xs
xsm
sm
md
lg

บัณฑิตตกงานพ่ายพายุเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัณฑิตมองหางานในการจัดตลาดนัดแรงงานคราวหนึ่งที่กรุงปักกิ่ง
เสี่ยวเจียเหอ ห้องเช่าซอมซ่อในย่านมหาวิทยาลัยกรุงปักกิ่งคือกระจกเงา สะท้อนปัญหาบัณฑิตตกงานในจีน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงได้เป็นอย่างดี

แทบไม่น่าเชื่อว่า บัณฑิต ซึ่งจบการศึกษาสูง มีความทะเยอทะยาน จะยอมมาอุดอู้อยู่ภายในห้องเช่า อันเย็นชื้น และมีทางเดินแคบ เหม็นอับที่นี่ ทั้งยังต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะสกปรกร่วมกับผู้เช่าอีกหลายสิบคน ทว่าบัณฑิตหลายคนก็มุ่งหน้ามา ราวกับว่า มันเป็นสถานที่หลบภัย ในยามดิ้นรนหางานทำ และรัดเข็มขัดสุดฤทธิ์ เพราะเสี่ยวเจียเหอ เก็บค่าที่พักเดือนละ 260 หยวน (38 ดอลลาร์) เท่านั้น !

“บรรยากาศมันไม่ดีนักหรอกครับ” ฉี เส้ากวง นิติศาสตร์บัณฑิต วัย 22 ปีจากมณฑลเหอหนัน อันแห้งแล้ง บอก

“ใครที่หางานทำดี ๆ ได้แล้ว มักจะรีบย้ายออกไป”
แรงงานอพยพที่สถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ วันที่ 11 มี.ค.2552 ตัวเลขการส่งออกเดือนก.พ.ของจีนทรุดหนัก ทำแรงงานอพยพตกงานเพียบ
เขาเช่าห้องพักขนาด 10 ตารางเมตร ร่วมกับเพื่อนที่ตกงานอีกคนหนึ่ง และอยู่ในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยจำนวน 1 ล้าน 2 แสนคน ที่กำลังมองหางานในตลาดแรงงาน ซึ่งโซซัดโซเซมานานหลายปี เพราะการวางนโยบายอย่างสุกเอาเผากินของรัฐบาล และเกือบเดี้ยงไปเลย เมื่อวิกฤตการเงินโลกโถมกระหน่ำ

นอกจากนั้น ฉียังจะต้องยื้อแย่งงานกับนักศึกษา ที่กำลังสำเร็จการศึกษาอีก 6 ล้าน 1 แสนคนในฤดูร้อนนี้ และผู้มีวิชาความรู้อีกไม่ทราบจำนวนเท่าไร ที่ถูกลอยแพตามเมืองใหญ่กลางมรสุมเศรษฐกิจตกต่ำ

“ปัญหาในปีนี้ไม่ใช่เรื่องการหางานที่ดีทำ แต่เป็นปัญหาว่าจะหางานอะไรทำได้บ้างตะหาก” ชายหนุ่มให้ความเห็น

คนในเสี่ยวเจียเหอยังรวมถึงแรงงานอพยพ ที่เพิ่งเข้ามาพัก เป็นส่วนหนึ่งของแรงงานอพยพ 20 ล้านคน ที่ตกงานระเนระนาดทั่วประเทศ

รัฐบาลจีนกำลังวิตกว่าปัญหาบัณฑิตตกงานอาจลุกลามบานปลาย เป็นการชุมนุมก่อเหตุรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้เป็นการครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนของนักศึกษา ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2532

ทว่าปัญหาที่น่าอันตรายยิ่งไปกว่าก็คือความท้อแท้สิ้นหวัง ที่คืบคลานสิงสู่จิตใจของบัณฑิตหลายล้านคน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกกรอกหูว่า การศึกษาสูงเป็นใบเบิกทางให้ได้งานที่ดี แต่มาตอนนี้ พวกเขากลับต้องมายื้อแย่งงานระดับ “ขี้ข้า”

ผิดหวัง เลยฆ่าตัวตาย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักศึกษาหญิงชั้นปีสุดท้ายในมณฑลเหอเป่ยฆ่าตัวตาย หลังจากพยายามหางานทำอยู่หลายเดือน แต่คว้าน้ำเหลว และเธอกลัวว่าจะทำให้ครอบครัวต้อง “ผิดหวัง”

“นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถทำอะไรได้ เอาแต่บ่นเรื่องโน้น เรื่องนี้ทั้งวัน มีความปรารถนาสูง แต่ความสามารถต่ำ ดูถูกงานหนัก แต่กลับหางาน ที่ต้องใช้ความรู้ ทำไม่ได้ … นี่คือโศกนาฏกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่ง!” เป็นข้อความตอนหนึ่งในไดอารี ซึ่งสื่อมวลชนนำมาเผยแพร่

รัฐบาลจีนแสดงความเห็นใจปนตำหนินักศึกษาผู้คิดสั้น พร้อมกับให้คำมั่นสร้างงานสำหรับนักศึกษาจบใหม่ ทว่าก็เรียกร้องให้บัณฑิตละทิ้งความภาคภูมิใจเรื่องที่เรียนหนังสือมาสูง และลดตัวลงมาทำงานตำแหน่งต่ำต้อย เงินเดือนน้อยในท้องถิ่นห่างไกล

เมื่อเดือนธันวาคมนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ถึงกับไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยปักกิ่งแบบสายฟ้าแลบ

“ความลำบากของพวกคุณคือความลำบากของผม และหากพวกคุณวิตกกังวล ถ้าเช่นนั้น ผมก็ยิ่งวิตกกังวลมากกว่า” เวินบอกกับนักศึกษา

รัฐบาลจีนเร่งออกมาตรการจูงใจ เพื่อผลักดันให้บริษัทผู้ประกอบการรับบัณฑิตเข้าทำงาน นอกจากนั้น ยังสัญญาว่าจะให้เงินอุดหนุนสำหรับบัณฑิต ที่สร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา

หัดลดการคาดหวังเสียบ้าง

เฉิน อิง วัย 25 ปี จบปริญญาตรีด้านการค้าระหว่างประเทศจากเขตปกครองตนเองมองโกเลียตอนใน เธอเป็นคนหนึ่ง ที่ยอมลดมาตรฐาน หันมามองอาชีพพนักงานต้อนรับ และพนักงานขาย แต่ปัญหาก็คือมีคนอื่นอีกมากมาย ที่ทำแบบเธอ

“ฉันไปสัมภาษณ์มาตั้งกว่า 30 ครั้ง ยื่นใบสมัครงานหลายสิบหนแล้วนะเนี่ย” เฉินเล่า พลางจิบเครื่องดื่มอยู่ในร้านฟาสต์ฟู้ด บุคลิกคล่องแคล่ว และพูดภาษาอังกฤษได้

“ คั่ว เจา” โครงการของรัฐบาลจีน ที่เริ่มในปี 2541 เพื่อผลักดันให้ผู้จบปริญญาตรี เรียนต่อในระดับสูงขึ้นไป พบว่า ฐานผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในจีนโตถึง 4 เท่าในช่วง 10 ปี มากกว่าการเติบโตของตำแหน่งงาน ที่ใช้ความรู้

“แต่ยังมีอุตสาหกรรมระดับล่างอยู่มากมาย หลายบริษัทบอกว่าไม่ต้องการผู้จบปริญญาตรี เพราะสามารถฝึกแรงงานอพยพเองได้ ซึ่งจะประหยัดต้นทุน บริษัทเหล่านี้ไม่ต้องการนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่มีความรู้ หรือคุณวุฒิสูง มาทำงาน” นักวิจัยของสถาบันศึกษาสังคมศาสตร์แห่งจีน (CASS)ระบุ

สื่อมวลชนจีนรายงานว่า เวลานี้บัณฑิตถึงขั้นแย่งสมัครงานทำความสะอาด และงานพี่เลี้ยงเด็ก ในการจัดตลาดนัดแรงงานคราวหนึ่ง พวกนักศึกษาบอกว่าเตรียมตัวรับเงินเดือนต่ำกว่า ที่คาดหวัง และพร้อมทำงานของรัฐในชนบท

บัณฑิตจีนระบายความหมดหวังในบอร์ดสนทนาออนไลน์กันเกลื่อน แต่แทบไม่ มีใครรู้สึกโกรธแค้น จาง อี้ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความมั่นคงแห่งสังคมและแรงงาน ของCASS มองว่า บัณฑิตตกงานไม่จัดรวมอยู่ในกลุ่มที่อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสังคม ตราบใดที่จีนพยุงให้เศรษฐกิจโตอยู่ที่ร้อยละ8 ได้

ขะมุกขะมอมด้วยฝุ่น เสี่ยวเจียเหอ มีคำขวัญเรียกร้องให้ผู้เช่า “จงรักชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย”

บรรยากาศที่นี่ในตอนเที่ยงก็เงียบสงบดี แต่พอพลบค่ำจะอึกทึก เมื่อแรงงานอพยพกลับมาซุกหัวนอน

“บัณฑิตบางคนไปทำงาน พวกที่ยังไม่มีงานทำ ก็ออกไปหางาน หรือหางานทางอินเตอร์เน็ต” บัณฑิตตกงานแซ่เจ้าเล่า แล้วโซ้ยบะหมี่น้ำที่ร้านแผงลอย ชามละ 4 หยวนเสียงดัง

ในสภาพการณ์ปัจจุบัน เจ้าก็เหมือนใครอีกหลายคน ที่เลิกมองหางานดี ๆ ทำแล้ว และหันมาคร่ำเคร่งกับหนังสือ เพื่อสอบเรียนต่อในระดับปริญญาโท จึงแทบไม่มีเวลาเหลือสำหรับการประท้วง หรือเดินขบวนใด ๆ ทั้งสิ้น

“การชุมนุมประท้วงน่ะ มันอันตราย แถมยังเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อีกด้วย” หนุ่มแซ่เจ้าสรุปตบท้าย

แปลและเรียบเรียงจาก “Jobless China graduates mired in gloom amid Slowdown” ของสำนักข่าวเอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น