บรรดานักศึกษาจีนผู้มีอุดมคติสังคมประชาธิปไตยชูธงนำการประท้วงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน ที่มีผู้เข้าร่วมกว่าล้านคน หลังจากการเสียชีวิตของอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์นักปฏิรูป “หู เย่าปัง” ที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือนเมษายนปี 2532 (1989) และจบลงด้วยการปราบปรามกลุ่มประท้วงอย่างนองเลือดด้วยกำลังทหารในวันที่ 3 และ 4 มิถุนายน ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย หรืออาจเป็นพันชีวิต
วันที่ 4 มิถุนายนนี้ เป็นวันครบรอบ 20 ปี รำลึกเหตุการณ์ประท้วงฯที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์จึงได้ลำดับเหตุการณ์การประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กินเวลา 6 สัปดาห์ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ปี 2532 ดังต่อไปนี้
เมษายน
วันที่ 15: หู เย่าปัง ผู้นำนักปฏิรูปแห่งพรรคคอมมิวนิสต์เสียชีวิต หูได้ชื่อเป็นนักปฏิรูปถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯในปี 2529 เนื่องจากท่าทีที่อ่อนในการโต้ตอบการประท้วงของกลุ่มนักศึกษาซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในเดือนธันวาคมของปีก่อนหน้านั้น
วันที่ 17: กลุ่มนักศึกษาเริ่มเปิดฉากประท้วงที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน จัดพิธีวางพวงมาลาไว้อาลัยแด่หู เย่าปัง พร้อมติดป้ายคำขวัญต่างๆเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
วันที่ 18: กลุ่มนักศึกษายื่นข้อเรียกร้องจากรัฐบาลจีน โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญคืออิสระในการแสดงความคิดเห็นและการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
วันที่ 22: วันสุดท้ายของพิธีฝังศพของหู เย่าปัง นักศึกษาและประชาชนกว่า 2 แสนคนมารวมตัวกันที่มหาศาลาประชาคมบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน
วันที่ 25: เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จสูงสุดในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้นกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงมีจุดประสงค์ล้มล้างรัฐบาล ถ้อยแถลงดังกล่าวถูกตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน(พีเพิลเดลี่) ในวันต่อมา และสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง
วันที่ 27: กลุ่มประท้วงนำโดยนักศึกษาจำนวนมหาศาลเดินทางเข้าสู่กรุงปักกิ่ง การประท้วงอย่างสันติขยายวงกว้างไปทุกพื้นที่ของเมืองหลวง
พฤษภาคม
วันที่ 4: วันครบรอบ 70 ปี การประท้วง “4 พฤษภาคม” ของกลุ่มผู้รักชาติในปี 2462 (1919) โหมการประท้วงขยายวงกว้างใน 50 กว่าตำบลของกรุงปักกิ่ง ขณะที่นายจ้าว จื่อหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ออกมาเป็นผู้เจรจากับกลุ่มนักศึกษา
วันที่ 13: มหาวิทยาลัย 20 แห่ง ได้ยกเลิกชั้นเรียน ขณะที่นักศึกษารวมตัวกันประท้วงที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน
วันที่ 15: การเดินทางเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีมิกฮาอิล กอร์บาชอฟแห่งสหภาพโซเวียตเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศ หยุดชะงัก
วันที่ 17: กลุ่มนักศึกษา กลุ่มแรงงาน และคนจากทุกภาคของสังคมราว 1.2 ล้านคนร่วมประท้วงในกรุงปักกิ่ง
วันที่ 18: การเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิงกับแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงเริ่มเปิดฉากขึ้นในวันนี้
วันที่ 19: จ้าว จื่อหยาง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินทางถึงบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน และขอร้องทั้งน้ำตาให้ผู้ชุมนุมประท้วงที่ตกอยู่ในอารมณ์รุ่มร้อนออกจากพื้นที่ด้วยท่าที่อ่อนนุ่ม การปรากฎตัวครั้งนี้นับเป็นการปรากฏต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายของเขา
วันที่ 20: รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศกฎอัยการศึก กองกำลังทหารจีนถูกเรียกมายังจัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อเข้าปราบปรามผู้ประท้วง
วันที่ 26: จ้าว จื่อหยางถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และถูกทางการกักตัวขังไว้ในบ้านพักในวันที่ 28 พฤษภาคม
วันที่ 29: กลุ่มนักศึกษานำรูปปั้นจำลองอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพของสหรัฐฯ มาวางตรงหน้าของภาพท่านประธานเหมา เจ๋อตง ผู้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ขณะที่นักศึกษาเริ่มเหน็ดเหนื่อยและมีจำนวนน้อยลง
มิถุนายน
วันที่ 1 : รัฐบาลจีนออกรายงานแผนต่อสู้การปฏิวัติจลาจลเป็นครั้งแรก
วันที่ 2 : พรรคคอมมิวนิสต์สั่งการให้กองกำลังปลดแอกประชาชนแห่งชาติจีนพร้อมอาวุธเข้าสลายการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
วันที่ 3: กลุ่มนักศึกษาและประชาชนร่วมกันต้านรถถังของทหารบริเวณทางแยกสำคัญของกรุงปักกิ่ง โดยในค่ำคืนดังกล่าว มีประกาศผ่านโทรโข่งเรียกร้องให้ประชาชนเปิดถนนหลายสาย ส่วนนักศึกษาได้จัดเตรียมอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง
วันที่ 3-4 : รัฐบาลจีนส่งทหารติดอาวุธและรถถังเข้าระดมยิงนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตหลายร้อย หรืออาจเป็นพันคน
วันที่ 5-20 : สื่อต่างชาติทั่วโลกประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลจีน
วันที่ 24: นายเจียง เจ๋อหมิน (ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน) ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แทนนายจ้าว จื่อหยางที่ถูกปลดจากตำแหน่งไปก่อนหน้านั้น