xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยยุค "อิมซังอ๊ก"/อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

เย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(3 ก.พ.) เป็นครั้งแรกครับที่ผมได้มีโอกาสนั่งชม "อิมซังอ๊ก ยอดพ่อค้าหัวใจทระนง" ที่ฉายอยู่เป็นประจำ ทุกๆ วันเสาร์-วันอาทิตย์ (เวลา 18.00 น.) ทางช่อง 3

ไม่ทราบว่าสำหรับท่านที่มีโอกาสได้ติดตามชมซีรี่ส์เรื่องนี้อยู่แล้วจะรู้สึกอย่างไรกันบ้าง

ส่วนผมดูแล้วก็ไม่อยากที่จะดูต่อเลยครับ

ไม่ใช่ว่าไม่สนุกอะไรหรอก แต่ผมกลัวว่า ดูแล้วมันจะติดครับ

เพราะขนาดที่ว่าไม่รู้เรื่องราวมาก่อน (แค่ได้ยินโฆษณาแบบผ่านๆ ว่าเป็นเรื่องของพ่อค้าสู้ชีวิต) ไม่รู้จักตัวละครเลยสักตัว ฯ ผมยังดูด้วยความรู้สึกสนุกมากๆ ครับ
...
ในอดีตครอบครัวผม(หมายถึงพ่อแก่ แม่แก่ (ตา-ยาย) แม่ รวมถึงลุงๆ ป้าๆ ของผม) มีอาชีพค้าขายครับ โดยจะซื้อสินค้าใส่ในเรือ ซึ่งแม่ผมคุยว่าลำใหญ่พอสมควร ขณะที่ยายใบ(แม่แก่ของผม)ก็เป็นคนที่ค่อนข้างจะมีคนในละแวกบริเวณริมแม่น้ำป่าสัก ไล่ตั้งแต่ อ.เสาไห้ จนถึงตลาดท่าหลวง (จ.อยุธยา) รู้จักพอสมควร

หลังย้ายขึ้นมาปลูกบ้านอยู่บนบก การค้าขายทางเรือก็เลิกไปแต่เปิดเป็นร้านขายของชำเล็กๆ แทน ก่อนที่จะเลิกแบบถาวร(ทว่ายังคงทำเป็นอาชีพเสริมในบางครั้ง)เมื่อแม่ผมเข้าไปเป็นพนักงานของโรงงานทอกระสอบ(เสาไห้) ตัวผมเองก็มีโอกาสได้เป็นลูกมือก็ช่วงนี้แหละครับ

ของที่ขายก็แล้วแต่เทศกาล อาทิ ขายข้าวเม่าทอด (พูดแล้วจะหาคุย ผมเนี่ยเป็นเซียนปั้นข้าวเม่าของหมู่บ้านคนหนึ่งเลยละครับ) กล้วยแขก, อ้อยควั่น เมื่อฤดูเกี่ยวข้าวมาถึงกับช่วงที่ต้องไปขายในงานลอยกระทงที่วัดสะตือ หรือหากเป็นงานวัดพวกปิดทอง - ฝังลูกนิมิตรอันนี้จะเน้นขาย ลูกชิ้นปิ้ง ข้าวโพดบ้าง น้ำอัดลมบ้าง นอกนั้นในช่วงปกติก็จะขายทั้ง ขนมเบื้อง ถั่วแระต้ม ลูกชิ้น มันทอด ที่หน้าโรงเรียน

กำไรจากการขาย ได้วันละ 200 กว่าบาทก็ถือว่าเยอะแล้วครับ

นอกจากจะชวนให้คิดถึงภาพในอดีตช่วงที่ว่าซึ่งทั้งสนุกทั้งรู้สึกขี้เกียจแล้ว ซีรี่ส์ยอดพ่อค้าหัวใจทระนงยังทำให้ผมต้องเข้าไปหาเรื่องย่ออ่าน ซึ่งผมขอคัดลอกจากเว็บไซต์ของช่อง 3 เอามาให้อ่านกันทั้งดุ้นเลยนะครับเผื่อว่าจะกระตุ้นให้ผู้อ่านรู้สึกอยากติดตามบ้าง

...จากเรื่องจริงของยอดพ่อค้าแห่งคาบสมุทรเกาหลี เมื่อความแค้นแปรเปลี่ยนเป็นความมุ่งมั่น วิถีการค้าที่ต้องใช้วิถีแห่งรักเป็นเดิมพัน

บิดาของ อิมซังอ๊ก มุ่งหวังที่จะเป็นล่ามหลวงมาตลอดชีวิต จึงถ่ายทอดความรู้ด้านภาษา ให้กับ ซังอ๊กจนเขาสามารถพูดภาษาจีนได้ตั้งแต่เด็ก แม้ซังอ๊กจะมีความสามารถทางด้านการค้าแต่พ่อและแม่ของเขาก็ยังคงยืนยันที่จะให้ซังอ๊กเป็นล่าม หลวงของราชสำนักอยู่ดี

ในเมืองอึยจูที่ซังอ๊กอาศัยอยู่มีพ่อค้าทรงอิทธิพลอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม "ซงซาน" และ "กังซาน" จากการวิวาทกันของพ่อค้า 2 กลุ่มนี้ ทำให้ซังอ๊กได้พบและรู้จักกับ ปาร์กดานุง ลูกสาวของ ปาร์กจูมุง พ่อค้าใหญ่แห่งกลุ่มซงซาน ดานุงเห็นความสามารถของซังอ๊กจึงชวนเขามาร่วมงานด้วย แต่ซังอ๊กปฏิเสธเพราะเป้าหมายของเขาคือการเป็นล่ามหลวงเท่านั้น แต่แล้วความตั้งใจของเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาและพ่อถูกปาร์กจูมุงหักหลัง ทำให้พ่อของซังอ๊กต้องอาญาประหารชีวิต เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ซังอ๊กสูญเสียทั้งครอบครัว และความฝันที่จะเป็นล่ามหลวง

เมื่อทุกอย่างในชีวิตถูกทำลาย ความแค้นและแรงบีบคั้นในครั้งนั้นผลักให้เขาก้าวเข้าสู่วิถีแห่งการเชือดเฉือนกันในสนามการค้า ด้วยความเฉลียวฉลาด เป็นกันเองกับทุกคน อีกทั้งยังหมั่นศึกษาหาความรู้ใส่ตัว ไม่คิดที่จะละทิ้งความหวัง คงยืนหยัดต่อสู้ด้วยความเข้มแข็ง ประกอบกับปณิธานอันแรงกล้า ตลอดจนความขยันหมั่นเพียร กับความสามารถทางการค้าที่มี และท้ายที่สุดการที่เขาสามารถใช้ความพอเพียงสยบความโลภได้นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาก้าวขึ้นสู่ความเป็นยอดพ่อค้าและมหาเศรษฐีแห่งคาบสมุทรเกาหลีที่มีคนให้การนับถือมาก ที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว

แต่ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เขากลายเป็นตำนานเล่าขานมาจนปัจจุบันนั่นคือการที่เขาเป็นพ่อค้าที่รู้จักให้กลับคืนสู่สังคม เขาได้ช่วยเหลือคนมากมาย ในบั้นปลายชีวิตเขาได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ รวมทั้งนำเงินที่มีอยู่แจกจ่ายให้ผู้คน ยกที่ดินที่ตนมีให้ตกเป็นของแผ่นดิน คุณงามความดีเหล่านี้ทำให้เขายังคงอยู่ในใจชาวเกาหลีไม่เสื่อมคลาย แต่กับความรักที่ดูเหมือนจะเป็นเส้นขนานเมื่อหญิงที่เขารักกลับกลายเป็นลูกสาวของศัตรู เส้นทางรักที่สวนทางกับเส้นทางแห่งการแก้แค้นบนวิถีแห่งการค้าจะจบลงเช่นไร?...
...
วันที่ดูนั้นพระเอกของเราพลาดท่าการขายกระดาษให้กับพ่อค้าหนุ่มของกลุ่มซงซานครับ เนื่องจากว่าอีกฝ่าย(ซึ่งได้ซื้อตัวคนของฝ่ายพระเอกไว้เพื่อแอบสืบการเคลื่อนไหว)ได้ใช้อุบายสร้างเรื่องว่าจะมีสงครามเกิดขึ้นกระทั่งทำให้พระเอกของเราที่ซื้อกระดาษมาเกร็งราคา(ก่อนหน้านั้นก็โดนโก่งเรื่องเยื่อไม้ที่จะมาทำกระดาษแล้วครั้งหนึ่ง)ต้องรีบขายกระดาษออกไปในราคาที่ขาดทุนย่อยยับ

ไฮไลต์ของวันนั้นจะว่าไปแล้วไม่ได้อยู่ที่ตัวพระเอกหรอกครับ แต่อยู่ที่การเชือดเฉือนคำพูดกันระหว่าง "ปาร์กดานุง" ลูกสาวของกลุ่มซงซาน กับพ่อค้าหนุ่มที่เป็นมันสมองของกลุ่ม(จำชื่อไม่ได้ครับ)เนื่องจากเธอไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับวิธีการคิดถึงแต่เรื่องของ "กำไร" โดยไม่เห็นแก่วิธีการของเขา (ตัวอย่าง เช่นให้คนไปจุดไฟเพื่อให้เกิดความวุ่นวายว่าจะมีสงคราม แล้วเอารองเท้าซึ่งก่อนหน้านั้นเขาได้ไปกว้านซื้อไว้แล้วเอาออกมาขาย เนื่องจากรองเท้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไปในการหนีภัยสงคราม)

"ถ้าทำมาหากิน หรือคิดจะเอากำไรจากชาวบ้านตาดำๆ โดยคิดแต่เพียงว่าตัวเองมีทุนหนากว่า การกระทำเช่นนี้มันก็คงไม่ผิดอะไรเยี่ยงกับโจร"

"บางทีพวกโจรเองยังมีคุณธรรมมีเมตตาธรรมมากกว่าเสียอีก เพราะก่อนจะปล้น คนพวกนี้ยังดูว่าเหยื่อที่จะปล้นมีสภาพเช่นไร เป็นชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ หรือพวกพ่อค้าเศรษฐีร่ำรวย"


นางเอกของเราบอกประมาณนี้(ไม่ตรงทุกคำพูดหรอกนะครับ) หลังจากที่พ่อค้าหนุ่มได้แจ้งให้ทราบถึงแผนการที่จะเข้าไปกว้านซื้อปลามาจากชาวบ้านด้วยเงินกำไรที่ได้มาจากฝ่ายพระเอกเพื่อผูกขาดการค้าปลาเพียงเจ้าเดียว โดยตัวเขาเองก็สวนกลับนางเอกไปประมาณว่า

"เป็นพ่อค้า ถ้ามัวแต่กังวลเรื่องอื่นๆ กระทั่งมาหากินไม่ได้กำไร หรือได้ไม่เยอะ ก็ไม่สมควรที่จะเรียกตัวเองว่าพ่อค้า"

"แล้วข้าก็เชื่อด้วยว่า คงจะไม่มีใครกล้าที่จะปฏิเสธไม่หยิบ(เศษ)เงินที่ข้าโปรยลงไปให้อย่างแน่นอน"


โดนจริงๆ ครับ (ความจริงยังมีอีกหลายประโยคแต่ผมจำไม่ได้) ถ้าใครมีเวลาผมอยากให้ลองติดตามซีรี่ส์เรื่องนี้ดูบ้าง เพราะเนื้อหาน่าติดตาม เนื้อเรื่องไม่ถึงกับซีเรียสมากนัก ทว่าก็ไม่ถึงขนาดที่จะมีตัวละครนางอิจฉามายืนแว้ดๆ หรือมีตัวตลกแต่งตัวบ้าๆ บอๆ ขายความเซ่อซ่าเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ

ทุนนิยมไม่ใช่ระบบที่เลวร้ายอะไรหรอกครับถ้ามีคำว่าคุณธรรมกำกับ

ฟังคำพูดและวิธีคิดของพ่อค้าหนุ่มฝ่ายซงซานแล้ว ผมนึกถึงสภาพของประเทศไทยของเราที่ผ่านมาในช่วงของอดีตนายกทักษิณขึ้นมาทันที

และดูเหมือนว่า วิธีค้ากำไรด้วยการโปรยเศษเงินเป็นเหยื่อล่อปลาตัวเล็กตัวน้อยมันกำลังจะกลับมาอีกแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น