฐบาลจีนมิได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว โดยตั้งแต่ต้นปีมาก็ได้ประกาศมาตรการเป็นลำดับ เช่น จำกัดปริมาณการปล่อยสารมลพิษ ลดโควตาส่งออก และปราบปรามการลักลอบทำเหมืองและลักลอบส่งออกธาตุหายาก เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น