xs
xsm
sm
md
lg

“แพนด้าน้อย”ความหวังท่องเที่ยวเชียงใหม่ บูม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลูกแพนด้าเมื่อแรกเกิด
การปรากฏตัวอย่างชวนตะลึง! อึ้ง! ทึ่ง! ทั้งสวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อ จู่ๆ แพนด้าสาวหลินฮุ่ย ก็ได้คลอดลูกแพนด้าน้อยเพศเมียออกมา เมื่อวันที่ 27พ.ค.ที่ผ่านมา งานนี้หลายหน่วยงานจึงเตรียมจัดฉลองให้กับลูกแพนด้าน้อย

ซึ่งมีหลายคนออกมารับลูกกับถ้วนหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บ้างจะเจรจาขอให้แพนด้าน้อยอยู่เมืองไทยต่อเกิน 2 ปี บ้างก็หวังให้แพนด้าน้อยเข้ามาช่วยดึงนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนเชียงใหม่ เพื่อที่เศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ที่ซบเซา จะได้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ซึ่งความหวังที่จะให้เจ้าสัตว์ตัวน้อยเข้ามาช่วยด้านการท่องเที่ยวดูจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก

รู้จักแพนด้า

แพนด้าเป็นสัตว์ที่พบในประเทศจีนเท่านั้น ทุกวันนี้โลกมีแพนด้าเหลืออยู่เพียงประมาณ 1,000 ตัวเท่านั้น และ 20 ตัว อาศัยอยู่ในสวนสัตว์นอกประเทศจีน ส่วนที่เหลืออยู่ในสวนสัตว์จีนบ้างและอยู่ในป่าบ้าง โดยเฉพาะในบริเวณจีนตอนกลางที่มีภูเขาสูง ที่ที่มันชอบอยู่คือที่ระดับความสูง 1,500-3,000 เมตร ซึ่งมีเมฆหมอกปกคลุมตลอดเวลา

มันชอบกินไผ่และลำต้นไผ่เป็นอาหารประมาณวันละ 10-20 กิโลกรัม ตามปกติแพนด้าไม่ใช่สัตว์กินพืชแต่เป็นสัตว์กินเนื้อ แต่เมื่อมันเป็นสัตว์ที่เชื่องช้า การไล่ล่าจับสัตว์อื่นเป็นอาหารจึงทำได้ยาก ดังนั้น มันจึงหันมาบริโภคพืชแทน แพนด้าชอบน้ำผึ้งเหมือนสัตว์ตระกูลหมีชนิดอื่นๆ และใช้เวลาหาอาหารวันละประมาณ 14 ชั่วโมง ส่วนอีก 10 ชั่วโมงที่เหลือ เป็นเวลานอน
วัดขนาดตัวกันหน่อย
แพนด้าเลี้ยงลูกอย่างทะนุถนอมนานถึง 1 ปีครึ่ง ซึ่งนับว่านานกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ

ผู้เชี่ยวชาญการดูแลแพนด้าได้พบว่า 70% ของแพนด้าตัวเมียที่ได้รับการเลี้ยงดูในสวนสัตว์ไม่มีระดู และ 90% ของตัวผู้ที่ถูกเลี้ยงปฏิเสธการจับคู่ และนี่ก็คือเหตุผลหนึ่งที่มีส่วนในการทำให้ประชากรแพนด้าลดจำนวนลง

แพนด้า เป็นสัตว์ที่จัดอยู่ใน CITES appendix I ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ว่าด้วยการค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศต่าง ๆ

คือ สัตว์และพืชในกลุ่มนี้ "ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์" ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย

ซึ่งการนำแพนด้าเข้ามาในประเทศใดก็ตาม แม้ว่าจุดประสงค์ว่าต้องการนำมาเพื่อแสดง หรือเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ ก็ต้องมีจุดประสงค์หลักอย่างหนึ่ง คือการศึกษาวิจัยหรือขยายพันธุ์ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถทำเรื่องย้ายออกจากประเทศถิ่นฐานได้

เมื่อเมืองไทยมีแพนด้า

ในปี 2527 เมื่อโลกตระหนักว่า แพนด้าเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ รัฐบาลจีนภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ จึงได้จัดตั้ง Research Center for the Protection of the Giant Panda and Its Ecosystem ขึ้น ที่ว่อหลง มณฑลเสฉวน ซึ่งต่อมาก็ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในมณฑลเสฉวนด้วยเช่นกัน จนต้องหอบหิ้วหมีแพนด้าหนีตายกันจ้าละหวั่น

เมื่อวันที่12 ต.ค. 2546 รัฐบาลและชาวไทยได้ต้อนรับฑูตสันถวไมตรีช่วงช่วง - หลินฮุ่ย จากศูนย์วิจัยเพื่อการอนุรักษ์แพนด้าแห่งประเทศจีน (ว่อหลง) มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเดินทางมาไทยตามโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย

แพนด้าทั้งสองได้มาพักอาศัยอยู่ที่บ้านใหม่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นเวลา 10 ปี จวบจนปัจจุบันก็ย่างเข้าปีที่ 6 แล้ว ซึ่งในวันหนึ่งๆจะต้องต้อนรับผู้เข้าชมราว 6,000 คน ผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องตีตั๋วเข้าชม ซึ่งแบ่งรอบ รอบละ 200-250 คน เพื่อเข้าชมแพนด้าทั้งสองเป็นเวลา 15 นาทีต่อรอบ
แม่หลินฮุ่ยคาบลูกน้อยอย่างหวงแหน
แพนด้าน้อย

ตลอดเวลาที่ ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย อาศัยอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ทางทีมสัตวแพทย์ได้มีความพยายามหลายครั้งที่จะให้แพนด้าทั้งสองผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติแต่ทว่าก็ต้องคว้าน้ำเหลวทุกครั้งจนครั้งหลังสุดเมื่อวันที่18 ก.พ.2552 ที่ผ่านมาจึงได้ทำการผสมเทียมโดยทีมสัตวแพทย์ได้ทำการฉีดน้ำเชื้อของ 'ช่วงช่วง' ให้กับ 'หลินฮุ่ย' จนในที่สุดหลินฮุ่ยก็ได้ให้กำเนิดแพนด้าน้อยอย่างที่ทราบกัน

ประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูลทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย อยู่เมืองไทยเป็นปีที่6 เป็นทูตสันตวไมตรีที่ทางรัฐบาลจีนมอบให้รัฐบาลไทยเพื่อช่วยเรื่องการวิจัย เพราะในยุคน้ำแข็งมีหลักฐานปรากฏว่าแพนด้าเคยลงมาหากินถึงในประเทศไทยปัจจุบัน แต่หลังยุคน้ำแข็งก็ไม่พบแล้ว

“เราได้ข้อพิสูจน์แล้วว่าหมีแพนด้าผสมพันธุ์ได้ และอยู่ในสภาพอากาศของไทยได้ กินไผ่ไทยได้ อย่างไรก็ตามผมอยากให้เข้าใจว่า แพนด้าที่เราได้มา ไม่ใช่เพื่อผลิตผลเป็นที่ระลึก ชนิดที่ว่าคลอดที่ไทยต้องเป็นไทย เราต้องส่งคืนเจ้าของคือประเทศจีน ส่วนจะให้อยู่นานกว่า2ปีหรือไม่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้องว่าจะสามารถเจรจากับทางจีนได้หรือไม่”หน.ประเสริฐศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ยังได้กล่าวต่ออีกว่า แพนด้าน้อยหากอายุประมาณ 1 เดือน ก็จะโตเท่าตุ๊กตาหมีแพนด้าตัวเล็กๆ ใครที่บอกว่ารอสักพักค่อยมาดู อาจจะไม่ได้เห็นลูกแพนด้าตอนเป็นเด็ก เพราะว่าแพนด้าโตไวมาก
ทีมแพทย์ดูแลใกล้ชิด
หวังลูกแพนด้า ทำท่องเที่ยวเชียงใหม่บูม!

ด้านเรื่องที่หลายฝ่ายคาดหวังให้แพนด้าน้อยเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเรื่องการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่นั้น หัวหน้าโครงการวิจัยและส่วนจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยกล่าวว่าขณะนี้ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ได้สร้างโดมหิมะไว้รอบรับโดยจะ เปิดตัวครั้งแรกมิ.ย.นี้เพื่อให้ ช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย และแพนด้าน้อยให้มีโอกาสได้สัมผัสหิมะใน บรรยากาศของกำแพงเมืองจีน จะเป็นเครื่องที่ใช้ทำหิมะ เลียนแบบธรรมชาติที่สุด

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้สัมผัสกับบรรยากาศหิมะตกเมืองจีนก็เหมือนกับไป เที่ยวเมืองจีนบนกำแพงเมืองจีนที่ขาวโพนไปด้วยหิมะ ที่สำคัญการถ่ายภาพออกมาก็เหมือนกันไปเที่ยวที่เมืองจีนมา โดยโดมหิมะนี้มีมูลค่าถึง 60 กว่าล้านบาท

ส่วนทาง ธนภัทร พงษ์ภมร ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยถึงกิจกรรมหลังหลินฮุ่ยตกลูกแพนด้าตัวแรกในประเทศไทยว่า จะมีการเฉลิมฉลอง การขึ้นป้ายแสดงความยินดี และเชิญชวนประชาชนส่งการ์ดอวยพร ทั้งนี้ ระยะแรกจะเปิดให้ดูแพนด้าน้อยจากโทรทัศน์วงจรปิด จากนั้นประมาณ 3 เดือนจะได้ดูตัวจริง

ด้านของ เฉลิมศักดิ์ สุระนันท์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์ โปรโมทการท่องเที่ยว และการจัดทำมาร์เก็ตติ้ง โปรโมชั่น โดยเป็นแผนเฉพาะกิจที่นอกจากจะประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาชมความน่ารักของแพนด้าน้อยแล้ว จะต้องมีการส่งเสริมการตลาดที่เพิ่มเติมนอกจากนี้อีกด้วย
 แพนด้ากับต้นไผ่อาหารโปรด
“เราจะใช้แพนด้าน้อยเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การจะจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่เหมาะสม และได้รับอนุญาตจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่งได้รับสิทธิในการเลี้ยงดูแพนด้าและความเห็นจากทางการจีนอีกด้วย”ผอ.ททท.สำนักงานเชียงใหม่กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีของแพนด้าน้อยนี้จะช่วยกระตุ้นให้การท่องเที่ยวเชียงใหม่กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งและเชื่อว่าภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2552 จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% จากเดิมปี 2551 ที่ตลอดทั้งปีมีนักท่องเที่ยวจำนวน 5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 38,000 ล้านบาท

ทางด้าน ทรงวิทย์ อิทธิพัฒนกุล อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่กล่าว แพนด้าน้อยจะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศได้มากขึ้น ทั้งในช่วงโลว์ซีซั่นนี้ และโดยเฉพาะช่วงปิดภาคเรียน ต.ค.นี้ เนื่องจากที่ผ่านมาลูกค้าหลักของสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นกลุ่มครอบครัวซึ่งกว่า 90% เป็นคนไทย และ 10% เป็นต่างชาติ

“หากสวนสัตว์เชียงใหม่ผนึกจุดขายอควาเรียมใหม่ และสมาชิกหมีแพนด้าใหม่เพื่อทำการตลาดเจาะทั้งคนไทยและต่างชาติ เชื่อว่าจะสามารถดึงการท่องเที่ยวที่ชะลออยู่ให้พอจะคึกคักกลับมาได้อีกครั้งอย่างแน่นอน” นายทรงวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

เห็นคนไทยใส่ใจต่อแพนด้าน้อยแล้วก็เป็นปลื้มยิ่งนัก อย่างไรเสียใส่ใจต่อแพนด้าน้อยแล้วก็อย่าลืมใส่ใจต่อสัตว์อื่นๆอีกหลายชีวิตที่อาศัยอยู่ภายในสวนสัตว์ด้วยเช่นกัน.

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมแพนด้า สวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00-17.00น. อัตราค่าเข้าชมแบ่งเป็น คนไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท และชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท โดยรายได้จะนำเข้ากองทุนร่วมวิจัยหมีแพนด้าไทย-จีน
กำลังโหลดความคิดเห็น