xs
xsm
sm
md
lg

“พรีเซนเตอร์”สยองกม.คุมอุตฯอาหาร รับผิดชอบร่วมหากสินค้าไม่ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิลปินจากวง ฮวา เอ่อร์ เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์นมซันลู่
เอเจนซี – เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขออกโรงเตือนอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ ประกาศจะปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตหากตรวจพบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ ด้านพรีเซนเตอร์โฆษณาอาจติดแหร่างร่วมรับผิดชอบ

หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ รายงานว่าขณะนี้คณะมุขมนตรีจีนกำลังพิจารณาร่างกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิต,องค์กรหรือบุคคลใดก็ตามที่โฆษณาหรือแนะนำผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย จะต้องร่วมรับผิดชอบในกรณีที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

หลิว ซีหรงผู้อำนวยการคณะกรรมการร่างกฎหมายแห่งสภาผู้แทนประชาชนจีนระบุ ร่างกฎหมายฉบับนี้ตอบรับกับก่อนหน้าที่มีการเรียกร้องมายังสภานิติบัญญัติให้ดำเนินการกับโฆษณาอาหารที่อวดอ้างเกินจริง ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่หลอกหลวงเอาเปรียบผู้บริโภค

“ ดังนั้น หากร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณา จะเป็นการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสื่อโฆษณาต่างๆ” หลิว ระบุ

นอกจากนี้ มาตรการล่าสุดยังห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจสอบอาหาร และ สมาคมอุตสาหกรรมและผู้บริโภคปรากฏตัวในโฆษณาแนะนำสินค้าแก่ผู้บริโภค หากฝ่าฝืนต้องรับโทษปลดออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม กรณีโฆษณาสินค้าที่ไม่ปลอดภัยกลายเป็นปัญหาสำคัญ หลังจากกรณีอื้อฉาวนมปนเปื้อนเมลามีนถูกเปิดโปงในเดือนกันยายนของปีที่แล้ว

ขณะที่ประชาชนจำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า บุคคลในโฆษณาซึ่งแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยนั้นจะต้องได้รับการลงโทษหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีผลิตภัณฑ์นมของบริษัท “ซันลู่” ที่เป็นต้นเหตุให้ทารกเสียชีวิตถึง 6 ราย และล้มป่วยอีกราว 300,000 คน
หลิว เสียง นักกีฬากระโดดรั้วทีมชาติจีนเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์นมของอี่ลี่ กรุ๊ป
ด้านเฉิน กังอาจารย์ประจำภาควิชาการโฆษณาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งแสดงทัศนะเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว “ดารานักแสดงในโฆษณามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อคนในสังคม เพราะคนทั่วไปจะเชื่อในสิ่งที่คนกลุ่มนี้กล่าวมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป” นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมสื่อโฆษณาประเภทอาหารอย่างเข้มงวด เพราะอาหารมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ระบุเพียงแซ่หยาง เห็นว่าแม้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีเจตนาเพื่อปกป้องผู้บริโภค แต่ก็ไม่ยุติธรรมต่อตัวพรีเซนเตอร์ หากจะระบุให้ร่วมรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา

ด้านหวัง หลี่หมิง สมาชิกคณะกรรมการร่างกฎหมาย เสนอแนะ “ผู้ที่ควรแสดงความรับผิดชอบในเบื้องต้นคือผู้ผลิต แต่ตัวบุคคลที่แนะนำผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็ควรที่จะร่วมรับผิดชอบในทำนองเดียวกันด้วย”

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวอาจทำให้ผู้รับงานโฆษณาอาหารต้องคิดหนักหลายรอบก่อนที่จะตกลงรับงาน เจียง เวินจวิ้น ผู้จัดการส่วนตัวของเจียง เหวินลี่นักแสดงชื่อดังในจีนแผ่นดินใหญ่ กล่าว

“เราจะระมัดระวังในการรับงานมาก ปกติเราจะถามถึงใบอนุญาตหรือใบรับรองจากทางการอยู่เสมอ เพื่อพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัยจริง และหากมีการใช้กฎหมายนี้เราก็คงจะระวังให้มากกว่าเดิม” เจียง บอก

นอกจากนี้ความบกพร่องในการควบคุมตรวจสอบคุณภาพอาหารในจีน ทำให้สำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ต้องข้ามมาเปิดสำนักงานในต่างแดนเป็นครั้งแรกที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2551 เพื่อดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหารและอื่นๆ ก่อนที่จะนำเข้าสู่สหรัฐฯ

ขณะเดียวกันเมื่อวันพุธ( 25 ก.พ.) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนเตรียมตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร เพราะที่ผ่านมาการไร้ประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณภาพอาหารถือเป็นสาเหตุหลักของเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับอาหารปนเปื้อนสารพิษที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและต่อเนื่อง

ล่าสุดมีรายงานว่า ชาวจีนอย่างน้อย 70 รายในมณฑลกวางตุ้งของจีนล้มป่วยเพราะอาหารเป็นพิษ หลังจากบริโภคเครื่องในหมูปนเปื้อนสารเคมีต้องห้าม จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเครื่องในหมูที่ชาวบ้านซื้อมารับประทานนั้น มีสารกระตุ้นเนื้อแดง หรือ Clenbuterol ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทางการจีนห้ามนำไปใช้ผสมอาหารในสัตว์
กำลังโหลดความคิดเห็น