เอเอฟพี – จีนเตรียมตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร หวังลดเรื่องอื้อฉาวซ้ำซากเกี่ยวกับสารพิษในอาหารที่ผลิตในจีน เผยคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นตรงต่อคณะมุขมนตรี
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานอีกว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวตั้งขึ้นตามข้อกำหนดในกฎหมายฉบับใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยของอาหาร โดยที่ประชุมรัฐสภาจีนจะพิจารณากฎหมายนี้ในเดือนหน้า และว่าคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารชุดนี้ จะอยู่ภายใต้การดูแลของคณะมุขมนตรีของจีน
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร เพราะที่ผ่านมาการไร้ประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณภาพอาหารถือเป็นสาเหตุหลักของเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับอาหารปนเปื้อนสารพิษที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
กฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่เข้มงวดของจีน ทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายครั้ง และยังทำให้จีนต้องเรียกเก็บสินค้าที่มีปัญหาออกจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เหตุผลสำคัญที่จีนต้องเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ เป็นเพราะที่ผ่านมาหลายๆ หน่วยงานได้ใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการอุตสาหกรรมอาหารในจีน
เมื่อปีที่แล้วจีนเกิดอื้อฉาวเกี่ยวกับนมสำหรับเด็กปนเปื้อนสารเคมี ส่งผลให้เด็กทารกเสียชีวิต 6 ราย และล้มป่วยอีกเกือบ 3 แสนราย ผลพวงจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ศาลจีนได้ตัดสินประหารชีวิตชาย 3 คน ในความผิดฐานเติมสารเคมีลงในอาหารจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขณะที่ประธานกรรมการผู้บริหารบริษัทซานลู่ กรุ๊ป ก็ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต พร้อมปรับเงินกว่า 20 ล้านหยวน โทษฐานผลิตและจำหน่ายนมปนเปื้อนสารพิษ
เริ่มต้นในปีนี้ เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับอาหารที่ไม่ปลอดภัยในจีนยังคงมีต่อเนื่อง เมื่อมีกลุ่มผู้ปกครองจากมณฑลเจ้อเจียง, กุ้ยโจว และซื่อชวน (เสฉวน) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นมยี่ห้อดูเมกส์ (Dumex) ที่ผลิตโดยหน่วยผลิตของยักษ์ใหญ่นมแดนน้ำหอมคือ ดานอน เพราะสงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้ทารก 48 คนล้มป่วยหลังจากที่ดื่มนมดูเมกส์ โดยทารกบางคนมีอาการนิ่วในไต
ขณะที่ หน่วยดูแลด้านเทคนิกและคุณภาพของสำนักงานเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ บอกว่า เจ้าหน้าที่ของหน่วยฯ กำลังตรวจสอบ “คุณภาพและความปลอดภัยของนมผงยี่ห้อดูเมกส์” โดยมิให้รายละเอียดใดๆ
หลังจากนั้น นิตยสาร Food Control ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ก็ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาของนักวิชาการจากสถาบันควบคุมความปลอดภัยของอาหารประจำกว่างโจว (กวางเจา) ซึ่งระบุว่าจากการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมจากร้านค้าและซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป ในเมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 – เดือนมกราคม 2550 จำนวน 142 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบไปด้วยนมยูเอชที 45 ตัวอย่าง, นมพาสเตอร์ไรส์ 24 ตัวอย่าง, และนมผง 31 ตัวอย่าง พบว่ามี 109 ตัวอย่างในจำนวนดังกล่าวมีการปนเปื้อนสารเบนโซอิก (สารกันบูด) หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 76.8 เปอร์เซ็นต์
ล่าสุด มีข่าวว่าชาวจีนอย่างน้อย 70 รายในมณฑลกวางตุ้งของจีนล้มป่วยเพราะอาหารเป็นพิษ หลังจากบริโภคเครื่องในหมูปนเปื้อนสารเคมีต้องห้าม จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเครื่องในหมูที่ชาวบ้านซื้อมารับประทานนั้น มีสารกระตุ้นเนื้อแดง หรือ Clenbuterol ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทางการจีนห้ามนำไปใช้ผสมอาหารในสัตว์ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ได้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 3 ราย ที่เลี้ยงและจำหน่ายเนื้อหมูจากฟาร์มในมณฑลหูเป่ย