เอเชียน วอลล์ สตรีต เจอร์นัล – หนังสือบันทึกความทรงจำของอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งกระเด็นจากตำแหน่ง เพราะไม่ยอมร่วมมือเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2532 เสมือนบานหน้าต่าง ที่เปิดกว้าง เผยภาพการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของชนชั้นผู้นำแดนมังกร ซึ่งแทบไม่เคยมีการแพร่งพรายให้โลกภายนอกรับรู้
หนังสือน่าจะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนแสบร้อนไปตาม ๆ กัน เพราะออกวางแผงในช่วงใกล้ครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมินพอดี
สำนักพิมพ์ไซมอนด์ แอนด์ ชูส์เตอร์ จะเปิดตัวหนังสือเรื่อง “Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang” (นักโทษของแผ่นดิน : บันทึกลับหัวหน้าจ้าว จื่อหยาง ) อย่างเป็นทางการที่อเมริกาในเดือนนี้
เนื้อหาในหนังสือมาจากการบันทึกเทป รวมเวลานาน 30 ชั่วโมงของนายจ้าว ก่อนจะอำลาจากโลกนี้ไปเมื่อเดือนมกราคม ปี 2548 โดยบันทึกเสียงลงในตลับเทปเพลง ที่พอจะมีอยู่ระหว่างถูกกักบริเวณภายในบ้านท่ามกลางการควบคุมอย่างเข้มงวด จากนั้น ได้แจกจ่ายให้เพื่อนฝูงช่วยเก็บรักษา และเพิ่งมีการรวบรวมเทป ถอดข้อความ และแปล เพื่อพิมพ์เป็นหนังสือเมื่อไม่นาน
นับเป็นหนังสือ ที่มีการพูดอย่างเปิดอกครั้งแรกของบุคคล ซึ่งเคยเป็นผู้นำจีน เกี่ยวกับประสบการณ์ เมื่ออยู่ในศูนย์กลางของอำนาจ
นายจ้าวดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงที่นักศึกษาและประชาชนรวมตัวประท้วงกลางจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคม พ.ศ.2532 ในหนังสือเล่มนี้ นายจ้าวได้โต้แย้งเรื่องที่เขาคัดค้านการประกาศกฎอัยการศึก และการใช้กำลังทหารเต็มอัตราเข้าปราบผู้ประท้วง ที่ชุมนุมกันอย่างสงบในคืนวันที่ 3 มิถุนายน เรื่อยมาจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 4 มิถุนายน
“ผมบอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าอะไรก็ตาม ผมจะไม่ยอมกลายเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งระดมกำลังทหาร มาบดขยี้นักศึกษา” นายจ้าวระบุในหนังสือ
เขาเปิดเผยว่าการตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกลอบทำกันในวงประชุมเล็ก ๆ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่บ้านเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุด และประธานคณะกรรมาธิการกลางด้านการทหาร
การมอบหมายอำนาจให้ใช้กำลังทหารมิได้ผ่านการลงมติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนแต่อย่างใด แถมท่านผู้นำเติ้งยังขอให้ปิดเรื่องการประชุมเป็นความลับอีกด้วย !
หนังสือบันทึกความทรงจำเปิดเรื่องด้วยการย้อนรำลึกของนายจ้าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน โดยอาศัยจากสมุดบันทึก ที่เขาเขียนขึ้นเมื่อปี 2535
“ ผมกำลังนั่งอยู่ที่ลานบ้านกับครอบครัว ก็ได้ยินเสียงยิงปืนดังสนั่น โศกนาฏกรรมสะเทือนใจโลกมิได้ถูกแก้ไขปัดเป่า และกำลังอุบัติขึ้นในที่สุด” นายจ้าวพูดถึงเหตุการณ์ในคืนวันที่ 3 มิถุนายน
หนังสือระบุว่า ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ ไม่รอช้า ลดบทบาทความสำคัญของนายจ้าว ภายหลังเหตุนองเลือดผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ โดยปลดออกจากตำแหน่ง และสั่งกักบริเวนภายในบ้านพัก นายจ้าวตกเป็นนักโทษจวบจนสิ้นลมหายใจ
นักโทษของแผ่นดินผู้อาภัพยังระบุว่า นายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง คือตัวการใหญ่ในการให้ร้ายเขา และมี “เจตนาร้ายแอบแฝง” ที่จะใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม
จนถึงบัดนี้ รัฐบาลจีนยังคงปกป้องวิธีการสลายการชุมนุมของตน แต่ก็มิได้แจ้งยอดผู้เสียชีวิตอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเชื่อกันว่า มีคนตายหลายร้อยคน
ในคำนำของหนังสือ อาดี้ อิกเนเชียส (Adi Ignatius) บรรณาธิการร่วมในการจัดพิมพ์ มองว่า บางที จุดประสงค์ของการบันทึกเรื่องราว นายจ้าวอาจต้องการเสนอข้อโต้แย้ง เพื่อให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้พิจารณา หากมีการย้อนกลับไปดูเรื่องของเขา และตัดสินใจว่าเขาควรได้รับการกู้เกียรติยศชื่อเสียงกลับคืนมา เพื่ออยู่ในความทรงจำของพรรคและของชาติหรือไม่?
จากเนื้อหาของหนังสือ ยังแสดงให้เห็นว่า แม้มีความเป็นนักการเมืองหัวเก่า เมื่อเขาส่งเสริมนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจจีนในกลางทศวรรษ 1980 แต่ในบั้นปลายชีวิต นายจ้าวก็มีความเห็นว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่นับเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไว้
หนังสือจบลงด้วยการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองในอนาคตของจีนว่า “อันที่จริงแล้ว ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของตะวันตกนี่แหละ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่ามีพลังมากที่สุด ดูเหมือนเป็นระบบดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้” นายจ้าวระบุ