เอเจนซี – การเดินทางมาเยือนจีนของ 2 รัฐมนตรีจากสหรัฐฯ เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จีน ว่ามีกลยุทธ์เพื่อปกป้องธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และกีดกันการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ เพื่อครองตำแหน่งเจ้าแห่งพลังงานหมุนเวียนในระดับโลก
โดยการเดินทางมาเยือนจีนของ นายสตีเว่น ชู รัฐมนตรีพลังงาน และ นายแกรี ล็อค รัฐมนตรีพาณิชย์ จากสหรัฐฯ เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงร้องเรียนจากชาติตะวันตก กรณีที่จีนปกป้องธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาด
จีนถือเป็นชาติผู้ผลิตแผงควบคุมพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์ รายใหญ่ที่สุดในโลก และได้ส่งออกแผงโซลาร์ไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อจีนคิดจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นในประเทศ ก็ได้ออกระเบียบให้ 80 เปอร์เซ็นต์ของแผงโซลาร์ที่จะใช้ในโรงงานนี้ ต้องเป็นของที่ผลิตในจีน
หรือกรณีที่รัฐบาลจีนได้เปิดประมูลคู่สัญญาฟาร์มกังหันลมจำนวน 25 สัญญา ปรากฎว่า บริษัทจากจีนชนะการประมูลทุกสัญญา แต่บริษัทต่างชาติที่ยื่นประมูลอีก 6 รายถูกระบุว่า ขาดคุณสมบัติทางด้านเทคนิค
อีกกรณีหนึ่งคือ รัฐบาลจีนได้สั่งห้ามติดตั้งกังหันลมที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 1 พันกิโลวัตต์ ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าเป็นขนาดที่บริษัทในยุโรปนิยมผลิตกัน
ลู่ หง เจ้าหน้าที่ฝ่ายโปรแกรมพลังงานหมุนเวียนจาก Energy Foundation ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า การที่รัฐบาลจีนทุ่มทุนมหาศาลในพลังงานหมุนเวียน ก็เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีน
ขณะที่ โจว เฮ่อเหลียง ประธานสมาคมเทคนิคกระแสไฟฟ้าของจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อนโยบายด้านเทคโนโลยีของจีน คาดการณ์ว่า ภายในปีนี้บริษัทของชาวจีนจะเพิ่มสัดส่วนในตลาดพลังงานหมุนเวียน 10-20 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของตลาดภายในประเทศ อีก 25 เปอร์เซ็นต์จะเป็นส่วนแบ่งของบริษัทจากสหรัฐฯ และยุโรป
นอกจากนี้ กำลังผลิตพลังงานลมของจีนในปีนี้ก็แซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้ว จีนมีฟาร์มกังหันลมอยู่ 6 แห่ง และแต่ละแห่งมีกำลังผลิตพลังงานระหว่าง 1 หมื่น – 2 หมื่นเมกกะวัตต์ แถมยังได้รับการอุดหนุนจากธนาคารของรัฐด้วยการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจากยุโรปจึงเริ่มคลางแคลงใจรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมบริษัทในท้องถิ่น
นายเจอร์ก วุตต์เก่ ประธานสภาหอการค้ายุโรปในประเทศจีน กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ผลิตกังหันลมจากยุโรปทั้งหมดได้งดการประมูลกับรัฐบาลจีนทุกสัญญา เพราะเชื่อว่าการยื่นประมูลของพวกเขาจะไม่ได้รับพิจารณาอย่างจริงจัง
นายวุตต์เก่ ยังบอกอีกว่า บรรดาผู้ผลิตกังหันลงจากยุโรปต่างแสดงความผิดหวัง เพราะพวกเขาลงทุนมาตั้งโรงงานเพื่อให้เข้าเกณฑ์ของรัฐบาลจีน ที่กำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์
แต่ปรากฎว่า ในการประมูลสัญญาก่อสร้างฟาร์มกังหันลม ผู้ผลิตต่างชาติทุกรายกลับได้รับแจ้งว่าขาดคุณสมบัติทางด้านเทคนิค แต่บริษัทของจีนที่ไม่เคยผลิตแม้แต่กังหันลมสักอัน กลับได้รับอนุมัติ
ถึงแม้ว่าสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ได้รายงานการสนทนาทางโทรศัพท์ ระหว่างนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า กับนายกรัฐมนตรีอังเกลา เมอร์เคล แห่งเยอรมนี ที่นายกฯ ของจีนได้ยืนยันว่า จีนจะไม่เลือกปฏิบัติกับบริษัทต่างชาติ แต่จนถึงขณะนี้จีนก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงข้อบังคับว่าด้วยการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ
แม้องค์การการค้าโลก หรือ WTO ได้ห้ามไม่ให้ประเทศสมาชิกใช้ข้อกำหนดเรื่องการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ แต่ในจีนอุตสาหกรรมด้านพลังงานส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ และในการเข้าเป็นสมาชิกของ WTO นั้น จีนได้ขอละเว้นให้การจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐไม่ต้องใช้กฎ WTO ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่ถือว่าผิดกฎ
นอกจากนี้ ยังมีกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่ทำให้นักลงทุนจากต่างชาติยากจะแข่งขันในตลาดของจีน อย่างเช่นกฎเกณฑ์ด้านการเงินสำหรับพลังงานลม ที่ทำให้ฟาร์มกังหันลมของบริษัทต่างชาติประสบปัญหายุ่งยากในการขอกู้ยืมเงิน และการขายคาร์บอนเครดิต เมื่อเทียบกับฟาร์มกังหันลมของจีน
โจว เฮ่อเหลียงกล่าวว่า ขณะนี้จีนกำลังพยายามที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัตถุดิบที่ทนทานต่อแรงเหวี่ยง ความชื้น และแรงต้านที่ส่งผลกระทบต่อกังหันลม
แต่ในระหว่างนี้วัตถุดิบสำหรับพลังงานลมในจีนล้วนมาจาก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ คือ บริษัท PPG Industries ผู้ผลิตไฟเบอร์กลาส และตัวป้องกันภายนอกสำหรับกังหันลม และบริษัท Zoltek Corporation ผู้ผลิตคาร์บอน ไฟเบอร์ ที่นำมาทำเสาค้ำสำหรับใบพัดกังหันลม