xs
xsm
sm
md
lg

“จีนศึกษา” สู่การปฏิวัติองค์ความรู้เรื่องจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการสถาบันจีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุยเรื่อง “จีนศึกษา” สู่การปฏิวัติองค์ความรู้เรื่องจีน กับผอ.ใหม่ ศูนย์จีนศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลังจากรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ตัดสินใจเปิดประเทศเมื่อ 30 ปีก่อน ทั่วโลกต่างพุ่งความสนใจมาที่จีน ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทยที่เริ่มสนใจในเรื่องราวของจีนมากขึ้นตามลำดับ

ถึงแม้ว่าในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จนชะลอตัวอยู่ที่ 9% ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 7 ปี ขณะที่กระแสเรียนภาษาจีนก็ลดดีกรีความร้อนแรงลงมาบ้าง เพราะภาษาเกาหลีเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาคนใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งรับตำแหน่งในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา มั่นใจว่าในสังคมไทยยังให้ความสนใจกับเรื่องจีนเป็นอย่างมาก “กระแสจีนนั้นซายาก ถึงแม้ว่าปีสองปีนี้อาจจะชะงักไปบ้าง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่การค้าการลงทุนยังต้องดำเนินต่อไป”

จากที่อาจารย์ได้ศึกษาและติดตามเรื่องจีนมานาน อาจารย์เล่าให้ฟังว่า “เมื่อช่วง 20 ปีก่อน กระแสเรื่องจีนก็บูมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันความสนใจเรื่องจีนกลับมากกว่าเมื่อก่อนนับ 10 เท่า ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โตของจีนก็มีแต่จะยิ่งต้องผลิตบุคลากรที่รู้ภาษาจีนให้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีไม่พอกับความต้องการ”

ความจริงแล้วสังคมไทยมีความสนใจเรื่องจีนมาก แต่ปัญหาหรือข้อจำกัดก็คือ “เรามีบุคลากรทางด้านจีนศึกษาน้อย เราพบว่า คนที่จบระดับอุดมศึกษาทางด้านภาษาจีน ส่วนใหญ่ไปทำงานในภาคเอกชนจำนวนมาก ซึ่งความจริงเราก็ไม่ได้คิดว่ามันผิดจุดประสงค์การเปิดการเรียนการสอนภาษาจีน แต่ในแวดงวงงานวิชาการและการวิจัยยังนับว่าขาดแคลนบุคลากร เพราะถ้ามาทำวิจัยแน่นอนว่ารายได้มันไม่ค่อยสูงนัก คนที่มาทำต้องมีใจรักนะ”

และกระแสเรียนภาษาจีนจะช่วยขยายบุคลากรด้านจีนศึกษาหรือไม่? ในสายตาของอาจารย์มองว่า การรู้ภาษาจีนดี ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนักจีนศึกษา บางทีคนที่ไม่รู้ภาษาจีนก็อาจเป็นนักจีนศึกษาได้เช่นกัน “พวกประเทศตะวันตกเขาบุกเบิกงานด้านจีนศึกษามานาน ดังนั้นจึงมีงานคลาสสิกภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการศึกษาด้านนี้อยู่หลายเล่ม บางคนไม่รู้ภาษาจีนแต่เก่งภาษาอังกฤษ ถ้าเขาสามารถอ่านแล้วเข้าใจเนื้อหา และนำไปคิดต่อ สร้างโจทย์วิจัยได้ เขาก็เป็นนักจีนศึกษาได้ แต่ถ้ายิ่งรู้ภาษาจีนด้วยยิ่งดีใหญ่"

มาถึงตรงนี้คงไม่อาจละเลยที่จะพูดถึงงานวิจัยเรื่องจีนที่ทางศูนย์จีนศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ และได้ผู้ทรงคุณวุฒิมากมายมาเป็นกองกำลังสำคัญในการสร้างงานวิจัยที่ทรงคุณค่าเพื่อยกระดับองค์ความรู้เรื่องจีนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

“ตอนนี้ทางศูนย์ฯ มีงานวิจัยเป็นระยะๆ เมื่อปีเศษที่ผ่านมา ศาสตราภิชาน ดร.เขียน ธีระวิทย์ เข้ามาช่วย และกำหนดโครงการวิจัยนับ 10 โครงการขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเสร็จภายใน 2 ปี ก็คือภายในเดือนกันยายนนี้ โดยงานวิจัยที่กล่าวข้างต้นก็รวมไปถึงประเด็นการเรียนการสอนในประเทศจีน ที่อาจารย์เขียนท่านเป็นผู้ดูแลโดยตรง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแพทย์จีน การเมืองการปกครองจีน เรื่องราวชีวิตของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ขณะอยู่ประเทศจีน เรื่องเศรษฐกิจ เป็นต้น”

อย่างงานวิจัยเรื่อง “การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย” ที่มี ดร.เขียน ธีระวิทย์ เป็นหัวเรือใหญ่ อาจารย์วรศักดิ์ คาดหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาจีนบ้านเรา โดยกล่าวว่า “ในอนาคตตำราการเรียนการสอนภาษาจีน ตั้งแต่ประถมจนถึงอุดมศึกษา หรือแม้แต่อาชีวะศึกษาและการศึกษานอกระบบ ควรจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จริยธรรม แทรกอยู่ในตำราด้วย เพื่อเป็นการยกระดับความรู้ของบุคลากร ไม่ใช่รู้แต่ภาษาจีนเท่านั้น แต่ยังรอบรู้เรื่องต่างๆ ของจีนด้วย”

นอกจากเนื้อหาแล้ว หลักสูตรก็ควรได้รับการปรับปรุงเช่นกัน “หลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบัน มีคำพูดล้อกันว่า 'หลักสูตรเริ่มจากศูนย์' โดยผู้เรียนไม่ว่าระดับชั้นใดก็ตาม จะเคยเรียนภาษาจีนมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องมาเริ่มเรียนนับ หนึ่ง สอง สาม...ใหม่หมด เช่น คุณเรียนภาษาจีน ป.1-ป.4 มาแล้ว พอขึ้น ป.5 ก็ต้องเริ่มเรียนใหม่ และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มเรียนใหม่อีก มันน่าจะมีหลักสูตรที่สอนต่อเนื่องสำหรับเด็กที่เคยเรียนภาษาจีนมาแล้ว สามารถเรียนต่อไปได้จนถึงระดับอุดมศึกษา” ซึ่งสภาพที่เป็นอยู่ดังกล่าวนี้สร้างสูญเปล่ามาก

ตอนนี้ การวิจัยการเรียนการสอนฯดังกล่าว เสร็จสิ้นเฟสหนึ่งไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนตำรา หากไม่มีอุปสรรคอะไร งานวิจัยทั้งหมดก็น่าจะตีพิมพ์ได้ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

นอกจากได้ขึ้นมาเป็นผู้นำศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ แล้ว พร้อมๆกันนี้ อาจารย์วรศักดิ์ ยังได้ควบตำแหน่งผู้นำโครงการ”จับกระแสจีน” หรือ China Watch ของกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งโครงการนี้ก็จะมีกิจกรรมที่ทำควบคู่ไปกับศูนย์จีนฯ ด้วย

“ตอนนี้โครงการ China Watch กำลังอยู่ในขั้นเตรียมงานด้านวิจัย คือเราจะมีการปรึกษาหารือหรือประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และ NGO เพื่อให้พวกเขาเสนอสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์เชิงนโยบายในด้านต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การค้าการลงทุน การแก้ปัญหาสังคมอย่างเช่นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ แม้แต่เรื่องที่เกี่ยวกับจีนโดยตรง ซึ่ง China Watch ก็จะรวบรวมข้อมูลทำวิจัยในหัวเรื่องต่างที่จะเป็นประโยชน์แก่ชาวไทย และประเด็นหนึ่งที่ ไทยควรติดตามอย่างยิ่ง คือปัญหาไต้หวัน ซึ่งจะมีผลต่อภูมิภาค และไทย”

อาจารย์วรศักด์ยกตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว ที่เกิดปรากฏการณ์โรงงานและภาคธุรกิจในมณฑลกวางตุ้งปิดตัว ทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ก็อาจหยิบยกเรื่องนี้มาทำวิจัยเพื่อให้ข้อมูลสำหรับผู้ที่เตรียมตัวจะไปลงทุนที่กวางตุ้ง และสนองตอบหน่วยงานกำหนดนโยบาย (Policy Maker)

นอกจากงานวิจัยที่ตอบสนอง Policy Maker และ User แล้ว มีงานวิจัยอีกประเภทที่ทางศูนย์จีนศึกษาให้ความสำคัญมากเช่นกัน นั่นคืองานวิจัยที่เป็นการสร้างรากฐานทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องจีนศึกษา แต่งานประเภทนี้ต้องใช้เวลาทำหลายปี ต้องใช้คนจำนวนมาก งบประมาณสูง และทำยากกว่างานวิจัยประเภทแรก วิธีที่เร็วที่สุดอาจเป็นการแปลงานคลาสสิกที่มีอยู่แล้วของต่างชาติ เช่น ประวัติศาสตร์จีนของแฟร์แบงค์

และ “ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตผมก็อยากสร้างหลักสูตรจีนศึกษาที่เป็นของคนไทยโดยเฉพาะ และสอนโดยนักวิชาการไทย แต่นี่คงเป็นโครงการในระยะยาว” อาจารย์วรศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อถามถึงหลักทฤษฎี “จีนเป็นภัยคุกคาม” ที่บางกลุ่มสร้างขึ้น อาจารย์วรศักดิ์บอกว่า บทความซึ่งอาจารย์ชื่นชมว่าเป็นงานเขียนที่ดีมากชิ้นหนึ่งคือเรื่อง “China threat. What threat?” (จีนเป็นภัยคุกคาม คุกคามอะไร?) ของนักจีนศึกษาชาวอเมริกัน Henry Rosemont ซึ่งเนื้อหาบางส่วนกล่าวถึงงบประมาณทางการทหารจีนที่เพิ่มพูนขึ้นทุกปี แต่ก็ยังสู้งบทางทหารของสหรัฐฯ ไม่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วสหรัฐฯ ยังแลดูเป็นภัยคุกคามมากกว่าจีนเสียอีก

ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของนักจีนศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มองจีนเป็นศัตรู แต่เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลสหรัฐฯ หลายยุคหลายสมัยไม่สนใจนำความคิดคำแนะนำของนักการทูตและนักจีนศึกษามาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จะด้วยความไม่ชอบลัทธิคอมมิวนิสต์หรืออะไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ มักดำเนินนโยบายสวนทางกับคำแนะนำของนักจีนศึกษา

โดยเฉพาะแนวคิดจีนเป็นภัยคุกคามที่เห็นเด่นชัดในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ เพนทากอน ได้ออกเอกสารเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าจีนเป็นภัยคุกคาม แต่แล้วหลังจากเกิดเหตุวินาศกรรมวันที่ 11 กันยายน รัฐบาลก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อจีนไปในทางที่เป็นมิตรมากขึ้น เพราะอย่างน้อยจีนก็เป็นแนวร่วมในการต่อต้านการก่อการร้าย

สำหรับสหรัฐฯ แล้ว ยุคสมัยที่มีการใช้นักจีนศึกษาให้เป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเห็นก็คือยุคของริชาร์ด นิกสัน ที่ได้เชิญ แฟร์แบงค์ (John K. Fairbank) นักจีนศึกษาชื่อดัง มาให้คำปรึกษาว่าจะเปิดความสัมพันธ์กับจีนอย่างไร และนำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยนิกสัน นับเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนจีนในยุคคอมมิวนิสต์ และได้เข้าพบกับเหมา เจ๋อตง ผู้นำจีนในขณะนั้น

“ต้องยอมรับว่าการเปิดศักราชใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ของนิกสันนั้นกลายเป็นเรื่องที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ไปโดยปริยาย แม้นิกสันจะมีเรื่องย่ำแย่สำหรับการเมืองไทย แต่ในเรื่องจีนแล้วนิกสันได้รับการยกย่อง แต่หลังจากนั้นแม้สหรัฐฯ จะมีนักจีนศึกษาเป็นจำนวนมากและมีผลงานโดดเด่น แต่ก็ไม่เคยทำตาม ยังคงดำเนินนโยบายสวนทางมาตลอด”

เห็นได้ว่างานจีนศึกษานั้น มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะในแวดวงการศึกษา แต่รวมไปถึงด้านธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยิ่งในยุคที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลก โดยจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นแล้ว งานศึกษาเรื่องจีนก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม.
กำลังโหลดความคิดเห็น