xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลากำจัด “จุดอ่อน” การเรียนภาษาจีนในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รณพล มาสันติสุข
กระแสนิยม ณ วันนี้ การเรียน การสอน “ภาษาจีน” ได้รับความนิยมกันมาก เห็นได้จากโรงเรียนรัฐและเอกชน เปิดทำการสอนแทบทุกโรง ไม่เว้นกระทั่งผู้ที่สนใจเรียนภาษาจีน เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนโดยประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 รองจากประเทศเกาหลีใต้ อเมริกา และประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้การเรียนภาษาจีนในบ้านเราได้รับความนิยมมาก แต่ก็ยังมี “จุดอ่อน” ต่างๆ ที่แก้ไม่ตกซะที จึงทำให้การเรียนภาษาจีนนั้นไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร

  • เงินน้อยทำเด็กจบใหม่ไม่อยากเป็นครู

    รณพล มาสันติสุข นักวิจัยประจำศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในอดีตการเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่ อาจารย์จะสอนวิชาอื่นมาก่อน พอเมื่อโรงเรียนเปิดสอนภาษาจีน อาจารย์เหล่านี้จึงมาสอนภาษาจีน โดยพอที่จะมีความรู้พื้นฐานในด้านภาษาจีนอยู่บ้าง จึงทำให้การเรียนภาษาจีนในประเทศไทยไม่สามารถที่จะพัฒนาได้อย่างเต็มที่
    อาจารย์นิพันธ์ พิษณุคุปต์ หินมณี
    ขณะที่ในปัจจุบันทางโรงเรียนที่ทำการเปิดสอนภาษาจีน มีการจ้างครูชาวจีนเพื่อมาทำการสอนเพิ่มเติม แต่ปัญหาก็คือ ครูที่มาทำการสอนนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าไรนัก สาเหตุเพราะว่าการจ้างครูต่างชาติมาสอนให้กับนักเรียนต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของโรงเรียนแต่ละโรงเรียน รวมไปถึงงบประมาณที่ใช้ในส่วนนี้ด้วย ที่สำคัญไปกว่านั้น บุคคลที่มาทำการสอนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้จบด้านการสอนภาษาจีนมาโดยตรง เพราะบุคคลที่เรียนทางด้านภาษาจีนมาโดยตรงจบออกมาก็ไม่อยากที่จะมาเป็นครูเนื่องจากได้เงินเดือนน้อยจึงไปทำงานในบริษัทเอกชนมากกว่า

    “สำหรับการแก้ไขปัญหาของอาจารย์ที่สอนภาษาจีน เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันนั้น ที่ผ่านมาได้มีการจัดโครงการอบรมครูและจัดให้ไปทัศนศึกษาที่ประเทศจีนในช่วงปิดภาคเรียนเพื่อให้อาจารย์ได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเรียนรู้ถึงวัฒนธรรม การเรียนของจีนเพื่อมาปรับปรุงให้สามารถสอนเด็กได้อย่างมีคุณภาพ” รณพล ให้ข้อมูล
    อาจารย์ Jhao อาจารย์ชาวจีน
    ขณะที่อาจารย์ นิพันธ์ พิษณุคุปต์ หินมณี หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาจีน) โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ให้ความเห็นในส่วนนี้ ว่า อาจารย์ที่จบการศึกษาด้านภาษาจีนมาบางคนก็ไม่สามารถที่จะทำการสอนให้นักเรียนมีศักยภาพได้เหมือนกัน แต่อาจารย์บางคนที่ไม่ได้จบภาษาจีนมาโดยตรงกลับสอนให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาจีนได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้การเรียนภาษาจีนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนด้วย
    ศุภณัฐ สัจจาสัย นักเรียนโรงเรียนราชนันทาจารย์สามเสนวิทยาลัย 2
  • เลือกตำราให้เหมาะ สอดแทรกคุณธรรม

    รณพล เปิดเผยต่อว่า ตำราที่ใช้สอนนักเรียนส่วนใหญ่ ผู้สอนจะเป็นผู้เลือกว่าเล่มใดเหมาะสม โดยส่วนใหญ่ตำราที่ใช้นั้นมาจากประเทศจีน หรือบางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากสำงานกิจการโพ้นทะเลหรือเฉียวปั้น โดยแบบเรียนนี้จะได้รับในโรงเรียนจีน ตำราเล่มนี้จะมีข้อดีตรงที่ว่าสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม แต่ข้อเสียจะอยู่ตรงที่ว่าไม่มีการสอดแทรกเรื่องของไทย

    สำหรับโรงเรียนรัฐได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมภาษาจีนสู่สากลแห่งประเทศจีนหรือฮั่นปั่นในการแต่งตำราชุดสัมผัสภาษาจีน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยแบบเรียนชุดนี้มีข้อดีที่ว่าเนื้อหาภายในเล่มจะสอดแทรกความเป็นไทย ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้คำศัพท์รวมไปถึงบุคคลสำคัญของไทยเป็นภาษาจีนด้วย
    ธีรพล แซ่โล้ว นักเรียนโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย
    ปัญหานี้ทางศูนย์จีนศึกษาไม่สามารถที่จะกำหนดได้ว่า โรงเรียนแต่ละโรงเรียนต้องใช้ตำราเล่มใด เพื่อให้การสอนได้มาตรฐานในระดับเดียวกัน แต่จะเป็นเพียงประภาคารที่จะคอยชี้นำว่าควรที่จะใช้ตำราที่มีเนื้อหาลักษณะอย่างไรให้นักเรียนเรียนแล้วนำความรู้ไปใช้ได้ และตำราที่ใช้นั้นต้องมีการสอดแทรกในด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่เด็กด้วย

  • ต่อยอดไม่ได้ เปรียบเสมือน “พายเรือวนอ่าง”

    รณพล อธิบายเพิ่มว่า การเรียนภาษาจีนในโรงเรียนจีนกับโรงเรียนรัฐ มีความแตกต่างกันมาก โดยจำนวนชั่วโมงเรียน โรงเรียนจีนจัดการเรียนการสอนอยู่ที่ 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่โรงเรียนรัฐจะมีการจัดการเรียนการสอนให้ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้นเอง อีกทั้งโรงเรียนยังเปิดสอนภาษาจีนเป็นวิชาเสริมเท่านั้น ทำให้เด็กไปเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นต้องกลับมาเรียนในเนื้อหาเดิมๆ ไม่สามารถที่นำความรู้ไปต่อยอดและพัฒนาการในวิชาการได้ เปรียบเสมือนการพายเรือวนอ่าง ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนจะให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน

    ดังนั้น การเรียนภาษาจีนให้มีประสิทธิภาพ ทางโรงเรียนต้องมีคุณภาพในตัวผู้สอน ควรที่จะจัดให้มีห้องเรียนภาษาจีนโดยเฉพาะ เน้นที่การฟัง พูด อ่านและเขียน อีกทั้งต้องนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมไปถึงการที่มีผู้บริหารชาวจีนคอยควบคุมดูแลเพื่อให้การเรียน การสอน การประเมินผลที่จะทำให้อาจารย์และนักเรียนได้ประสิทธิภาพ สามารถนำความรู้ไปใช้ในอนาคตข้างหน้าได้
    บรรยากาศการเรียนภาษาจีนในห้องเรียน โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย
    ด้าน อาจารย์นิพันธ์ ให้ความเห็นว่า ก่อนทำการสอนต้องกำหนดแผนการเรียนการสอนก่อน ทั้งนี้เนื้อหาต้องกลางๆ ไม่ยากและง่ายเกินไป เวลาที่สอนต้องปูพื้นฐานให้กับเด็ก จากนั้นค่อยๆทำการสอนเด็กไปเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กนำความรู้ไปต่อยอดในอนาคต

    ส่วนอาจารย์ Jhao อาจารย์ชาวจีน โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย 2 บอกว่า ในการสอนของตนนั้นขั้นแรกจะให้ผู้อ่านออกเสียง ในบทสนทนาให้ได้ก่อน และจากนั้นจะมาสอนให้รู้ถึงคำศัพท์ต่างนั้นๆ มีความหมายว่าอะไร และค่อยมาฝึกเด็กให้หัดพูดโดยการออกสำเนียงที่ถูกต้อง ซึ่งตรงนี้จะต้องทำการสอนอย่างละเอียดเพื่อให้เด็กมีความรู้และพื้นฐานที่ดี

    ธีรพล แซ่โล้ว นักเรียนโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ม.6/5 ระบุว่า การเรียนภาษาจีนต้องหมั่นกลับไปทบทวนบทเรียน ฝึกอ่าน ฝึกเขียนมากๆ และหากคำศัพท์คำใดที่ไม่เข้าใจต้องเปิดพจนานุกรมและเขียนไว้ จากนั้นก็หาเวลามานั่งท่อง และหาเวลาว่างไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากข้างนอก ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เรียนเองด้วย

    ส่วนศุภณัฐ สัจจาสัย นักเรียนโรงเรียนราชนันทาจารย์สามเสนวิทยาลัย 2 ม.6/6 ระบุว่า ปัญหาที่เจอจะเป็นเรื่องไวยากรณ์ ดังนั้นต้องกลับไปทบทวนบทเรียนที่เรียนมา และฝึกพูด อ่าน เขียนบ่อยๆ ส่วนเรื่องตำราเรียนและหลักสูตรคงไม่มีความเกี่ยวข้องที่ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถที่จะนำความรู้ไปต่อยอดได้ กรณีนี้ขึ้นอยู่กับผู้เรียนมากกว่าว่าเรียนแล้วจะนำความรู้ไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

    ...ที่กล่าวมาทั้งหมดบางคนอาจดูเป็นเพียงปัญหาแค่เล็กน้อย แต่แท้จริงแล้วปัญหาในด้านครูผู้สอน ตำราเรียน รวมไปถึงด้านหลักสูตรนั้นกลับเป็นจุดอ่อนที่ยิ่งใหญ่ เพราะปัญหาเหล่านี้ถ้าปฏิรูปแก้ไขกันจริงๆ แล้วจะทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในบ้านเราก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ

  • กำลังโหลดความคิดเห็น