xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดโภคภัณฑ์ลดความผันผวน อานิสงส์มังกรลงทุนเหมืองนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิศวกรชาวจีนกำลังทำงานร่วมกันกับวิศวกรชาวซูดานในพื้นที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งของเมืองคาร์ทูม เมืองหลวงชองประเทศซูดาน เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2552 - ภาพ เอเอฟพี
รอยเตอร์ – นักวิเคราะห์มองแง่ดี ปรากฏการณ์พญามังกรเดินสายทำสัญญาลงทุนกับบริษัทเหมืองแร่ต่างแดนในขณะนี้ อาจช่วยสกัดการพุ่งทะยานของราคาสินค้าตลาดโภคภัณฑ์ในทศวรรษหน้า

แม้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยลึกลงไปทุกที และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งร่วง แต่นักวิเคราะห์ก็ได้เริ่มออกมาเตือนแล้วว่า การระงับ หรือชะลอโครงการลงทุนของบริษัทเหมืองแร่ อาจส่งผลให้เมื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้นเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง โลกจะขาดแคลนวัตถุดิบในตอนนั้น ก็เป็นได้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนได้ทำข้อตกลงหลายฉบับ มูลค่าทั้งสิ้น 55,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือบริษัทเหมืองแร่ต่างชาติ ที่กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ฟันฝ่าวิกฤตราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งดิ่งลงกว่าร้อยละ 60

ผู้เชี่ยวชาญ อาทิ มาร์ก เพอร์แวน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านตลาดโภคภัณฑ์ของเอเอ็นแซ็ต แบงก์ (ANZ Bank) ชี้ว่า การลงทุนของจีนในยามเศรษฐกิจโลกตกต่ำได้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดโภคภัณฑ์ ซึ่งมีลักษณะที่อาจเฟื่องฟูสุด หรือตกต่ำสุดได้ตลอดเวลา เนื่องจากเม็ดเงินของพญามังกรจะช่วยผลักดันให้มีการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง แม้ในยามที่วงจรราคาสินค้าโภคภัณฑ์กำลังถึงจุดตกต่ำสุด ทำให้ตลาดไม่ขาดแคลนวัตถุดิบ และไม่ดันให้ราคาพุ่งขึ้น โดยจีนไม่อยากเห็นความผันผวนของตลาดและราคาสินค้าพุ่งขึ้นซ้ำรอยเหมือนเมื่อ 2-3 ปีก่อน

“นี่จึงเป็นเวลาดีเลิศที่สุดสำหรับจีนในการเข้าซื้อกิจการ” เพอร์แวนกล่าว

ทั้งนี้ ดัชนี รอยเตอร์ส-เจฟเฟอรีส์ ซีอาร์บี (Reuters-Jefferies CRB) ของตลาดโภคภัณฑ์โลก ปรับขึ้นถึงร้อยละ 50 ในปี ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นการพุ่งสูงสุด นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970 ทว่าหลังจากนั้น ก็รูดไถลกว่าครึ่งหนึ่ง ลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเร่งให้จีนตระเวนทำสัญญากับบริษัทต่างชาติระลอกใหม่
คนบรรทุกเอาเหล็กเส้นที่ได้จากการรื้อถอนนำไปรีไซเคิลหลอมใหม่อีกครั้งที่โรงงานแห่งหนึ่งของกรุงปักกิ่ง - ภาพ เอเอฟพี
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไชนาลโค วิสาหกิจรัฐผู้ผลิตอะลูมิเนียมของจีนทำข้อตกลงกับริโอ ทินโต บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย มูลค่า 19,500 ล้านดอลลาร์ โดยเข้าถือหุ้นรายย่อยในทรัพย์สิน ซึ่งมีราคามากที่สุดของริโอจำนวนหนึ่ง รวมทั้งเหมืองทองแดง “เอสคอนดิดา” ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่ชิลี

จากนั้น อีกไม่กี่วันต่อมา มินเมตเทิลส์ วิสาหกิจรัฐของจีน ตกลงเข้าซื้อกิจการของออซ มิเนอรัลส์ บริษัทผู้ผลิตแร่สังกะสีชั้นนำแดนจิงโจ้ ซึ่งกำลังมีหนี้สินรุงรัง ด้วยเงินจำนวน 1,700 ล้านดอลลาร์

จีนยังปิดฉากการเจรจาที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน ด้วยการทำข้อตกลงปล่อยกู้ให้บริษัทน้ำมันของรัสเซีย 2 ราย รวมมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับการส่งน้ำมันจากเขตไซบีเรียตะวันออก ป้อนให้จีน

นอกจากนั้น จีนยังใกล้บรรลุข้อตกลงขยายวงเงินกู้จำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์ให้เปโตรบราส บริษัทน้ำมันของรัฐบาลบราซิล เพื่อการส่งน้ำมันป้อนจีนในอนาคต ขณะที่ยังมีการเดินหน้าเจรจาทำข้อตกลงกับบริษัทต่างชาติอีกหลายบริษัท

สำหรับบริษัทโภคภัณฑ์หลายราย ซึ่งจำต้องลด หรือล้มเลิกแผนการลงทุน เพราะตลาดสินเชื่อขาดสภาพคล่อง หรือจากการประสบปัญหาของบริษัทเองนั้น แม้การลงทุนของจีนเป็นการช่วยยืดลมหายใจในระยะสั้น แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และสร้างความหวังว่า บริษัทจะมีปริมาณสินค้าป้อนตลาดอย่างเพียงพอ และราคาสินค้ามีเสถียรภาพ

เมื่อ40 ปีก่อน ญี่ปุ่นเคยเป็นตัวอย่างของการเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตทรัพยากรต่างชาติ เพื่อหาแหล่งวัตถุดิบป้อนตลาดเศรษฐกิจแดนซากุระ ที่กำลังเติบโตในเวลานั้น

การจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างบีเอ็ชพี บิลลิตัน บริษัทผู้ผลิตและส่งออกถ่านหินรายใหญ่สุดของออสเตรเลีย กับบริษัทมิตซูบิชิ ของญี่ปุ่น หรือกรณีบริษัทมิตซุยถือหุ้น 1 ใน 3 ในเหมืองแร่เหล็ก
โรบ ริเว่อร์ ของบริษัทริโอ ทินโต ส่วนนิปปอนสตีลถือหุ้นร้อยละ 10.5 และซูมิโตโม เมตเทิล ออสเตรเลียถือหุ้นร้อยละ 3.5

ผลผลิตมากมายจากปฏิบัติการเหล่านั้น น่าจะมากเพียงพอสำหรับสยบการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโภคภัณฑ์ จนกระทั่งถึงประมาณปี 2546 จีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ ปริมาณวัตถุดิบในตลาดโภคภัณฑ์โลกจึงตึงตัวขึ้นในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น