xs
xsm
sm
md
lg

5 เดือนอีสานแห่ขอ“BOI”เฉียด 2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้าพลังงานลม ลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ของ กฟผ. โครงการนำร่องการผลิตพลังงานทดแทนจากพลังงานลม
นครราชสีมา - ภาวะลงทุนอีสาน 5 เดือนแรกพุ่งสวนกระแสแห่ยื่นขอส่งเสริม “บีโอไอ” เฉียด 2 หมื่นล้าน อนุมัติแล้ว 31 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 5,339 ล้าน ชี้จับตาอุตฯ ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม-แสงอาทิตย์อีสานศักยภาพสูงนักลงทุนพร้อมขนเม็ดเงินเข้าปักฐาน ล่าสุด“บ.โซล่า เพาเวอร์”ทุ่ม 850 ล้านผุดรง.ผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่โคราช

นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (จ.นครราชสีมา) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนในภาคอีสานช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.- พ.ค) ปีนี้ มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 47 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 19,053 ล้านบาท จะเกิดการจ้างงานกว่า 6,800 คน ในจำนวนนี้ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้วในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมารวม 31 โครงการ เงินลงทุน 5,339 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 5,600 คน ทำให้มีโครงการอยู่ในระหว่างรอพิจารณาอีก 16 โครงการ รวมเงินลงทุน 13,714 ล้านบาท จะเกิดการจ้างงาน 1,200 คน

ล่าสุดเดือน พ.ค. ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำนวน 6 โครงการ เงินลงทุน 1,323 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 725 คน ได้แก่ โครงการเพาะปลูกด้วยระบบ Hydropinics ,โครงการผลิตยางผสม(Compound Rubber) ,โครงการผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป เช่น ชิ้นส่วนแอร์คอมเพรสเซอร์ ,โครงการผลิตชิ้นส่วนของ PICK UP UNIT ,โครงการผลิตชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบสำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ,โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก พลังงานแสงอาทิตย์ (Electricity Power from Solar Power) ซึ่งโครงการทั้งหมดตั้งอยู่ใน จ.นครราชสีมา 4 โครงการ และ บุรีรัมย์ กับ จ. อุดรธานี จังหวัดละ 1 โครงการ

สำหรับโครงการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ในภาคอีสาน ถือว่ามีศักยภาพสูง เนื่องจากมีพื้นที่รับแสงอาทิตย์สูงตลอดปีและมีกระแสลมที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมได้ เช่น จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี และ จ.อุดรธานี เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้มีนักลงทุนแสดงความสนใจต้องการเข้ามาลงทุนโครงการดังกล่าวกันจำนวนมาก และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ จากตัวเลขภาวะส่งเสริมการลงทุน 5 เดือนแรกของภาคอีสานปีนี้ถือว่าดีขึ้นมาก มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดจนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดย 5 เดือนแรกปีที่แล้ว มีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุนรวม 4,295 ล้านบาท แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5,339 ล้านบาท และยังมีโครงการรอการพิจารณาจากบีโอไออีก 16 โครงการรวมมูลค่าลงทุน 13,714 ล้านบาท ขณะที่ 5 เดือนแรกปีที่แล้วมีโครงการรอพิจารณา 10 โครงการ มูลค่าลงทุนเพียง 1,615 ล้านบาท เท่านั้น ” นายสุวิชช์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม 5 เดือนแรกปีนี้โครงการลงทุนในภาคอีสานเกือบครึ่งหนึ่ง ยังกระจุกตัวอยู่ที่ จ.นครราชสีมา รวม 11 โครงการ เงินลงทุน 2,253 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 2,587 คน

ผุดรง.ไฟฟ้าพลังงานลมโคราช 850 ล้าน

นายสุวิชช์ กล่วต่อว่า สำหรับรายละเอียดโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมล่าสุดในเดือนพ.ค. จำนวน 6 โครงการ รวมเงินลงทุน 1,323 ล้านบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (จ.นครราชสีมา) จำนวน 5 โครงการ

ประกอบด้วย 1. โครงการเพาะปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ Hydroponics ครบวงจร เช่น อุปกรณ์ในการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ ธาตุอาหาร วัสดุปลูกฯลฯ ของบริษัท เอซีเค ไฮโดรฟาร์ม จำกัด เงินลงทุน 90 ล้านบาท กำลังการผลิต 600 ตัน/ปี เป็นหุ้นไทยทั้งสิ้น การจ้างงาน 173 คน ที่ตั้ง จ.นครราชสีมา

2.โครงการผลิตยางผสม ( Compound Rubber) ของ บริษัท ละหานทรายรับเบอร์ แอนด์ ลาเท็กซ์ จำกัด กำลังการผลิต 10,000 ตัน/ปี เงินลงทุน 40 ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น การจ้างงาน 29 คน ที่ตั้ง จ.บุรีรัมย์

3. โครงการผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป เช่น ชิ้นส่วนแอร์คอมเพรสเซอร์ ของ บริษัท คายาม่า เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีกำลังการผลิตชิ้นส่วนแอร์คอมเพรสเซอร์ 900,000 ชิ้น/ปี เงินลงทุน 141 ล้านบาท เป็นการร่วมหุ้นไทยและญี่ปุ่นการจ้างงาน 31 คน ที่ตั้ง จ.นครราชสีมา

4. โครงการผลิตชิ้นส่วนของ PICK UP UNIT ของ บริษัท เจวีซี ออพติคัล คอมโพเน้นท์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีกำลังการผลิต 24,000,000 ชิ้น/ปี เงินลงทุน 200 ล้านบาท เป็นการร่วมหุ้นไทยและญี่ปุ่น การจ้างงาน 474 คน ที่ตั้ง จ.นครราชสีมา

5. โครงการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ของ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด มีกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 กิโลวัตต์/ปี เงินลงทุน 850 ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น การจ้างงาน 16 คน ที่ตั้ง จ.นครราชสีมา

ส่วนอีก 1 โครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 (จ.ขอนแก่น) คือ โครงการผลิตชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบสำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ของบริษัท ไทย วิกตอรี่ พลาสติก (2009) จำกัด มีกำลังผลิตท่อพีวีซีต่างๆ ปีละประมาณ 1,728,000 เมตร และ Plastic Resin 300 ตัน เงินลงทุน 2 ล้านบาท การจ้างงาน 21 คน ที่ตั้ง จ.อุดรธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น