หากมองแบบผิวเผิน ภาพบนหน้าปกนิตยสารฉบับนี้ดูคล้ายคลึงกับ ภาพกำแพงเมืองจีนในเหมันตฤดู ทว่าเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้วกลับเห็นได้ชัดว่า ภาพปกประเดิมนิตยสาร Chinese National Geography International (CNGi) ภาคภาษาอังกฤษฉบับแรกนั้นมิใช่ภาพกำแพงเมืองจีนอันโด่งดัง แต่เป็นภาพเทือกเขาไท่หัง (太行山) ในมณฑลเหอหนาน ที่ผงาดขึ้นท่ามกลางพายุหิมะอันหนาวเหน็บ ราวกับมังกรที่ตื่นขึ้นจากการจำศีล
โดยนัยยะทางประวัติศาสตร์ “เหอหนาน” คือ ดินแดนที่เป็นต้นธาร และ จุดกำเนิดของชาวจีนทั้งมวล และ เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะถูกนำมาใช้เป็นเรื่องเด่นในนิตยสาร CNG ภาคภาษาต่างประเทศฉบับปฐมฤกษ์
จริงๆ แล้วนิตยสารจงกั๋วกั๋วเจียตี้หลี่ (中国国家地里) หรือ Chinese National Geography เป็นนิตยสารเก่าแก่ของจีน โดยก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2492 (ค.ศ.1949) หรืออายุครบ 60 ปีในปีนี้นี่เอง ภายใต้การดูแลของบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีนและสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการชั้นสูงของจีน
ตัวผู้เขียนเองเป็นแฟน CNG ฉบับภาษาจีนตั้งอยู่อาศัยอยู่ที่ประเทศจีน และพบว่าช่างภาพของ CNGนั้นสามารถถ่ายภาพได้สวยไม่แพ้ช่างภาพฝรั่งของ National Geographic เลยทีเดียว ขณะที่ในส่วนของเนื้อหาแน่นอนว่า เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับเมืองจีน คนจีนย่อมมีความเชี่ยวชาญและสามารถเสาะแสวงหาเรื่องราวที่น่าสนใจได้ลึกซึ้งกว่าคนต่างชาติ นี่เองจึงเป็นเสน่ห์ของ CNG ที่คนอื่นมิอาจเลียนแบบได้
ก่อนหน้าที่ CNGi (Chinese National Geography International) ฉบับ Launch Issue ฉบับเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2552 นี้จะปรากฏขึ้นในบรรณพิภพ เมื่อเดือนกันยายนปีกลายกองบรรณาธิการได้เคยออก CNGi ฉบับทดลอง (Pre-launch issue) มาก่อนหน้านี้แล้วคือฉบับ ทะเลสาบในซินเกียง (The Lakes of Xinjiang) ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับมาจากผู้อ่านจากต่างประเทศจำนวนมาก
Melvyn Goh บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ CNGi กล่าวไว้ในบทนำว่า หลายคนรู้สึกแปลกใจที่นิตยสารเล่มนี้เปิดตัวในขณะที่โลกกำลังประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ผู้อ่านและผู้รับสื่อมีแนวโน้มที่จะหันไปรับสื่อออนไลน์มากขึ้นทุกทีๆ โดยในประเด็นนี้ Goh ชี้แจงว่า CNG นั้นเป็นมากกว่านิตยสาร แต่เป็นสื่อ เป็นแบรนด์ ที่ได้รับความน่าเชื่อถืออย่างสูงในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ทั่วโลกกำลังจับตามองประเทศจีนอย่างใกล้ชิด CNG ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องสะท้อนภาพและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนให้คนทั่วโลกเข้าใจ
สำหรับเนื้อหาของ CNGi ฉบับ Where China Began เล่มนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ “เหอหนาน” ในทุกแง่ทุกมุม โดยย้อนอดีตไปตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหิน ยุคสัมฤทธิ์ เรื่อยมาจนเริ่มมีอักขระจารึกประวัติศาสตร์ในยุค ราชวงศ์ซาง (ศตวรรษที่17-11 ก่อนคริสต์ศักราช)
นับถึงปัจจุบัน เหอหนานที่มีเนื้อที่คิดเป็นเพียง 167,000 ตารางกิโลเมตร หรือเพียงร้อยละ 1.74 ของพื้นที่ประเทศจีนทั้งหมด อีกทั้งพื้นที่กว่าครึ่งยังเป็นพื้นที่ภูเขา แต่เหอหนานกลับสามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรหล่อเลี้ยงชาวจีนได้มากกว่า 20,000 ล้านตันต่อปี โดยผลผลิตที่เลื่องชื่อของเหอหนานอย่างเช่น ข้าวสาลี กระเทียม (ร้อยละ 70 ของผลผลิตกระเทียมจีนมาจากเหอหนาน) รวมไปถึงผลิตผลที่มีชีวิตอย่าง “แรงงาน”
เหอหนานมีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิต มีโบราณสถาน ที่น่าสนใจมากมาย และนิตยสาร CNGi ฉบับปฐมฤกษ์นี้ได้รวบรวมมาอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็น แหล่งธรรมชาติ แหล่งวัฒนธรรม วัดเส้าหลินแห่งภูเขาซงซาน เรื่องราวแหล่งกำเนิดของอักษรจีนบนกระดอกเต่า-กระดูกสัตว์ (甲骨文) “ดอกโบตั๋น” ราชันย์แห่งดอกไม้ แหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ แหล่งกำเนิดของมวยไท้เก๊ก (太极拳) และ ทางผ่านของ “แม่น้ำเหลือง” เปลญวนของชนชาติจีน เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อ CNGi ได้ตามร้านหนังสือภาษาอังกฤษทั่วไปในราคาเล่มละ 220 บาท หรือหากต้องการสมัครเป็นสมาชิกรายปี (6 ฉบับ) ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.cngint.com
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ China National Geography : Where China Began (ฉบับภาษาอังกฤษ)
ฉบับ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2552 ปีที่ 1 ฉบับที่ 1
สำนักพิมพ์ Chinese National Geography Press (中国国家地里杂志社)
เว็บไซต์ www.cngint.com
ISSN 2070-4356
ราคา 220 บาท
*หน่วยงาน/บุคคลใดที่ต้องการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับจีนในรูปแบบหนังสือ สามารถส่งหนังสือมาได้ที่ “โต๊ะจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 102/1 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200” กรุณาวงเล็บด้วยว่า “(คอลัมน์หิ้งหนังสือ)”