เอเจนซี--CLSA China Purchasing Managers Index หรือ PMI ระบุ PMI หรือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อของจีนเมื่อเดือนที่แล้ว สูงแตะระดับร้อยละ 52.8 นับเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ที่ PMI อยู่ที่ร้อยละ 53.3 นับเป็นสัญญาณอีกตัวที่ตอกย้ำแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
สำหรับปัจจัยหลักที่ผลักดัน PMI สูงขึ้น ได้แก่ ความต้องการภายในประเทศที่กระตุ้นคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานมากขึ้น ขณะที่ความต้องการจากภายนอกยังไม่ฟื้นตัวถึงระดับที่น่าพอใจนัก
ทั้งนี้ PMI เป็นตัวชี้วัดผลผลิตอุตสาหกรรม โดยระดับที่สูงเหนือ 50 บ่งชี้ว่าภาคดังกล่าวกำลังขยายตัว
นอกจากนี้ การสร้างงานยังนับว่าคึกคักที่สุดนับจากเดือนพฤษภาคม ปี 2551 CLSA ระบุโดยมิให้รายละเอียดใดๆ
ดัชนีของ CLSA ซึ่งเป็นสำนักจัดทำดัชนีอิสระ ได้ตอกย้ำตัวเลขของPMI ของทางการจีนที่เผยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันเสาร์(1 ส.ค.) China Federation of Logistics and Purchasing เผยตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานในเดือนกรกฎาคม สูงขึ้นร้อยละ 53.3 จากระดับร้อยละ 53.2 ในเดือนมิถุนายน นับเป็นอัตราขยายติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5
กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่าดัชนีของทางการนั้นมีนัยะสำคัญกว่าเนื่องจากเป็นดัชนีที่อ้างอิงจากวิสาหกิจของรัฐมากกว่า ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจของรัฐเหล่านี้จะปฏิบัติตามทิศทางนโยบายของรัฐ และเป็นกลุ่มที่ได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นกลุ่มแรก
ดัชนี PMI ล่าสุดนี้ ตอกย้ำแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน โดยสัญญาณฯก่อนหน้าได้แก่ อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจีนไตรมาสสอง ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 7.9 สูงจากไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.1 อันเป็นผลพวงจากการอัดฉีดการใช้จ่ายจากรัฐบาลท่ามกลางวิกฤตการเงินโลก โดยในปลายปี 2551 รัฐบาลจีนได้ประกาศแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มูลค่า 4 ล้านล้านหยวน หรือ 585,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมุ่งไปที่การลงทุนภาคโครงสร้างพื้นฐานและโครงการต่างๆที่รัฐอุดหนุน
ก่อนหน้า PMI จีนตกต่ำสุด เท่ากับร้อยละ 38.8 ในเดือนพฤศจิกายนขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกกำลังพ่นพิษอย่างดุเดือด แต่ในเดือนต่อๆมาก็กระเตื้องขึ้น จนไต่เหนือระดับร้อยละ 50 ในเดือนมีนาคม
สำหรับภาคการผลิต คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจจีน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อความต้องการของตลาดสินค้าส่งออกภายนอกประเทศแห่งหลักของจีนหดฮวบ อาทิ ความต้องการในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป.