เอเอฟพี – เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแหล่งแพร่เชื้อไข้หวัดนกอีกครั้งในฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ฮ่องกง หลังจากพบซากสัตว์ปีกจำนวนมากลอยในแม่น้ำทั่วเกาะ ขณะเดียวกันตั้งข้อสังเกตทางภาคใต้ของจีนไม่มีการตรวจสอบเรื่องนี้
รายงานล่าสุดเผยว่า นกป่าจำนวนมากที่เป็นพาหะของไวรัสไข้หวัดนกได้แพร่เชื้อสู่ไก่เลี้ยงในฟาร์มแห่งหนึ่งใกล้กับชายแดนทางภาคใต้ของจีนในมณฑลกวางตุ้งเป็นเหตุให้ไก่เลี้ยงล้มตายกว่า 90,000 ตัวในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ไหนของภูมิภาคเอเชียที่นกป่ามีเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ขณะที่ระบุว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับที่ตรวจพบว่ามีการแพร่ระบาดระหว่างสัตว์ปีกในพื้นที่ภาคใต้ของจีน
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวเปิดเผยขึ้นไม่กี่วันหลังพบซากไก่ 2 ตัว ที่ตายเพราะไวรัสไข้หวัดนกลอยอยู่ในทะเลของฮ่องกง และในเดือนที่แล้วก็พบซากสัตว์ปีกนับสิบตัวถูกซัดเกยชายหาด นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
“จากการตรวจสอบหลายๆอย่าง พบว่าซากสัตว์ปีกที่ลอยมา ส่วนมากมาจากแม่น้ำไข่มุกทางใต้ของประเทศจีน” โจว อีเยี่ยว์รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะสุขฮ่องกง กล่าวเมื่อเร็วๆนี้
ด้านมาลิค แพริส นักจุลชีววิทยา และผู้เชี่ยวชาญโรคไข้หวัดนกแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง แสดงทัศนะเห็นด้วยกับโจว
แม้ว่าในปีนี้ทางการฮ่องกงได้แถลงยืนยันแล้วว่าซากสัตว์ปีก 15 ตัวที่ตรวจพบมีเชื้อไวรัสไข้หวัดนก นับตั้งแต่มีการระบาดในฟาร์มเลี้ยงไก่ในเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว แต่ทางฝั่งกวางตุ้งได้รายงานว่าไม่มีการตรวจพบการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2551
“การพบซากสัตว์ปีกเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน” และเพิ่มเติมว่าระบบการควบคุมป้องกันไข้หวัดนกในสัตว์และมนุษย์ของฮ่องกงเป็นวิธีมาตรฐานระดับสากล ปีเตอร์ คอร์ดิงเลย์ โฆษกองค์การอนามัยโลกภูมิเอเชียแปซิฟิกกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการฮ่องกงได้ตรวจพบนกกระสาพันธุ์สีเทาที่ตายเพราะไข้หวัดนกที่บริเวณเขตอนุรักษ์ธรรมชาติหมี ผู่ (ไมโป) ทำให้เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับนกป่าที่อาจเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัส
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า นกป่ายังไม่ใช่สิ่งที่จะอธิบายการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในพื้นที่ดังกล่าว
มาลิค แพริส ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้หวัดนกแสดงทัศนะ การแพร่ระบาดของไวรัสในนกป่าเป็นกรณีที่ต้องเร่งศึกษา โดยเฉพาะในฟาร์มเลี้ยงที่ต้องเข้มงวดมากที่สุด
ทั้งนี้ ไวรัสไข้หวัดนกคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้วกว่า 250 ราย นับตั้งแต่ปี 2546 นอกจากนี้ยังทำให้สัตว์ปีกล้มตายอีกหลายล้านตัว แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต่างกังวลว่าจะเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก จนนำไปสู่การแพร่ระบาดในคน ซึ่งหากเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อาจเป็นอันตรายต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก