xs
xsm
sm
md
lg

เหตุการณ์ “4 มิถุนายน” ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2532 ชาวจีนนับแสนล้อมรูปจำลองรูปปั้นเทพีแห่งเสรีภาพในนิวยอร์ก(กลาง) สูง 10 เมตร  ขณะนั้นฝูงชาปักหลักเรียกร้องประชาธิปไตยแม้รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในกรุงปักกิ่งแล้ว
เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์--ภาพหลอนเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยนำโดยกลุ่มนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินลอยเด่นขึ้นมาในห้วงความคิดกลุ่มผู้นำจีนคอมมิวนิสต์อีกครั้งในสัปดาห์นี้ อันเป็นครั้งที่กลุ่มผู้นำจีนระวังอย่างหนัก ด้วยเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ฯ

กลุ่มผู้นำจีนฉลองวันครบรอบเหตุการณ์นี้ด้วยความเงียบอีกเช่นเคย พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนจัตุรัสเทียนอันเหมิน ระวังมิให้มีกิจกรรมที่รัฐบาลไม่พึงประสงค์ ที่อาจมาสะกิดบาดแผลทางอารมณ์ของผู้นำจีน

แม้ไม่อยากจำแต่ผู้นำจีนก็ไม่อาจลืมว่าวันพฤหัสฯที่ 4 มิถุนายนนี้ เป็นวันครบรอบ 20 ปีที่ผู้นำจีนสั่งการกองกำลังปลดแอกประชาชนแห่งชาติจีน เข้าบดขยี้กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไม่ปราณีปราศรัยจนเลือดนองจัตุรัสประวัติศาสตร์ของประเทศ ปลิดชีวิตหลายร้อยคน บางกลุ่มประมาณว่าน่าจะเป็นพัน

ขณะที่กลุ่มที่เจ็บปวดและจดจำเหตุการณ์ดังกล่าว อย่าง ฉี จื่อหย่ง วัย 53 ปี ผู้สูญเสียขาไปข้างหนึ่งด้วยลูกปืนของทหารที่ยิงใส่กลุ่มประท้วง บอกว่า “ประชาชนจดจำเรื่องนี้ เพราะต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์รับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่พวกเขาก่อขึ้น”
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2532 หวัง ตัน (กลาง) ผู้นำนักศึกษาที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกับรัฐบาล และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กำลังแถลงการณ์แก่กลุ่มผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่ง
กลุ่มรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนแต่งชุดขาว ซึ่งเป็นสีไว้ทุกข์ตามประเพณีจีน เพื่อรำลึกดวงวิญญาณของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่สังเวยชีวิตท่ามกลางห่ากระสุน ใต้ล้อเหล็กของขบวนรถถัง

โศกนาฏกรรมดังกล่าวอุบัติขึ้นในปี 2532 (1989) อันเป็นปีหายนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ขณะที่ผู้นำคอมมิวนิสต์จีนต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ลุกขึ้นท้าทายอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลแห่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออกโงนเงนและล่มสลายไปในที่สุด กำแพงเบอร์ลินถูกทลายราบในเดือนพฤศจิกายน 1989 ขณะที่สถานการณ์ในแดนคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตก็ร่อแร่เช่นกันและล่มสลายในเดือนธันวาคม 1991

การเคลื่อนไหวที่เทียนอันเหมินเริ่มขึ้นกลางเดือนเมษายน จากการเดินขบวนแสดงความอาลัยแด่การจากไปของผู้นำนักปฏิรูป หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ บานปลายเป็นการเดินขบวนเรียกร้องปฏิรูปการเมืองและปราบปรามคอรัปชั่นนำโดยกลุ่มนักศึกษา

กลุ่มนักศึกษายึดครองจัตุรัสเทียนอันเหมิน “ทุกตารางนิ้วของบริเวณจัตุรัสเต็มไปด้วยป้ายเรียกร้องการปฏิรูป มันเป็นการเดินขบวนครั้งแรกในประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน” หวัง ตัน หนึ่งในผู้นำกลุ่มนักศึกษา รำลึกเหตุการณ์

เสียงกู่ร้องประชาธิปไตย และเสรีภาพดังก้องจัตุรัส ที่เป็นสัญลักษณ์อำนาจการเมืองของประเทศจีน ผู้คนหลายพันอดอาหารประท้วง ผู้นำนักศึกษา อู๋เอ่อร์ ไคซี ได้ท้ายทายนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง ระหว่างการประชุมที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

ขณะนั้นกลุ่มสื่อทั่วโลกกำลังหลั่งไหลมายังกรุงปักกิ่งเพื่อเกาะติดรายงานข่าวการเยือนระหว่างประเทศครั้งประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีมิกฮาอิล กอร์บาชอฟ จากแดนคอมมิวนิสต์ของพญาหมีขาวมาเยือนจีน และกลุ่มสื่อเหล่านี้ก็ได้ข่าวใหญ่ที่สำคัญมากยิ่งกว่า
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม จ้าว จื่อหยางเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน(กลาง) กำลังพูดกับกลุ่มนักศึกษาที่กำลังอดอาหารประท้วงในตอนเช้าที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ขณะนั้นจ้าว จื่อหยางถึงกับหลั่งน้ำตาพลางบอกให้นักศึกษากลับไป จ้าวถูกปลดออกจากตำแหน่งโทษฐานแสดงความเห็นใจนักศึกษา ถูกกักบริเวณในบ้านพักเกือบ 16 ปี จนเสียชีวิตในปี 2548
ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน กลุ่มประท้วงอยู่ระหว่างลิ่มอำนาจกลุ่มผู้นำหัวรั้นนำโดนนายกฯหลี่ เผิง และกลุ่มที่ยึดถือการปฏิบัติสายกลางนำโดย จ้าว จื่อหยาง เลขาธิการพรรคฯ

ในที่สุด กลุ่มผู้นำหัวรั้นก็ชนะด้วยการสนับสนุนของผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิง จ้าว จื่อหยาง ถูกปลดออกจากตำแหน่ง นับจากนั้นจ้าวก็ถูกกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลาถึง 16 ปี กระทั่งวันสิ้นลมหายใจในปี 2548

กลุ่มนักศึกษาประกาศ “การกบฏต่อปฏิปักษ์ปฏิวัติ” ขณะที่กลุ่มทหารเคลื่อนสู่เมืองหลวง บดขยี้ความฝันของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเปิดศึกรุนแรงในวันที่ 3 และ 4 มิถุนายน จำนวนผู้เสียชีวิตยังคงเป็นปริศนามาถึงวันนี้ ตัวเลขรัฐบาลระบุยอดผู้เสียชีวิต 241 คนโดยเป็นนักศึกษา 36 คน ขณะที่กลุ่มที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลระบุตัวเลขถึงหลักพัน

จากนั้นคลื่นประณามจากทั่วโลกก็โถมซัดเข้าใส่ผู้นำจีน และจีนก็ถูกมองและปฏิบัติประหนึ่งพวกที่น่าเกียจเป็นเวลาหลายปี บรรดารัฐบาลในตะวันตกต่างเสนอให้ที่ลี้ภัยแก่กลุ่มนักศึกษา
ภาพถ่ายวันที่ 5 มิถุนายน เพียง 1 วันหลังจากเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วง ชายหนุ่มคนหนึ่งกระโดดเข้าขวางรถถังที่วิ่งดาหน้าอยู่บนถนนเทียนอัน ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง แล้วยังปีนขึ้นไปบนหน้ารถถังเพื่อขอร้องพลขับ แต่ผู้เห็นเหตุการณ์พากันไปลากเขาลงมา
ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป ท่าทีต่างๆก็เปลี่ยนไป ประชาคมโลกหันมาต้อนรับจีน ผู้นำคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่งยังคงกุมอำนาจ และผลักดันประเทศสู่ชาติอำนาจเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลก

แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือจุดยืนของผู้นำจีนที่มองว่าการประท้วงคุกคามการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ และจะต้องปราบให้ราบเพื่อรักษาการปฏิรูปเศรษฐกิจ

“ความจริงที่ปรากฏพิสูจน์แล้วว่าเส้นทางสังคมนิยมด้วยบุคลิกจีนที่เราได้ยึดถือนั้นเป็นรากฐานผลประโยชน์ประชาชน” หม่า เจาซี่ว์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในเดือนพฤษภาคม

ขณะที่อดีตที่ปรึกษาของจ้าว จื่อหยาง เป่า ถง ผู้ถูกจำคุก 7 ปีหลังเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน ชี้ว่าประชาคมโลกล้มเหลวในการกดดันจีนให้เปิดกว้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมิน เนื่องจากอิทธิพลบนเวทีโลกของจีนที่ขยายตัวมากขึ้น

ลำดับเหตุการณ์ประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมษายน-มิถุนายน 2532
กำลังโหลดความคิดเห็น