วอลสตรีท – รัฐบาลจีนเตรียมผ่าตัดใหญ่ปรับโครงสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของประเทศ วางแผนเสริมแกร่ง 3 บริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ของประเทศผ่านการควบรวมกิจการโรงงานถลุงเหล็กรายเล็กกว่า เพื่อแก้ปัญหาความสามารถในการผลิตล้นเกิน
ร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้าจีนระยะเวลา 3 ปีระบุ รัฐบาลเตรียมผลักดัน 3 ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ บริษัทเป่าสตีล กรุ๊ปของเซี่ยงไฮ้, อู่ฮั่น ไอรอน แอนด์ สตีล กรุ๊ป และอันซัน แอนด์ เปิ่นซี ไอรอน แอนด์ สตีล ที่ผ่านการบูรณาการจนเข้มแข็งขึ้น ให้กลายเป็นทัพหน้าของธุรกิจเหล็กในประเทศ
ตามที่คาดการณ์ไว้ ภายใน พ.ศ.2554 บริษัททั้ง 3 นี้จะมีความสามารถในการผลิตเหล็กโดยเฉลี่ยรายละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านตัน จากการควบรวมกิจการกับผู้ผลิตเหล็กรายเล็กกว่า โดยบริษัทเป่าสตีล ผู้ผลิตเหล็กที่มีปริมาณการผลิตราว 21.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากที่สุดในประเทศและเป็นอันดับ 5 ของโลก มีแผนควบรวมกิจการกับเปาโถว ไอรอน แอนด์ สตีล กรุ๊ปของมองโกเลียใน และหนิงปอ ไอรอน แอนด์ สตีล ซึ่งเป็นคู่แข่งที่เล็กกว่าจากมณฑลเจ้อเจียง
ขณะที่บริษัท อันซัน แอนด์ เปิ่นซี ซึ่งมีปริมาณการผลิตอยู่ที่ราว 20 ล้านตัน ก็เตรียมกลืนธุรกิจของบริษัทตงเป่ย สเปเชียล สตีล กรุ๊ป และพานจื้อหวา ไอรอน แอนด์ สตีล กรุ๊ป
และนอกจากจะสนับสนุน 3 บริษัทเหล็กข้างต้นแล้ว รัฐบาลยังวางแผนจัดตั้งบริษัทถลุงเหล็กรายใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะมีความสามารถการผลิตอยู่ระหว่าง 10-30 ล้านตันต่อปีด้วย
แผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเหล็กของจีนในครั้งนี้นั้น หลายฝ่ายมองว่า อาจสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่ตลาดเหล็กโลกไม่น้อย เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้ผลิต บริโภค และส่งออกเหล็กรายใหญ่สุดของโลก
ด้านจาง เสี่ยวกัง ประธานสมาคมแร่เหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศจีนเผยว่า คณะมุขมนตรี หรือรัฐบาลจีน ได้อนุมัติข้อเสนอปรับโครงสร้างธุรกิจเหล็กจีนเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีการประกาศรายละเอียดของแผนภายในเดือนมีนาคมนี้
นอกจากนี้ร่างแผนการณ์ยังระบุว่า จีนจะสนับสนุนและปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ โดยภายในไตรมาสแรกของปีนี้จะเริ่มมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กบางประเภทที่ในประเทศจีนเองก็มีการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป
และจะมีการนำกองทุนพิเศษของรัฐมาใช้เพื่อสนับสนุนบริษัทจีนให้ไปลงทุนทรัพยากรแร่ในต่างแดน โดยกองทุนพิเศษดังกล่าว ได้แก่ กองทุนพิเศษว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่างประเทศ และกองทุนความเสี่ยงค้นหาทรัพยากรเหมืองแร่ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 และรวมไปถึงกองทุนพิเศษเพื่อการลงทุนทรัพยากรแร่ต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามรายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุชัดเจนว่ากองทุนหลังนี้ตั้งขึ้นแล้วหรือไม่
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวข้างต้นนี้เกิดขึ้นหลังจากธุรกิจเหล็กในประเทศจีนเริ่มประสบปัญหา โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังชะลอตัว ความต้องการและราคาสินค้าเหล็กก็ลดต่ำลงอย่างมาก โดยในร่างแผนการณ์ฉบับนี้ คาดการณ์ว่าปี 2552 ปริมาณการผลิตเหล็กดิบของจีนจะลดลง 8% มาอยู่ที่ 460 ล้านตัน ปริมาณการบริโภคเหล็กภายในประเทศน่าจะลดลง 5% เหลือ 430 ล้านตันโดยประมาณ ขณะที่การส่งออกเหล็กทั้งทางตรงและทางอ้อมอาจลดลงกว่าครึ่ง
โดยเป้าหมายของการปรับโครงสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเหล็กนั้นคือการรับประกันปริมาณการผลิตเหล็กดิบในปี 2554 ให้อยู่ที่ระดับ 500 ล้านตัน และการบริโภคเหล็กให้อยู่ที่ราว 450 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2551 ซึ่งมีปริมาณการผลิต 500 ล้านตัน และปริมาณการบริโภคโดยรวม 453 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้วจีนมีความสามารถในการผลิตเหล็กดิบมากถึง 660 ล้านตัน ซึ่งบ่งชี้ถึงปัญหาความสามารถในการผลิตล้นเกินในอุตสาหกรรม ดังนั้นรัฐบาลจึงวางแผนลดความสามารถในการผลิตแร่เหล็กลง 72 ล้านตัน และความสามารถในการผลิตเหล็กลง 25 ล้านตันภายใน 3 ปีนี้