xs
xsm
sm
md
lg

แนะนำ “ตัวละครเอก” แห่งโศกนาฏกรรมเทียนอันเหมิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับตั้งแต่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ เหมา เจ๋อตง สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในปี ค.ศ.1949 ได้มีการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินอยู่หลายครั้ง และครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง

กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างจากผู้นำจีนได้ลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็จบลงด้วยการนองเลือดในวันที่ 4 มิถุนายนเมื่อรัฐบาลปักกิ่งใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ประท้วง มีทั้งผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ แต่จนถึงวันนี้ในหน้าประวัติศาสตร์ดาวแดงก็ยังไม่มีการระบุจำนวนผู้เสียชีวิตที่แน่ชัด

ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในโศกนาฏกรรมครั้งนั้นมีด้วยกันหลายคนทั้งในวงการการเมือง วิญญูชน และศิลปิน

นักศึกษา
แกนนำนักศึกษาจากซ้ายไปขวา ไฉ หลิง (ซ้าย) อู๋เอ่อร์ ไคซี (กลาง) และ หวังตัน
หวัง ตัน เกิดในปี ค.ศ.1969 ในการชุมนุมประท้วงที่เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 หวังซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชั้นหัวกะทิอย่าง มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กลายเป็นหนึ่งในแกนนำผู้ประท้วง

หลังจากทางการใช้กำลังกวาดล้างผู้ชุมนุม ชื่อของหวังกลายเป็น 1 ใน 21 ชื่อที่ทางการต้องการตัวมากที่สุด จนมาในเดือนกรกฎาคมปีนั้นเองเขาก็ถูกจับกุม ในปี 1991 เขาถูกตัดสินจำคุก 4 ปี

แต่หลังจากถูกปล่อยตัวออกมาในปี 1993 เขาก็ยังคงเขียนบทความโจมตีรัฐบาล นำมาซึ่งการถูกจับกุมอีกครั้งในปี 1995 ด้วยข้อหาคิดการกบฎล้มล้างระบอบการปกครอง ครั้งนี้หวังถูกตัดสินจำคุกนานถึง 11 ปี แต่ก็ถูกปล่อยตัวและลี้ภัยไปอยู่สหรัฐฯ ในปี 1998 ที่บ้านใหม่เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กระทั่งจบระดับปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกในปี 2001 ก่อนจะจบปริญญาเอกในปี 2008

ถึงจะไม่ได้เหยียบประเทศจีนอีก แต่กระนั้นเขาก็ยังคงเดินหน้ารณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศจีนอยู่ โดยปัจจุบันเขาเป็นประธานสมาคมปฏิรูปรัฐธรรมนูญจีน

- ไฉ หลิง เกิด ค.ศ.1966 หลังจากจบการศึกษาคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่งในปี 1987 เธอก็เรียนต่อในระดับปริญญาโท คณะจิตวิทยาเด็กที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง นอร์มอล

แม้จะเป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่เธอก็เป็นถึง “ผู้บัญชาการใหญ่” ในการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และมีรายชื่อติด 1 ใน 21 นักศึกษาที่รัฐบาลต้องการตัวมากที่สุด

ในปี 1990 เธอหลบหนีออกนอกประเทศไปยังฝรั่งเศสโดยผ่านทางฮ่องกง และข้ามไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ คว้าปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันในปี 1993 และคว้าปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1996 ปัจจุบันไฉก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์และนั่งเก้าอี้ประธานบริษัทมาจนถึงทุกวันนี้

- อู๋เอ่อร์ ไคซี เกิด ค.ศ.1968 เป็นแกนนำนักศึกษาชนชาติอุยกูร์ ชื่อเสียงของเขาโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากเขา ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นอร์มอล อาจหาญลุกขึ้นตำหนินายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง ระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่รัฐกับแกนนำนักศึกษา ซึ่งถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมื่อวันที่ 18 พ.ค.1989

หลังจากรัฐบาลกวาดล้างผู้ชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. เขาก็บินไปยังฝรั่งเศส และอพยพมาอยู่ที่ไต้หวันในเวลาต่อมา

นักการเมือง
ผู้นำจีนซ้ายไปขวา เติ้ง เสี่ยวผิง (ซ้าย) จ้าว จื่อหยาง (กลาง) และ หลี่ เผิง (ขวา)
- เติ้ง เสี่ยวผิง (ค.ศ.1904-1997) ผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลที่สุด และนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางแห่งชาติ ทั้งยังเป็นบิดาแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจ และเป็นผู้สั่งให้กองทัพจีนยิงผู้ประท้วง หลังจากเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลนานถึง 6 สัปดาห์จนทำให้รัฐบาลเป็นอัมพาต

- จ้าว จื่อหยาง (ค.ศ.1919-2005) ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงที่นักศึกษาและประชาชนรวมตัวประท้วงกลางจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ค.ศ.1989 จ้าวสนับสนุนให้รัฐบาลเจรจากับผู้ประท้วง โดยในวันที่ 19 พ.ค.1989 เขาได้เดินทางไปพูดกับนักศึกษาซึ่งกำลังอดอาหารประท้วงอยู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และถึงกับหลั่งน้ำตาเตือนให้ผู้ประท้วงออกไปจากที่นั่น นี่เป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายของเขา

จ้าวคัดค้านการประกาศกฎอัยการศึกและการใช้กำลังทหารเต็มอัตราเข้าปราบผู้ประท้วง ที่ชุมนุมกันอย่างสงบในคืนวันที่ 3 มิถุนายนเรื่อยมาจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 4 มิถุนายน การที่เขาแสดงความเห็นใจต่อนักศึกษาส่งผลให้หลังจากนั้นไม่นานจ้าวถูกปลดจากตำแหน่งและถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

- หลี่ เผิง เกิดใน ค.ศ.1928 นอกจากหลี่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1988 แล้ว เขายังควบตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ และเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองของจีน ในวันที่ 19 พ.ค.หลี่ประกาศกฎอัยการศึกเพื่อกวาดล้างกลุ่มผู้ชุมนุม

ปัญญาชน
ปัญญาชนและศิลปินซ้ายไปขวา ฟาง ลี่จือ (ซ้าย) หลิว เสี่ยวปอ (รูปอยู่ข้างหลังอดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็ก วาคลาฟ ฮาเวล) และนักร้องเพลงร็อก ชุย เจี้ยน
- ฟาง ลี่จือ เกิด ค.ศ.1936 แม้ว่านักดาราฟิสิกส์ชื่อดังท่านนี้จะไม่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวที่เทียนอันเหมินโดยตรง แต่ความคิดของเขาก็เป็นแรงบันดาลใจของการชุมนุม ในปี 1987 เขาถูกถอดออกจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ หลังจากเกิดเหตุการณ์กวาดล้างที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 ไม่นานทางการก็ออกหมายจับฟาง ทำให้เขาต้องหนีเข้าไปยังสถานทูตสหรัฐฯ และในปี 1991 เขาก็ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยทางการเมืองไปยังสหรัฐฯ

- หลิว เสี่ยวปอ เกิด ค.ศ.1955 เขาเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในกลุ่มคนหนุ่มสาวจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และเข้าร่วมกับนักศึกษาชุมนุมประท้วงที่เทียนอันเหมิน ในคืนวันที่ 3 มิถุนายนจนล่วงเข้าสู่วันที่ 4 มิ.ย. ขณะที่ทหารกำลังเคลื่อนพลมาเพื่อกวาดล้างผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เขาพยายามเจรจาให้ทหารถอนกำลัง หลังเหตุปราบปราม เขาถูกจับและใช้เวลา 1 ปีครึ่งอยู่ในที่จองจำโดยไม่เคยถูกตัดสินพิพากษาอย่างเป็นทางการ

ศิลปิน

- ชุย เจี้ยน นักร้องเพลงร็อก (เกิด 1961) ชุยเจี้ยนซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “บิดาของเพลงร็อกจีน” ปรากฏตัวหลายครั้งที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 และผลงานเพลงที่ชื่อว่า “ไม่มีอะไรสักอย่าง” 《一无所有》 ที่ชุยเจี้ยนแต่งขึ้นในปี 1986 ถูกเปิดบ่อยครั้งในการชุมนุมประท้วงที่เทียนอันเหมิน จนกลายเป็นเพลงสัญลักษณ์การต่อสู้ของนักศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ

วีรบุรุษนิรนาม
วีรบุรุษนิรนาม ผู้กล้าขวางรถถัง
วันที่ 5 มิถุนายน เพียง 1 วันหลังจากเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วง ชายหนุ่มคนหนึ่งกระโดดเข้าขวางรถถังที่วิ่งดาหน้าอยู่บนถนนเทียนอัน ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง แล้วยังปีนขึ้นไปบนหน้ารถถังเพื่อขอร้องพลขับ แต่ผู้เห็นเหตุการณ์พากันไปลากเขาลงมา

ภาพ “วีรบุรุษรถถัง” กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งไปทั่วโลกในทันที และเขายังกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ดาวแดงในฐานะสัญลักษณ์ของผู้ประท้วงไร้อาวุธและใฝ่สันติ ที่กล้าเผชิญหน้ากับการปราบปรามของทหาร ชื่อของเขายังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้

ลำดับเหตุการณ์ประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมษายน-มิถุนายน 2532
กำลังโหลดความคิดเห็น