เอเจนซี--ในสัปดาห์นี้ จีนได้เริ่มวางกำลังเจ้าหน้าที่คุมเข้มบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งจะดำเนินไปถึงวันที่ 4 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาอ่อนไหวสำหรับรัฐบาลจีน เนื่องจากเป็นปีครบรอบ 20 ปี ของเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มนักศึกษาและผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างนองเลือดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2532 (1989) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตนับร้อย หรืออาจเป็นพัน
จีนได้เริ่มคุมเข้มตรวจตราบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินในวันพุธ(15 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปี แห่งการเสียชีวิตของผู้นำคอมมิวนิสต์นักปฏิรูป หู เย่าปัง
หู เย่าปัง ผู้นำระดับสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 2529 เนื่องจากท่าทีที่อ่อนในการโต้ตอบการประท้วงของกลุ่มนักศึกษาซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวในเดือนธันวาคมปีก่อนหน้านั้น
เมื่อหู เย่าปัง เสียชีวิตในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2532 กลุ่มนักศึกษาก็ได้ใช้โอกาสนี้ เรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย การประท้วงขยายวงใหญ่ขึ้นๆขณะที่กลุ่มผู้นำไม่อาจบรรลุข้อตกลงเป็นเอกฉันท์ได้ว่าจะจัดการกับกลุ่มประท้วงอย่างไร
“หู เย่าปังได้กลายเป็นสัญลักษณ์การปฏิรูปการเมือง ที่หยุดชะงักไปตั้งแต่เขาถูกปลดออกจากตำแหน่ง” Jean-Pierre Cabestan นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ชี้
กลุ่มนักศึกษา 700 คน เริ่มเปิดฉากการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 17 เมษายน วันต่อมา จากบริเวณถนนจงหนันไห่ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ถึงจัตุรัสเทียนอันเหมิน ก็เต็มไปด้วยฝูงชนมากถึง 1,500 คน แห่กันมาเรียกร้องการกอบกู้สถานภาพทางการเมืองของหู และในวันสุดท้ายของพิธีศพหู เย่าปังวันที่ 21 เมษายน มหาวิทยาลัย 20 แห่ง ได้ยกเลิกชั้นเรียน นักศึกษา ราว 200,000 คน ได้มารวมตัวกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เรียกร้องการเจรจากับผู้นำ
ความขัดแย้งร้อนกระฉูดในวันที่ 25 เมษายน เมื่อหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน หรือพีเพิลเดลี่ เผยแพร่บทบรรณาธิการ กล่าวหานักศึกษามีแผนโค่นล้มพรรคคอมมิวนิสต์
จากนั้น กลุ่มประท้วงจากภาคสังคมต่างๆ รวมทั้งคนงาน ก็ทยอยเข้าร่วมขบวนประท้วงในปักกิ่ง โดยมีกลุ่มนักศึกษาเป็นทัพหน้า ชูภาพหู เย่าปัง สถานการณ์เริ่มเดือดในเดือนพฤษภาคม เมื่อกลุ่มนักศึกษาอดอาหารประท้วง ขณะที่บรรดาสื่อต่างชาติหลั่งไหลมายังกรุงปักกิ่ง
กระทั่ง ต้นเดือนมิถุนายน ทหารก็ยาตราทัพเข้าสู่จัตุรัสเทียนอันเหมิน จนเกิดการปะทะนองเลือด มีผู้เสียชีวิตหลายร้อย หรืออาจเป็นพัน
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ชี้ว่าหู เย่าปัง ได้รับความนิยมมาก เพราะเขาพยายามเรียกร้องกอบกู้สถานภาพการเมืองให้กับผู้นำที่ตกเป็นเหยื่อการปฏิวัติวัฒนธรรม (2509-2519) และยอมรับความผิดพลาดในการปกครองทิเบต ซึ่งหูบอกว่า ทิเบตต้องมีอำนาจปกครองตัวเองที่แท้จริง
20 ปี หลังการเสียชีวิต เกียรติภูมิอย่างเป็นทางการของหู เย่าปัง ก็ยังคลุมเครือ โดยเขาไม่ใช่บุคคลต้องห้ามอย่างสิ้นเชิง ประชาชนยังสามารถพูดถึงเขา แต่ขณะเดียวกัน สถานภาพของเขาก็ไม่ชัดเจน Cabestan ชี้
ในช่วงครบรอบวันเกิดปีที่ 90 ของเขาเมื่อปี 2548 ก็มีความพยายามที่จะกอบกู้ฐานะของเขา แต่ก็ไม่เป็นผล และหนังสือประวัติชีวิตของหู เย่าปัง ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม ก็เขียนถึงชีวิตของเขาถึงช่วงปี 2525 เท่านั้น
“ทางการจีนประกาศเตือน ห้ามมาทำพิธีรำลึกใดๆ” นาย Jean-Philippe Beja นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยเรื่องจีนร่วมสมัย ในฮ่องกง เผยในวันครบรอบ 20 ปี การจากไปของหู เย่าปัง
ล่าสุด รายงานในวันพุธ(15 เม.ษ.) เผยว่า นาย ฉี จื้อหย่ง ผู้มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ได้ถูกจับและกักตัวเมื่อวันที่ 26 มี.ค. โดยฉีบอกว่า การจับกุมตัวเขานั้น เชื่อมโยงกับวาระครบรอบ 20 ปี วันเสียชีวิตของหูเย่าปัง ทั้งนี้ นายฉี สูญเสียขาไปข้างหนึ่งระหว่างที่ทหารระดมยิงผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2532