xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯไฮเทคฯโลก”หนาว” จีนลดส่งออกธาตุหายาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธาตุหายาก (rare earth) เป็นวัตถุดิบสำคัญของภาคผลิตผลิตภัณฑ์ไฮเทคฯ   อาทิ แม่เหล็กขนาดเล็กที่มีพลังสูง ซึ่งช่วยย่อส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์หลายอย่าง เช่น เครื่องหูฟัง disk drives จอคอมพิวเตอร์ ตลอดจนอุปกรณ์นำขีปนาวุธประเภท smart bombs ในภาพ:  อุปกรณ์แม่เหล็กธาตุหายาก จีนจัดเป็นแหล่งธาตุหายากใหญ่ที่สุดในโลก
เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี-ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 จีนเล็งเห็นอำนาจของธาตุหายาก(rare earth) ที่มีอยู่ในมือขนาดที่ เติ้ง เสี่ยว ผิง ชูคำขวัญว่า "น้ำมันมีอยู่ในตะวันออกกลาง ธาตุหายากมีอยู่ในจีน" พร้อมวางกลยุทธ์คุมตลาดธาตุหายากและโลหะที่ถลุงได้มาแต่บัดนั้น โดยจัดให้วิสาหกิจรัฐคุมเหมืองธาตุหายากในเขตมองโกเลียใน และยังซื้อบริษัทอเมริกันที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีถลุงโลหะเหล่านี้ในปี 2538

และขณะนี้ จีนก็เริ่มเผด็จศึกใหญ่ บริหาร “อำนาจธาตุหายาก” ทรัพยากรยุทธศาสตร์ตัวสำคัญของประเทศแล้ว...

โดยจีนจ้าวแห่งแหล่งธาตุหายากรายใหญ่สุดในโลก ประกาศจำกัดการส่งออกธาตุหายากที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี ได้แก่ ซูเปอร์คอนดักเตอร์ ยานพาหนะไฮบริด และอุปกรณ์ไฮเทคฯต่างๆ เพื่ออนุรักษ์แหล่งสำรองธาตุหายาก และรักษาราคาธาตุ งานนี้ทำชาติอุตสาหกรรมชั้นนำโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาหนาวๆร้อนๆไปตามๆกัน เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตธาตุหายากมากสุดในโลกถึง 95 เปอร์เซนต์

นาย จ้าว ซวงเหลียน รองประธานเขตปกครองตัวเองมณฑลมองโกเลียใน ประกาศแผนจำกัดการส่งออกฯดังกล่าวในที่ประชุมข่าวเมื่อวันพุธ(2 ก.ย.) เนื่องจากรัฐบาลต้องการลดการผลิตธาตุหายากคุณภาพสูงตามเหมืองต่างๆในมณฑล เพื่อป้องกันการขุดค้นที่มากเกินไปและส่งเสริมราคา ควบคุมการส่งออกแร่ดังกล่าว และสนับสนุนการควบรวมบริษัทเหมืองเหล่านี้ให้มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ มองโกเลียใน ยังมีแผนจัดตั้งกลไกจัดการแหล่งสำรองธาตุหายากแห่งชาติ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาอีกด้วย

ขณะนี้ ความต้องการธาตุหายากในจีนกำลังพุ่งสูง ขณะเดียวกันบริษัทต่างๆก็ได้โยกย้ายการผลิตคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และผลิตภัณฑ์อื่นๆมายังประเทศจีน การควบคุมการส่งออกธาตุหายาก จะกระทบต่อผู้ผลิตประเทศต่างๆ ที่ต้องการธาตุเหล่านี้ ในการผลิตอุปกรณ์ไฮเทคฯ หรืออิทรอนิกส์ต่างๆ อาทิ แผ่นแม่เหล็กความเข้มข้นสูง หลอดไฟประหยัดพลังงาน ช่องใส่แผ่นดิสคอมพิวเตอร์ จอLCD เลเซอร์ ตลอดจนอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยสารพิษของควันท่อไอเสีย เป็นต้น

มองโกเลียใน เป็นขุมธาตุหายากใหญ่ที่สุดในจีนและใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีแหล่งธาตุหายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรยุทธศาสตร์ มากถึงร้อยละ 75 ของที่มีอยู่ทั่วประเทศ จีนผลิตธาตุหายาก ราว 50,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ จีนไม่ได้ส่งออกธาตุหายากในรูปของดินดิบ แต่ผ่านกระบวนการถลุง และทำให้บริสุทธิ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ข้อมูลหน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งหสรัฐฯ (USGS)ระบุว่า อุตสาหกรรมทั่วโลกใช้ธาตุหายากของจีนถึงร้อยละ 95 และราวร้อยละ 60 ที่บริโภคธาตุหายากประกอบด้วยโลหะธาตุต่างๆ อย่างเช่น ดิสโพรเซียม (dysprosium), เทอร์เบียม (terbium), ทูเลียม (thulium), ลูทีเซียม (lutetium) และ อิตเทอร์เบียม (yttrium), นอกจากนี้ จีนยังมีธาตุหายาก 2 ชนิด ได้แก่ dysprosium และ terbium ซึ่งมากกว่าร้อยละ 99 ซึ่งโลหะ 2 ชนิดนี้ ใช้กันอย่างกว้างขวางในเทคโนโลยีพลังงานสีเขียว และอุปกรณ์ด้านหารทหาร อาทิ การผลิตขีปนาวุธ

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมในสหรัฐฯใช้วัตถุดิบธาตุหายากจากจีนมากกว่าร้อยละ 90

ทั้งนี้ จีนได้ลดปริมาณการส่งออกธาตุหายากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และโควต้าการส่งออกฯสำหรับปีนี้ก็จะมีปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ระบุว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศจีนได้จัดทำร่างแผน 6 ปี เกี่ยวกับการผลิตธาตุหายาก และจะยื่นเสนอต่อคณะมุขมนตรีหรือคณะรัฐบาลจีน โดยจุดประสงค์ของแผนฯมุ่งคุมเข้มการส่งออกธาตุหายาก และควบคุมการทำเหมืองที่อาจส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

ในวันอังคาร(1 ก.ย.) สถานทูตสหรัฐฯแถลงว่าวอชิงตันติดตามร้างแผนธาตุหายากอยู่อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ธาตุหายาก (rare earth) มีโลหะหายากของโลกซ่อนอยู่ ได้แก่ ซีเรียม (Cerium), นีโอดิเมียม (Neodymium), แลนทานัม (Lanthanum), อิตเทอร์เบียม (Yttrium) และ ดิสโพรเซียม (Dysprosium) แร่เหล่านี้มีความสำคัญยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตอิเลกทรอนิกโลก อาทิ cerium ใช้ในอุปกรณ์อุปกรณ์ควบคุมการปล่อยสารพิษของควันท่อไอเสีย, neodymium มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างแม่เหล็กขนาดเล็กที่มีพลังสูง ซึ่งช่วยย่อส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์หลายอย่าง เช่น เครื่องหูฟัง disk drives จอคอมพิวเตอร์ ตลอดจนอุปกรณ์นำขีปนาวุธประเภท smart bombs ที่มีความแม่นยำสูงในการจู่โจมเป้าหมาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น